แค่ 10 นาทีนำฉลามขึ้นเรือ นักวิชาการระบุ อาจทำให้ถึงตายได้

โพสเมื่อ : Sunday, May 20th, 2018 : 11.52 am

นักวิชาการระบุ นำฉลามวาฬขึ้นเรือ เพียงแค่ 10 นาที อาจจะทำให้ถึงตายได้ เหตุเป็นสัตว์กระดูกอ่อน แบกรับน้ำหนักตัวเองไม่ได้ โดยจะเฉพาะการจับแขวน เชื่อส่งผลกระทบและทำให้บาดเจ็บภายในได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ สบทช.9 และ เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากได้ออกค้นหาฉลามวาฬต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ตายหรือยังมีชีวิต

วันนี้ ( 20 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ สบทช.9 พร้อม คณะ และ เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้ร่วมกันลงพื้นที่ เพื่อติด ค้นหาฉลามวาฬที่ถูกจับ/นำขึ้นเรือประมง แสงสมุทร 3  จนกระทั่งถูกกลุ่มเรือนักดำน้ำไปเจอ และได้ทิ้งลงทะเลบริเวณระหว่างเกาะโหลน เกาะเฮ และ เกาะบอน

โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้ออกทำการค้นหาหรือสำรวจคลอบคลุมที่ทั้งสิ้น 24 ตารางกิโลเมตร หรือเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันออกทางด้านเกาะพีพี ด้วยเรือ ทรัพยากร 603 ซึ่งเป็นเส้นทางที่นักวิชาการระบุว่าเป็นเป็นทางหากินของฉลามวาฬ

สำหรับการหาฉลามวาฬในครั้งนี้ จะมี 2 กรณี คือ 1. หากค้นพบเจอฉลามวาฬตัวดังกล่าว ยังมีชีวิตและได้รับบาดเจ็บจะรีบดำเนินการช่วยชีวิต และ รีบนำไปรักษาที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากให้หาย แล้ว ปล่อยกลับคืนสู่ทะเล และ 2. หากค้นเจอพบว่าเสียชีวิตแล้ว จะเร่งดำเนินการผ่าชันสูตรซากอย่างเร่งด่วน โดยทีมสัตวแพทย์และนักวิชาการประมง ของ ศวทม.เพื่อนำผลการการชันสูตรไปสนับสนุนใช้เป็นหลักฐานทางคดี ส่งให้พนักงานสอบสวนประกอบสำนวนในการดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้เป็นไปอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพต่อไป

ส่วนในกรณีที่ค้นไม่พบฉลามวาฬตัวดังกล่าว ทาง สบทช.๙ จะร่วมกับ ศวทม. ดำเนินการลงพื้นที่ทางทะเลค้นหาและเฝ้าระวังต่อไป อีกประมาณ 4 – 5 วันเพราะถ้าฉลามวาฬตายก็จะจมลงสู่ทะเล และลอยขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามแหล่งข่าวรายหนึ่งซึ่งเป็นนักวิชาการ กล่าวว่า จากการดูคลิป ยังไม่แน่ใจว่าฉลามตัวดังกล่าวท้องหรือไม่ สิ่งที่ตกลงมาพร้อมกับส่วนหางของฉลามอาจจะเป็นไปได้ทั้งในส่วนของลำไส้ หรือ ทุ่น เนื่องจากเห็นไม่ชัดเจน แต่ในมุมมองของคนที่อยู่ใกล้อาจจะเห็นชัดมากกว่า ซึ่งจุดนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอะไร

แต่การจับฉลามวาฬขึ้นมาจากทะเล และนำมาอยู่บนเรือโดยเฉพาะนำแขวนโยง แม้ว่าจะใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาที ก็จะส่งผลให้ฉลามตัวดังกล่าวได้รับบาดเจ็บได้ เพราะฉลามวาฬแม้จะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นสัตว์ที่มีกระดูกอ่อนไม่สามารถรับน้ำหนักของตัวเองได้ เมื่อมีการแขวนในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้ฉลามได้รับบาดเจ็บในระบบภายในไปจนถึงตับ มีเลือดออกภายใน จนมีการอาการอักเสบได้ แม้จะได้รับการปล่อยลงทะเลแล้วแต่การกระทำดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสได้

นอกจากนั้นจากการดูคลิป สังเกตเห็นว่าฉลามไม่มีการขยับ เมื่อมีการปล่อยลงน้ำก็ไม่มีการขยับแต่อย่างใด แต่กลับจมดิ่งลงทะเล ซึ่งจุดนี้น่าเป็นห่วง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะยังมีชีวิต หรือตายแล้ว แต่ถ้าดูจากคลิปคิดว่าโอกาสที่จะรอดมีไม่มาก เพราะการกระทำดังกล่าวอาจจะทำให้ฉลามวาฬได้รับบาดเจ็บ ถึงขั้นเสียชีวิตได้

สำหรับสถานการณ์ฉลามวาฬในประเทศไทยจากการสำรวจเมื่อปี 2560 จำนวน 308 ครั้ง พบฉลามวาฬจำนวน 95 ตัว โดยพบในฝั่งทะเลอ่าวไทยจำนวน 90 ตัว และพบในฝั่งทะเลอันดามัน 5 ตัว สำหรับในฝั่งอันดามันที่พบบ่อย ๆ ส่วนใหญ่จะพบที่ เกาะห้า เกาะห้อง เกาะพีพี จ.กระบี่  อ่าวพังงา กองหินริเชลิว หมู่เกาะสิมิลัน  จ.พังงา ส่วนที่จังหวัดภูเก็ต พบที่เกาะราชา เกาะเฮ เกาะดอกไม้