“เรื่องเที่ยว เรื่องกิน”

โพสเมื่อ : Saturday, July 2nd, 2016 : 5.11 pm

“เรื่องเที่ยว เรื่องกิน”

ชุด “เรื่องเที่ยว เรื่องกิน ถิ่นเวียดนาม” – ตอนที่ 1 ตะวันรุ่งที่ ลาง โค –

12291695_963190007060195_1645166125114489554_o

โดย ภูริต มาศวงศ์ศา

 

เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้รับเชิญจากสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ให้ร่วมเดินทางไปกับคณะกลุ่มใหญ่ เพื่อเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดดานัง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศเวียดนาม และเป็นเมืองท่าสำคัญของเวียดนามกลางตอนใต้ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลจีนใต้ จัดเป็น 1 ใน 5 เขตการปกครองส่วนท้องถิ่นในเวียดนาม และเมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามได้ทุ่มงบประมาณมาพัฒนาเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต เมืองดานัง มีสถานะเป็นเทศบาลนครและเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษ ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งใจที่จะสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนานาชาติระดับ 5 ดาว โดยรวมเอาเมืองใกล้ๆเข้ามาเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ เมืองเว้ เมืองลังโก เมืองฮอยอัน ซึ่งแต่ละเมืองมีความสวยงามตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเมือง “เว้” ที่เป็นเมืองมรดกโลกที่มีอายุเก่าแก่กว่าพันปีและมีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาให้เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยวอย่างผสมผสานกลมกลืนเป็นอย่างดี

 

สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ ผมเริ่มต้นที่การเดินทางจากภูเก็ต ในเช้าวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 คณะจากภูเก็ตมีอยู่ด้วยกัน 3 คน คือ คุณสถิรพงศ์ ณ ตะกั่วทุ่ง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, คุณมงคล บุญพร กรรมการฝ่ายต่างประเทศของสมาคมฯ และตัวผม เราต้องตื่นกันตั้งแต่ตีห้าเพื่อเตรียมตัวเดินทาง เพื่อโดยสารเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์สเที่ยวบินแรกจากจังหวัดภูเก็ต เวลา 07.00 น. เพื่อไปต่อเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส นำคณะของเราไปยังห้องรับรองชั้น Premium Blue Ribbon Lounge ซึ่งมีความสะดวกสบายมาก มีอาหารร้อนไว้บริการพร้อมเครื่องดื่มร้อนและเย็น ข้าวต้มบะกุดเต๋ร้อนๆอร่อยมากครับ ตบท้ายด้วยกาแฟสดหอมกรุ่น ทำเอาผมถึงกับผึ่งพุงเอนหลังพิงเบาะตาจะปิดเอาเลยทีเดียว และก็ไม่เฉพาะผม นายกเต๋อกับลุงแดง ก็ดำเนินรอยตามกันไปหมด พวกเราประทับใจกับการให้บริการของ Premium Blue Ribbon Lounge ที่นี่มากครับ จากนั้นไม่นานนัก คณะจากเกาะสมุย นำโดย คุณเสนีย์ ภูวเศรษฐาวร นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย และ คุณวรสิทธิ์ ผ่องคำพันธ์ เลขานุการสมาคมฯ ก็ตามมาสมทบ พร้อมกับ คุณวัฒน เริงสมุทร นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่, คุณทินกร ทองเผ้า นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี และอีกหลายท่านจากเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร หลังจากทักทายกันพอสมควร ก็ได้เวลาเดินทางของเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เที่ยวบินที่ PG 947 เส้นทาง กรุงเทพฯ – ดานัง ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น โดยมีหัวหน้าคณะคือ กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และผู้อำนวยการเดินทาง คุณวรงค์ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการใหญ่ส่วนขาย พร้อมด้วยทีมงานในส่วนขายและการตลาด ประกอบด้วย คุณคมกฤช งามวงศ์วิโรจน์ ผู้อำนวยการส่วนขายภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คุณต่อตระกูล สมากุล ผู้อำนวยการส่วนขายประจำประเทศไทย และผู้จัดการขายเขตพื้นที่ กทม. คุณทรรศวรรณ เติมพรเลิศ, ผู้จัดการขายเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณพัชรี คุ้มเมธา พร้อมทีมงานอีกหลายคน พวกเราทุกคน ขอขอบคุณสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไว้ ณ โอกาสนี้ ด้วยครับ

