เอกชนเตรียมทุ่มงบ 300 ล้าน ผุดอู่ต่อเรือที่ภูเก็ต ชาวบ้านฮือค้านทำให้เกิดผลกระทบทุกด้าน

โพสเมื่อ : Friday, July 10th, 2020 : 1.51 pm

เอกชนเตรียมทุมงบ 300 ล้านบาท สร้างอู่ต่อเรือ/ซ่อมเรือ บนพื้นที่ 66 ไร่ บริเวณองค์การสะพานปลา จ.ภูเก็ต ชาวบ้าน –ชาวประมง รุกยื่นหนังสือขอให้ยุติโครงการ ระบุส่งผลกระทบโดยภาพรวม ทำลายป่าชายเลน

  

วันนี้ ( 10 ก.ค.) ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต นายสมยศ วงศ์บุณยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต พร้อมด้วยชาวประมงพาณิชย์ และชาวบ้านในพื้นที่ ต. รัษฏา หมู่ 1 หมู่ 4 และ หมู่ 7 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือคัดค้านการ ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัทมาร์ซัน จำกัด (มหาชน)  หลังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ได้ติดประกาศ ลงวันที่ 24 มิ.ย 63 ณ บริเวณท่าเทียบเรือประมง เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน  และ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตจะพิจารณา คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัทมารีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ ณ ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต หมู่ 1 ถนนศรีสุทัศน์ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อประกอบกิจการต่อและซ่อมแซมเรือ โดยขอให้แจ้งได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 โดยมีนายพิทักษ์ บุญคงแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ รวมรับหนังสือ และรับฟังข้อคัดค้านจากชาวประมง และชาวบ้านที่มายื่นหนังสือคัดค้านในครั้งนี้

นายสมยศ วงศ์บุณยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต กล่าวว่า กล่าวถึงการมายื่นหนังสือคัดการโครงการอู่ต่อเรือ/อู่ซ่อมเรือ ของบริษัท มาร์ซัน จำกัด  (มหาชน) ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากทางชาวประมงและชาวบ้านทราบจากประกาศของสำนักงานอุตสาหกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกรณีการขออนุญาตปรกอบกอบการจากสำนักงานอุคสาหกรรม ซึ่งครบกำหนดวันนี้ ( 10 ก.ค.) จึงเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อคัดค้านอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นกับทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว แต่โครงการก็ยังเดินหน้าต่อ จึงได้เดินทางมายื่นหนังสืออีกครั้ง

สำหรับชาวประมง ชาวบ้าน ผู้ประกอบธุรกิจประมง มองว่า โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบในภาพรวม ต่อชุมชน ชาวบ้าน และประเทศชาติ รวมทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ  โดยพื้นที่ดำเนินโครงการทางองค์การสะพานปลา อนุญาตให้บริษัท มาร์ซัน จำกัด ( มหาชน)  ซึ่งดำเนินกิจการอุตสาหกรรมต่อเรือ ใช้เพื่อกิจการต่อเรือ ซ่อมเรือ อยู่ไม่ห่างจากท่าเทียบเรือ ประมง สถานที่ขนถ่ายสัตว์น้ำ อาคารพาณิชย์สำนักงาน บ้านที่อยู่อาศัย โรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ประกอบกับพื้นที่ในโซนท่าเทียบเรือเป็นพื้นที่โซนสีเขียว จึงไม่เหมาะที่จะมีการดำเนินโครงการดังกล่าว

กิจกรรมต่อเรือ และซ่อมแซมเรือเหล็ก จะเกิดมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีทั้งฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อคน และลงไปสัมผัสกับสัตว์น้ำ ทำให้เกิดการปนเปื้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนสัตว์น้ำที่อยู่ในทะเลก็ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพราะเศษฝุ่นเหล่านี้จะกระจายไปกับน้ำที่ไหลลงทะเลด้วย ทำให้มีมลพิษตกค้างคนที่จับสัตว์ทะเลบริภคก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหาสารเคมีตกค้างไปด้วย นอกจากนั้นป่าชายเลนที่กระจายอยู่ในพื้นที่โครงการก็จะถูกตัดทำลายเพื่อเอาพื้นที่มาสร้างเป็นอู่ต่อเรือ ซึ่งมองว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านชาวประมงช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้เพื่อปกป้องชีวิต และเป็นสถานที่มนการทำมาหากิน

