3 ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ.ภูเก็ต ขึ้นเวทีดีเบตโชว์วิสัยทัศน์

โพสเมื่อ : Monday, December 14th, 2020 : 11.28 am

3 ผู้สมัคร ขึ้นเวทีดีเบต โชว์วิสัยทัศน์ และ นโยบาย รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อพาภูเก็ตรอด ของผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โค้งสุดท้ายก่อนเลือก 20 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่สนามชัย (ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดภูเก็ต) อ.เมือง จ.ภูเก็ต บริษัทแอร์โรมีเดีย ร่วมกับพันธมิตรองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดให้มีเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) “โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง อบจ.เปิดนโยบายชิงใจชาวภูเก็ต” ซึ่ง มีผู้สมัครเข้าร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์ จำนวน 3 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 5 คน  ประกอบด้วย นายเรวัต อารีรอบ ทีมภูเก็ตหยัดได้ ผู้สมัครหมายเลข 2, นายทรงศักดิ์ สวนอักษร ทีมภูเก็ตปุ้นเต่ หมายเลข 4 และนายปัญญา ไกรทัศน์ ผู้สมัครหมายเลข 5  ส่วนผู้สมัครอีก 2 หมายเลขที่ไม่ได้เข้าร่วมเวที ได้แก่ นายจิรายุส ทรงยศ ผู้สมัครหมายเลข 1 กลุ่มคนบ้านเรา และนายสรวุฒิ ปาลิมาพันธ์ ผู้สมัครหมายเลข 3 คณะก้าวหน้าภูเก็ต ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้จัดว่าไม่สามารถเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ได้

 

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเริ่มเวทีดีเบต ปรากฏว่าได้มีฝนตกลงมา ทำให้ทางผู้จัดต้องขยับเวลาออกไป หลังจากนั้นก็ได้เริ่มเวทีอย่างเป็นทางการโดยมีผู้สนับสนุนมาให้กำลังใจผู้สมัครทั้ง 3 คน ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะๆ

ทั้งนี้ในส่วนของเวทีดีเบต ได้เริ่มจากทางพิธีกรได้แจ้งให้ผู้สมัครทั้ง 3 ราย ทราบถึงกฎกติกาต่างๆ และให้ผู้สมัครทั้ง 3 คน จับสลากหมายเลขลำดับในการพูดแนะนำตัว  พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ และ ชี้แจงนโยบาย หากได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ภูเก็ต จากนั้นให้ผู้ร่วมดีเบตเลือกประเด็นที่จะต้องพูดด้วยการจับฉลาก ต่อด้วยคำถามจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม และปิดท้ายด้วยการให้แต่ละคนสรุปว่า ทำไมต้องเลือกเขาเป็นนายก อบจ.ภูเก็ต ซึ่งต่างเน้นย้ำให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิในวันที่ 20 ธันวาคมนี้

“เรวัต อารีรอบ” พร้อมนำประสบการณ์ คอนเน็คชั้นพาภูเก็ตรอด สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่

เริ่มจากนายเรวัต อารีรอบ ผู้สมัครหมายเลข 3 ได้กล่าวถึงเหตุผลของการลงสมัคร ว่า ที่ผ่านมาในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ภูเก็ต ได้มีการผลักดันงบประมาณในการจัดทำโครงการต่างๆ ให้กับจังหวัดภูเก็ตมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาทางด้านการศึกษา เป็น และหลังจากที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในสมัยที่ผ่านมาก็ได้เข้าไปส่วนทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้ลงพื้นที่และพบเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก

 จึงตัดสินใจที่จะลงสมัคร นายก อบจ. เพื่อที่จะได้นำประสบการณ์และความรู้ต่างๆ รวมถึงสายสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยใช้กลไกของ อบจ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และอื่นๆ ด้วยการวางแผนการทำงานแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว เป็นนโยบายที่สามารถที่สามารถทำได้และทำทันที

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก อย่ามองแค่ความเป็นเพื่อนเป็นญาติหรือพี่น้อง แต่ภูเก็ตต้องเลือกคนดีและที่สำคัญต้องมีประสบการณ์ที่จะนำภูเก็ตภูเก็ตรอด จะต้องมองถึงอนาคตว่า จะเป็นอย่างไร ซึ่งตนพร้อมที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ ในการนำพี่น้องชาวภูเก็ตให้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ นอกจากนั้นสิ่งที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในภูเก็ตคือการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสะพานกระจก หอไข่มุก สวนพฤกษชาติ และ อื่นๆ

“ปัญญา ไกรทัศน์” จะพาภูเก็ตรอด เร่งแก้ปัญหาหนี้สินจากผลกระทบโควิด

ขณะที่ นายปัญญา ไกรทัศน์ ผู้สมัครหมายเลข 5 กล่าวชี้แจงว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงพื้นที่และได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต-19 ซึ่งเป็นปัญหาค่อนข้างหนักมาก และถือเป็นหายะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จึงตัดสินใจมาลงสมัคร โดยมีเป้าหมายในการนำพาจังหวัดภูเก็ตให้รอดพ้นจากวิกฤตไปให้ได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สินของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ  การจัดกิจกรรมส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว การสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ยืนยันว่าด้วยประสบการณ์ที่จะสามารถนำพาภูเก็ตให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ นอกจากนั้นจะผลักดันให้ศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้าเกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตให้ได้

“ทรงศักดื สวนอักษร” เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นทุกภาคแปรงเป็นนโยบายปฏบัติ

 ด้านนายทรงศักดิ์ สวนอักษร ผู้สมัครหมายเลข 4 กล่าวว่า  ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากันในการที่จะเลือกใครก็ได้ ในส่วนของตนได้วางแนวทางในการพัฒนา ว่าจะต้องเป็นนโยบายที่มาจากทุกคน เป็นการดึงแนวคิดจากรากไปสู่ยอด เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งจะเริ่มต้นจากโรงเรียนในสังกัดของ อบจ. ก่อนจะขยายไปยังที่อื่นๆ พัฒนาโรงพยาบาล อบจ.ให้มีศักยภาพให้มากกว่าที่เป็นอยู่

และการออกแบบเมืองให้มีความเหมาะสม สิ่งสำคัญคือ การให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนในการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การจราจร การใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นทางจาก สถานีขนส่งใหม่- วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งแนวคิดมาจากทุกคน ถอดบทเรียนที่ผ่านมา และสู้ไปด้วยกันเพื่อทำให้ภูเก็ตรอด ขณะที่เรื่องของศูนย์ประชุมนานาชาติจะผลักดันให้เกิดขึ้น