9e89716e-be3a-4527-a257-b6efd0214e6e

เครื่องออกตรงตามเวลา 11.00 น. จากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ การเดินทางเรียบร้อย อากาศปลอดโปร่ง การดูแลและให้บริการบนเครื่องก็ยอดเยี่ยม เสิร์ฟอาหารร้อนเป็นแกงฮังเลไก่กับข้าวสวยร้อนๆ มีส้มตำเป็นเครื่องเคียงพร้อมไวน์แดงรสนุ่มลิ้น คณะเราดื่มกันพอสมควรเลยครับ จนเวลา 12.35 น. เครื่องเดินทางถึงสนามบินนานาชาติดานัง ระหว่างที่เครื่องกำลังแท็กซี่เข้าเทียบตัวอาคาร ก็มีการต้อนรับของท่าอากาศยานนานาชาติดานังด้วยการใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำต้อนรับ ซึ่งลุงแดงบอกว่าเค้าทำความสะอาดเครื่องบินก่อนให้เทียบท่าอากาศยาน จริงๆแล้วเค้าเรียกกว่า Water Salute คือการฉีดน้ำสองข้างสายขวา เพื่อเป็นเกียรติแก่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ หรือ การเกษียณของกัปตันในเที่ยวบินที่บินเป็นเที่ยวสุดท้ายนั่นเอง

9e2b6f63-2d1a-45cf-a1b8-3c0ec2adef2b

(ข้อมูลภาพจาก : http://www.oknation.net/blog/akom)

Water Salute สำหรับการต้อนรับเพื่อเป็นเกียรติแก่เที่ยวบินหรือนักบิน มีลักษณะเหมือนกับที่เห็นในภาพ คือ การฉีดน้ำพ่นเป็นสะพานโค้งให้เครื่องบินลอดผ่านไป (ขอขอบคุณภาพจาก คุณอาคม/okanation/blog)

 

เมื่อลงจากเครื่องก็ได้พบกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติดานังและเจ้าหน้าที่จากการท่องเที่ยวของเมืองดานัง มารอให้การต้อนรับและมอบช่อดอกไม้อย่างอบอุ่น ตรงนี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวของบันทึกการเดินทาง “เที่ยวไปกินไป” ในครั้งนี้ เมื่อทุกคนพบกับเจ้าหน้าที่ประสานงานของ Central Vietnam Tourism Development ซึ่งเธอมีชื่อว่า Ms. Chi Nguyen ไว้ผมจะเล่าเรื่องราวของเธอกับผู้คนในคณะให้ได้ทราบกันในตอนหน้านะครับ ว่ามันเป็นเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาตลกปนฮาแบบขำกลิ้งกันอย่างไร

 

เมื่อผ่านพิธีการตรวจคนเช้าเมืองเรียบร้อย ด้วยการแสดงพาสปอร์ตเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องกรอกข้อความใดๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นความสะดวกอย่างหนึ่งในระบบของการท่องเที่ยว เพราะมีผู้โดยสารจากสายการบินอื่นๆ ลงมาพร้อมกับคณะของพวกเราเป็นจำนวนมากพอสมควร แต่ก็ไม่ได้ทำให้ล่าช้าแต่อย่างใด แล้วเราก็มารอรับกระเป๋า แล้วก็มีเรื่องสนุกๆเกิดขึ้นบนความประทับใจแรกเยือนเมืองดานัง เพราะพวกที่ติด Tag VIP Premium ห้าหกรายหากระเป๋ากันไม่เจอ รอกันอยู่จนกระเป๋าหมดสายพานก็ไม่มี ทำให้เจ้าหน้าที่ของบางกอกแอร์เวย์ส ต้องไล่ตรวจสอบกันอุตลุดไปหมด ปรากฏว่า ด้วยความปรารถนาดีของพนักงานขนกระเป๋าที่สนามบิน พอเห็น Tag VIP Premium เธอก็ขนรวมกับของคณะ VIP จริงๆออกไปก่อนหมดเลยทำให้หาไม่เจอ จนคณะออกมารอข้างนอกกันหมดแล้ว กรนะเป๋าที่เหลือจึงถูกขนกลับไปข้างในอีกรอบหนึ่ง ซึ่งก็ต้องไปตามหากันจนเจอ กว่าจะออกมาได้ครบก็เลยทำให้เสียเวลาไปพอสมควร

 

จากนั้น เราก็จัดขบวนขึ้นรถบัสที่มารอรับ โดยทุกคนเดินมาเป็นแนวเป็นแถวเดียวกันพร้อมลากกระเป๋ามาที่รถทางด้านซ้าย แต่ผิดคาด เพราะทุกคนลืมไปว่าที่ประเทศเวียดนามเค้าขับชิดขวา ประตูขึ้นและที่เก็บกระเป๋าจึงอยู่ทางด้านขวา ก็เลยต้องเวียนรอบรถไปหัวเราะกันไปสนุกสนานไปอีกแบบ ทั้งๆที่แต่ละคนก็เดินทางรอบโลกกันมาหลายรอบแล้ว รถบัสสำหรับการท่องเที่ยวที่นี่ดูสะอาดและนั่งสบายทีเดียว ที่สำคัญการขับรถของพนักงานขับรถใจเย็นมากทีเดียว แต่ก็มีบีบแตรกันพอสมควรแก่สถานการณ์เหมือนกัน ไก๊ด์หนุ่มของเราในทริปนี้ชื่อ “น้องแคน” เป็นชาวดานัง จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีด้านการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม พูดไทยอ่านออกเขียนได้คล่องพอๆกับพูดภาษาเวียดนามเลยทีเดียว น้องแคนเอ่ยคำสวัสดีเป็นภาษาเวียดนามกับคณะด้วยคำว่า Xin Chao แปลว่า สวัสดี ซึ่งเป็นภาษาเวียดนามคำแรกที่พวกเราได้เรียนรู้กัน หลังจากนั้น หนุ่มแคน ก็เล่าความเป็นมาทางภูมิศาสตร์ผสมประวัติศาสตร์ให้เราได้รับฟังกัน พอสรุปได้ว่า เมืองดานัง มีพื้นที่ทั้งหมด 1,256 ตารางกิโลเมตร อยู่ตรงกลางของประเทศเวียดนาม ทิศตะวันออกติดกับทะเลจีนใต้ ทิศเหนือติดกับเมืองเว้ และทิศตะวันตกและทิศใต้ติดกับจังหวัดกว่างนาม มีประชากรทั้งสิ้น 978,300 คน ในอดีต ดานัง จัดว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เจริญและเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมอยู่มากพอสมควร สินค้าเศรษฐกิจ ได้แก่ เครื่องเรือนไม้ เครื่องหวาย หินอ่อนแกะสลัก เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องนุ่งห่มและอาหารทะเล ในปัจจุบัน รัฐบาลเวียดนามหันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวจากอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และรัสเซีย เป็นกลุ่มตลาดหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังเมืองดานัง

 

ในอดีต เวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศจีนมากว่าพันปี ทำให้ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมประเพณี แนวคิดแบบขงจื้อ แนวคิดทางการปกครองและรูปแบบภาษา เป็นแบบจีนโดยตรง  อาณาจักรแรกของชาวเวียดนาม คืออาณาจักร นามเวียด (อาณาจักรทางตอนเหนือ) เป็นเป็นเมืองขึ้นของจีนมานาน ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่เดี่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนเป็นส่วนใหญ่ แม้ต่อมาอาณาจักรนามเวียดจะเป็นอิสระแต่ก็ยังคงส่งเครื่องบรรณาการส่งให้จีน (จีนถือว่านามเวียดเป็นเมืองประเทศราช) ส่วนทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศเวียดนามในอดีตเป็นที่ตั้งของอาราจักรจามปา (พวกจาม ซึ่งปัจจุบันเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม) ช่วงที่เป็นเอกราชจากจีน (ค.ศ. 938-1009) ช่วงนี้เป็นช่วงต้นราชวงศ์ถังซึ่งภายในจีนมีความวุ่นวายภายใน เวียดนามก็สถาปนาราชวงศ์เล (Le Dynasty) ขึ้นมาปกครอง โดยถือว่าเป็นช่วงยุคทองของประวัติศาสตร์เวียดนาม (ค.ศ. 1010 -1527) เมื่ออาณาจักรนามเวียดทางตอนเหนือสามารถยึดอาณาจักรของพวกจามได้สำเร็จ ทำให้อาณาจักรกว้างขวาง โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์เล เป็นช่วงที่มีการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญมากมายมีการส่งเสริมพุทธศาสนากับลัทธิขงจื้อกับลัทธิเต๋าด้วยและได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ กรุงฮานอย

 

ยุคสมัยต่อมา (ค.ศ. 1528-1802) อาณาจักรที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เหนือ-ใต้ เมื่อราชวงส์เลเสื่อมอำนาจ ก็ทำให้อาณาจักถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ตอนเหนือ      แคว้นตังเกี่ย – ศูนย์กลางที่กรุงฮานอย – มีตระกูลแม็ค ปกครอง ตอนกลาง      แคว้นอันนัม – ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเตย์โด – มีตระกูลตรินห์ ปกครอง ตอนใต้         แคว้นโคชินไชนา – มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเว้ – มีตระกูล เหงียน ปกครอง

 

ต่อมาตระกูลตรินห์ ยึดแคว้นตั๋งเกี๋ยได้ จึงทำให้เหลือ 2 แคว้น และเจ้าชายเหงียนอันห์ แห่งราชวงศ์เหงียน ได้ทำการรวมประเทศ เป็นประเทศเวียดนาม (ค.ศ.1802) จึงเรียกชื่อประเทศว่า “เวียดนาม” โดยความช่วยเหลือจากไทย (สมัย ร.1) และฝรั่งเศส และสถาปนาราชวงศ์ยาลอง เป็นจักรพรรดิยาลอง จักรพรรดิยาลอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศสมาก และฝรั่งเศสได้เข้ามาช่วยเหลือในการรวมประเทศผลสุดท้ายฝรั่งเศสก็เข้ามาแทรกแซงภายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ราชวงศ์เหงียน (เหวียน) เป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม นับตั้งแต่กษัตริย์ยาลอง จนถึง กษัตริย์องค์สุดท้าย คือ เบ๋าได่ (Bao Dai) รวม 143 ปี (ปี ค.ศ. 1945 เป็นปีที่สิ้นสุดระบบกษัตริย์ของเวียดนาม)

 

3319635c-103d-418a-a914-67bf318e712b

จักรพรรดิเบ๋าได๋ กษัตริย์องค์ที่ 13 และ เป็นองค์สุดท้ายของประเทศเวียดนาม

(ข้อมูลภาพจาก : http://www.oknation.net/blog/akom/)

 

ในช่วงที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2 ฟากเอเชีย) ญี่ปุ่นได้ยกกำลังเข้ายึดอินโดจีนของฝรั่งเศส และได้ประกาศยกเลิกอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสใน ปี พ.ศ.2483 (ค.ศ.1940) พร้อมกับได้มอบหมายให้จักรพรรดิเบ๋าได๋ของเวียดนาม ประกาศอิสรภาพ และจัดตั้งรัฐบาลเวียดนามขึ้นปกครองประเทศ แต่ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะยึดอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ในเวียดนามได้มีขบวนการต่อต้านฝรั่งเศส ที่สำคัญอยู่ขบวนหนึ่งเรียกว่า สันนิบาตเพื่อเอกราชเวียดนาม หรือ เวียดมินห์ (Viet Minh) โดยมีผู้ก่อตั้งขบวนการนี้คือ โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) ขบวนการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะแยกสลายศัตรู และรวมพลังต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อที่จะพิทักษ์รักษาประเทศชาติ และปลดปล่อยประชาชน ฐานที่มั่นของขบวนการนี้อยู่ที่เวียดบัค (Viet Bac) และขบวนการดังกล่าว ได้กลายมาเป็นกองทัพประชาชนของเวียดนามในเวลาต่อมา ในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นยึดครองเวียดนาม ครั้นสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น จีนและสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความช่วยเหลือขบวนการนี้ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้โฮจิมินห์สามารถก่อตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ที่มีประสิทธิภาพขึ้นทั่วประเทศ

 