ทางชาวบ้าน ชาวประมง จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะกิจการการต่อเรือเหล็กควรที่จะไปอยู่ในเขตอุตสาหกรรม ไม่ใช่มาอยู่ที่ภูเก็ต และบริเวณที่จะก่อสร้างเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อการบริโภค ไม่ควรอย่างยิ่งที่อู่ต่อเรือจะมาอยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีความขัดแย้งกันตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและชายฝั่งอนุญาตให้องค์การสะพานปลาใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พรบ.จัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ.2496 และภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ ไม่ใช่อนุญาตให้ดำเนินกิจการสร้างอู่ต่อเรือ

สำหรับอู่ต่อเรือดังกล่าวจะดำเนินการบนพื้นที่ 66 ไร่ มองว่าผลกระทบไม่ได้ตกอยู่เฉพาะคนในพื้นที่ แต่มองว่าส่งผลกระทบไปถึงระดับประเทศด้วย ถ้าหากมีการตรวจพบว่ามีสารพิษตกค้างในปลาที่มีการขนถ่ายแล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาชาวประมงมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ถ้ามีการสร้างอู่ต่อเรือขึ้นมา เรื่องของสารตกค้างคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วง

สำหรับการมาเรียกร้องในครั้งนี้ต้องการให้ทางบริษัทยกเลิกโครงการออกไปเลย เพราะคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยและไม่อยากให้มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการมารับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน มีเพียงที่ส่งคนไปถามบางคนเท่านั้น แต่ยังไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งในส่วนของชาวบ้านยืนยันว่าเดินหน้าคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เห็นควรให้ไปสร้างที่อื่นที่ไม่ใช่ภูเก็ต เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี

ขณะที่นายพิทักษ์ บุญคงแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอที่ทางบริษัทยื่นเพื่อขออนุญาตการจัดตั้งโรงงานมายังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทางสำนักงานก็ได้ทำประกาศเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เป็นระยะเวลา 15 วัน ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการปิดประกาศ ทางชาวประมง และชาวบ้านได้มายื่นหนังสือคัดคาดและไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงานก็รับเรื่องไว้และดำเนินการแจ้งไปยังจังหวัด และทางบริษัทให้ทราบว่า โครงการดังกล่าวมีการคัดค้าน ส่วนทางบริษัทจะดำเนินการต่ออย่างไรตนก็ไม่ทราบ แต่ในส่วนของสำนักงานอุตสาหกรรมก็ได้รับเรื่องการคัดค้านไว้แล้ว ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ส่วนการขออนุญาตก่อสร้างทางบริษัทยังไม่ได้มีการยื่นหนังสือเข้ามาแต่อย่างใด

สำหรับโครงการอู่ต่อเรือ/อู่ซ่อมเรือ ของบริษัทมาร์ซัน จำกัด (มหาชน) พื้นที่โครงการตั้งอยู่ภายในโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ซึ่งทางบริษัทเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้พัฒนาโครงการในที่ดินบริเวณดังกล่าว พื้นที่มาจากองค์การสะพานปลา จำนวนพื้นที่ในการดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 66 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต  เพื่อรองรับการต่อเรือและซ่อมเรือประมง เรือสำราญ เรือยอช์ท รวมถึงมีสิ่งอำนวนความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการอย่างครบครัน ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 300 ล้านบาท มีเปล่าหมายในการต่อเรือต่าง ๆ เดือนละประมาณ 10 ลำ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นและเตรียมยื่นขออนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเทศบาลตำบลรัษฎา