เสริมศักยภาพคนทำงานรัฐจับมือ โบ๊ทลากูน จำกัด อบรม “พนักงานดูแลเรือประจำเรือท่องเที่ยว”

โพสเมื่อ : Wednesday, June 12th, 2019 : 6.45 pm

เดินหน้าพัฒนาศักยภาพคนทำงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต ร่วมกับ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต และบริษัท โบ๊ทลากูน จำกัด จัดฝึกอบรม “พนักงานดูแลเรือประจำเรือท่องเที่ยว”

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (12มิ.ย.) ที่ห้องประชุมโบ๊ทพ้อยท์ โรงแรมโบ๊ทลากูน อ.เมืองภูเก็ต ว่าที่ร้อยตรีวิกรม จากที่ นายอำเภอเมืองภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม “พนักงานดูแลเรือประจำเรือท่องเที่ยว” ระหว่างวันที่ 12-14 มิ.ย.62 โดยมี นางสาวเขมจุฑา สุวรรณจินดา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต นายปรีชา แก้วเกื้อ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต นายวิวัธน์ ชิดเชิดวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต นายบุญเจริญ ตราชู กรรมการผู้จัดการบริษัท ภูเก็ตโบ๊ท ลากูน จำกัด และ นายบุญ ยงสกุล รองกรรมการผู้จัดการฯ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน พนักงานดูแลเรือ เข้าร่วม

นายปรีชา แก้วเกื้อ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต กล่าวถึงการฝึกอบรมในครั้งนี้ ว่า เกิดจากที่สถาบันฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต ร่วมกับ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต และบริษัท โบ๊ทลากูน จำกัด เห็นว่า นโยบายประเทศไทย 4.0 นั้น เป็นความมุ่งเน้นของนายกรัฐมนตรีที่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คือ พัฒนาผลิตภาพแรงงาน สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมี อุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่ม S-CUVE 5 กลุ่ม NEW S-CUVE 5 กลุ่ม และ 1 ใน 10 คือ ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งสอดคล้องกับภูมิภาคนี้ ซึ่งรายได้หลัก 1 ใน 3 ของภูมิภาคนี้เกิดมาจากการท่องเที่ยว

ดังนั้น สถาบันฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต จึงดำเนินการฝึกอบรม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้าใจถึงการปฎิบัติงานบนเรือได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีทักษะฝีมือและความชำนาญในการดูแลรักษาเรือท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการเดินเรือ และเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ และการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุขณะอยู่บนเรือ

สำหรับการฝึกอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มิ.ย.62 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 42 คน โดยได้รับเกียรติจาก อ.วัชราพร กุลสิริอิทธิกร บรรยายห้อข้อ บุคลิกภาพของผู้ปฏิบัติงานบนเรือ นายวิสุทธิ์ ครุฑใหญ่ บรรยายหัวข้อ หลักการเดินเรือเบื้องต้น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์ต่างๆ สำนักงานเจ้าท่าสาขาภูเก็ต กฎหมายการเดินเรือในทะเล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต บรรยายหัวข้อ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยเหลือชีวิต

ด้าน ว่าที่ร้อยตรีวิกรม จากที่ นายอำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สนับสนุนการท่องเที่ยวได้นำรายได้รายเข้าประเทศอย่างมหาศาล จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดทางฝั่งอันดามันรายได้หลักก็คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมและการวางแผนการพัฒนาศักยภาพในธุรกิจมีความจำเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าจังหวัดภูเก็ตรายได้หลักเกิดจากการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวประมาณ 13 ล้านคนเศษ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2557 ร้อยละ 10.41 โดยการจัดฝึกอบบรมดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และเป็นการวางแผนในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคตอีกด้วย

ขณะที่ นายวิวัธน์ ชิดเชิดวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต กล่าวถึงมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งในส่วนของกรมเจ้าท่าจะเน้นใน 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก คือเรื่องท่าเรือปลอดภัย ปัจจัยที่ 2 เรือปลอดภัย และปัจจัยที่ 3 เรื่องของคนที่ขับขี่เรือหรือว่าผู้ทำการในเรือ ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ทำการในเรือ  โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาเรือ จึงได้มีความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  และ บริษัท โบ๊ทลากูน จำกัด ในการจัดฝึกอบรมพนักงานดูแลเรือประจำเรือท่องเที่ยว  ทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาบุคลากร ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการยกระดับมาตรฐานของคนขับขี่เรือได้  ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็จะเน้นในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการเดินเรือทั้งหมด แล้วก็จิตสำนึกในการที่จะทำงาน  โดยเฉพาะทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรือ และเกี่ยวข้องกับเรื่องของเรือโดยสาร ความรับผิดชอบ แล้วก็จิตสำนึกเรื่องของมาตรการความปลอดภัยทางน้ำโดยเฉพาะ

“มาตรการรักษาความปลอดภัยทางเรือ ของกรมเจ้าท่า เรายังคงดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของทางจังหวัด คือมาตรฐานของท่าเรือ 24 ท่าเรือหลักที่เป็นจุดเช็คพอยท์ เราก็ยังดำเนินการในการตรวจเช็คความปลอดภัย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้โดยสารที่เข้ามาเทียบท่า และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรือที่จะเข้ามาเทียบท่า เราก็ยังดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับหลักการที่เราให้ไว้ ก็จะสั่งให้ไปแก้ไข  โดยเฉพาะเรือ ช่วงนี้เป็นช่วงหน้ามรสุม เจ้าหน้าที่ก็พยายามที่จะตรวจเรือให้มีมาตรฐานความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อชูชีพและอุปกรณ์ช่วยเหลือ ช่วยชีวิตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการที่จะตรวจสอบความพร้อมและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะให้เรือออกจากฝั่ง หากพบว่ายังมีข้อบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐาน เราก็จะสั่งให้เรือลำนั้นปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะออกมาให้บริการและรับส่งผู้โดยสาร” นายวิวัธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวิวัธน์ ยังได้กล่าวถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว จากกรณีเกิดเหตุการณ์เรือฟินิกซ์ล่ม ซึ่งจะครบรอบ 1 ปีของการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในเดือน ก.ค.นี้ ว่า ความเชื่อมั่นเริ่มที่จะกลับมามากพอสมควร มีการสอบถามเข้ามาเรื่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ มีทั้งสถานทูตที่เกี่ยวข้อง สถานทูตแต่ละประเทศก็มีการสอบถามเข้ามาเพื่อที่จะรีเช็คเรื่องความเชื่อมั่น และมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ที่เราวางไว้ ความเชื่อมั่นก็เริ่มกลับมาสู่ในระดับที่เป็นปกติ