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง (สงครามโลกครั้งที่ 2) ในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม จักรพรรดิเบ๋าได๋ได้สละราชสมบัติ และมอบอำนาจการบริหารให้แก่ฝ่ายเวียดมินห์ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีอังกฤษเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามามีอำนาจในเวียดนามอีก โฮจิมินห์ จึงได้ประกาศทำการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างเปิดเผย โดยได้ประกาศอิสรภาพและสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยตังเกี๋ย อันนัม และโคชินไชน่าขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2488 โดยมีกรุงฮานอยเป็นเมืองหลวง และโฮจิมินห์ เป็นประธานาธิบดี

 

ฝรั่งเศสได้ให้การรับรองสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามดังกล่าวในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์อินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งขัดแย้งกับเจตจำนงของพวก เวียดมินห์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ฝรั่งเศสได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเสรีแห่งเวียดนามใต้ขึ้น โดยมีจักรพรรดิเบ๋าได๋เป็นประมุข (เป็นหุ่นเชิดของฝรั่งเศส) และมี โงดินห์เดียม (Ngo Dinh Diem) เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีการสู้รบระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มมาแต่ปลายปี พ.ศ. 2489 เป็นไปอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น ในที่สุดฝรั่งเศสก็ตกเป็นฝ่ายปราชัยแก่ฝ่ายเวียดมินห์ ในสงครามที่ เดียนเบียนฟู (Dien Bien Pho) เมื่อปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ฝรั่งเศสได้ลงนามในข้อตกลงเจนีวา (Geneva Agreement) กับฝ่ายเวียดมินห์ในปีเดียวกัน โดยฝรั่งเศสยอมเคารพต่อความเป็นเอกราชอธิปไตย เอกภาพและบูรณภาพของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ข้อตกลงเจนีวา (Geneva Agreement) ดังกล่าวได้ระบุให้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วน (เวียดนามเหนือ และ เวียดนามใต้) โดยใช้เส้นขนาน (เส้นละติจูด) ที่ 17 เป็นเส้นแบ่งเขตชั่วคราว และจัดให้มีเขตปลอดทหารขึ้น โดยให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารกลับเข้าเขตของตน ให้ประชาชนเลือกอพยพเข้าไปอยู่ในแต่ละภาคตามความสมัครใจ ภายใน 300 วัน สนธิสัญญาดังกล่าว ยังห้ามมิให้ชาวต่างชาติโยกย้ายทหาร และอาวุธเข้าไปตั้งมั่นในแต่ละภาค ห้ามเวียดนามทั้งสองฝ่ายเข้าเป็นพันธมิตรทางทหารกับต่างประเทศ และให้มีกรรมการควบคุมตรวจตราระหว่างประเทศ (ICC) ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลง นอกจากนั้นยังได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อรวมเวียดนามทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ภายในปี พ.ศ. 2499 (ค.ศ.1956) ด้วย แต่การดำเนินการรวมประเทศเข้าด้วยกันไม่ได้มีขึ้นตามข้อตกลง เนื่องจากเวียดนามใต้ไม่ยินยอม โดยอ้างว่าเวียดนามเหนือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับการถอนทหาร โดยยังมีกองกำลังเวียดนามเหนืออยู่ในเวียดนามใต้ ประมาณ 5000 คน

 

ในปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ.1955) โงดินห์เดียม นายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้ ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ให้ล้มเลิกระบบกษัตริย์ และเปลี่ยนรูปการปกครองของเวียดนามใต้ เป็นระบอบสาธารณรัฐ (มีประธานาธิบดีแทนกษัตริย์) โดยโงดินห์เดียม ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเวียดนามใต้ ในขณะเดียวกันเวียดนามเหนือ ก็ได้พยายามที่จะให้มีการออกเสียง ประชามติเกี่ยวกับการรวมเวียดนาม แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงได้หันมาใช้กลวิธีทางการเมือง เริ่มด้วยการจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนามใต้ หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม เวียดกง (Viet Cong) โดยได้จัดตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (National Liberation of South Vietnam) ขึ้นในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ.1960) โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของชาวเวียดนามใต้ ในการต่อสู้กับเวียดนามใต้ เพื่อให้มีการรวมเวียดนามเข้าด้วยกัน แนวร่วมดังกล่าวได้ประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลปฏิวัติชั่วคราวแห่งเวียดนามใต้ (Provision Revolutionary) เมื่อปี พ.ศ. 2512 ส่วนในด้านการทหารนั้น เวียดนามเหนือได้ปฏิบัติการรบแบบกองโจร ด้วยหน่วยกำลังขนาดเล็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 และได้ขยายขนาดกำลังเป็นกองพันในปี พ.ศ. 2506 ในขณะที่ฝ่ายเวียดกงมีความเข้มแข็งขึ้น แต่ภายในเวียดนามใต้เองกลับมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง มีการแย่งชิงอำนาจกันหลายครั้งหลายคราว โงดินห์เดียม ถูกโค่นอำนาจและผู้นำทหารเข้ามาปกครองแทน จนถึงปี พ.ศ. 2508 สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแทนขึ้น โดยมี นายพล เหงียนเกากี ผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นนายกรับมนตรี รัฐบาลชุดนี้ได้จัดร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2510 นายพลเหงียนวันเทียว ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ได้ดำรงตำแหน่งมาถึงปี พ.ศ. 2518 แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญให้ลุล่วงไปได้ ในระยะเวลาดังกล่าว สงครามในเวียดนามก็ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สหรัฐอเมริกาได้เริ่มโจมตีทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือเป็นครั้งแรก เมื่อเกิดวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ย ในปี พ.ศ. 2507 และในปี พ.ศ. 2508 ก็ได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบกับกำลังทหารของเวียดนามใต้โดยตรง

 

ในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) เวียดนามเหนือได้ขยายกำลังรบในเวียดนามใต้เป็นระดับกองพล และได้ทำการรุกใหญ่สองครั้งคือ ในปี พ.ศ. 2510 และ พ.ศ. 2518 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกสกัดกั้นทางภาคพื้นดิน การโจมตีทางอากาศ และการปิดล้อมทางทะเลของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ได้มีการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีส เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) และได้มีการลงนามในปี พ.ศ. 2516 กำหนดให้มีการหยุดยิงในเวียดนามใต้ และให้มีการถอนกำลังทหารสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรออกจากเวียดนามใต้ ระบุให้เวียดนามใต้และเวียดนามเหนือ จัดตั้งสภาเพื่อความสามัคคีปรองดอง เพื่อทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปในเวียดนาม และให้มีการรวมเวียดนามเข้าด้วยกัน และยังกำหนดให้สหรัฐอเมริกา ให้ความช่วยเหลือในให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณาอินโดจีน รวมทั้งเวียดนามเหนือภายหลังสงครามสิ้นสุดลงด้วย

ในทางปฏิบัติปรากฏว่า ประสบผลแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถอนทหารสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรออกจากเวียดนามใต้ การแลกเปลี่ยนเชลยศึก การกวาดทุ่นระเบิด และยุติการลาดตระเวรทางอากาศ ในเวียดนามเหนือเท่านั้น แต่การยุติการสู้รบไม่ได้มีผลการปฏิบัติอย่างแท้จริง การเจรจาเพื่อกำหนดอนาคตทางการเมือง ระหว่างเวียดนามใต้กับเวียดกง ที่เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้ยุติลงโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517

 

ในต้นปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) ฝ่ายเวียดนามเหนือได้เริ่มการรุกใหญ่อีกครั้ง เข้าไปในเขตเวียดนามใต้ ฝ่ายเวียดนามใต้ซึ่งขาดการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการรบ ฝ่ายเวียดนามเหนือยึดครองพื้นที่ได้สองในสามของพื้นที่ทั้งหมดในเวียดนามใต้ ก็ได้ใช้กำลังกดดันไซ่ง่อนอย่างหนัก จนฝ่ายเวียดนามใต้ยอมจำนน เมื่อ 30 เมษายน 2518 (ค.ศ. 1975) เมื่อเวียดนามเหนือยึดครองเวียดนามใต้แล้ว ก็รวมเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้เข้าด้วยกัน โดยใช้ชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงฮานอย และเปลี่ยนชื่อเมืองไซ่ง่อนทางใต้เป็น เมืองโฮจิมินห์

de1662e4-c029-42b4-a854-7b1ddecc788e

 

 

ecc3b2d1-e23b-4a6b-922a-d51967ba47ad

เมื่อเวียดนามได้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ การมีเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโลกที่สำคัญ ประกอบกับสหภาพโซเวียตประกาศใช้นโยบายเปิดประเทศที่เรียกว่า Glasnost and Perestroika ซึ่งมีผลต่อประเทศในโลกคอมมิวนิสต์ด้วย โดยทำให้เวียดนามได้เปิดและปฏิรูปประเทศโดยนโยบาย โด่ยเหม่ย (Doi Moi) โดยเริ่มเปิดประเทศเป็นแบบเสรีมากขึ้น อนุญาตให้ประชาชนดำเนินธุรกิจการค้าของตัวเอง การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 ทำให้เวียดนามเปิดประเทศมากขึ้นทำการติดต่อค้าขายกับโลกเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น แม้แต่สหรัฐอเมริกาและพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมมากขึ้น (ข้อมูลจาก : ประวัติศาสตร์ประเทศเวียดนาม: http://www.baanjomyut.com/ : 03.06.2016)

 

จากท่าอากาศยานนานาชาติดานัง ไก๊ด์แคน นำคณะมารับประทานอาหารกลางวันที่ โรงแรม Fusion Maia Resort โรงแรมระดับ 5 ดาว ที่มีห้องพักเป็น Pool Villa และมีการให้บริการด้านสปาแบบครบวงจร พร้อมกับห้องอาหารที่เป็น Organic Foods สำหรับผู้รักสุขภาพ โรงแรมอยู่ติดชายหาดดานังที่สวยงามและสงบเงียบ แต่ช่วงที่เราไปถึงโรงแรมฝนตกพอดี เลยทำให้ขลุกขลักเล็กน้อย แต่โรงแรมเค้าสวยมากครับ อาหารกลางวันที่เสิร์ฟประกอบด้วย อาหารจานแรกเป็นสลัดผักเขียวขจีราดด้วยน้ำสลัดแบบเวียดนาม จานต่อมาเป็นแป้งทอดกรอบทานกับผักสด และอาหารจานหลักเป็นปลาทอดขมิ้นกับผักทานเคียงกับเส้นขนมจีนราดซอสถั่วเปรี้ยวหวาน (จานนี้อร่อยมากครับ) แล้วก็จบด้วยขนมหวานเป็น Fruits Tart จากนั้น เจ้าหน้าที่ของโรงแรมก็นำเราชมสถานที่อันสวยงามของรีสอร์ท Fusion Maia Resort จนเวลาพอสมควร เราก็ล่ำลาเจ้าของบ้านและกล่าวคำขอบคุณที่ได้ให้การต้อนรับคณะของเราเป็นอย่างดี

8a1a03c3-45bf-4698-82bf-37cfc989447b

5d097723-f640-448c-9153-f85c8fb947c5

 

 

 

f5c93fb1-401b-4be1-932f-25118067b743

bc792b59-d3d9-432b-8f0c-46217a5245ca

 

จากนั้นคณะของเราก็ออกเดินทางต่อไปยังโรงแรม Hyatt Regency Danang เพื่อเข้าร่วมประชุมกับ Central Coast Vietnam Destination Marketing Committee ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐ ที่มอบหมายให้ภาคเอกชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน เมื่อไปถึง คณะก็ได้เข้ารับการฟังบรรยายสรุปจาก Mr. Michael Zitek, Area Manager of Banyan Tree and  Angsana, Lang Co, Vietnam ซึ่งทำหน้าที่ Marketing Director of CCV DMC ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ในการส่งเสริมการขายและการตลาดของกลุ่มจังหวัด แต่รูปแบบของการบริหารงานชัดเจนกว่า โดยมีเมืองหลักที่อยู่ในความดูแลของคณะทำงานชุดนี้ ได้แก่ เมืองลาง โก, เมืองเว้, เมืองดานัง และเมืองฮอยอัน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของเวียดนามในภาคกลาง ซึ่งเชื่อมต่อการเดินทางจากแต่ละเมืองด้วยระบบรางและทางรถยนต์ที่สะดวกสบาย ในการบรรยายสรุปได้กล่าวถึง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 4 เมือง ให้เป็นการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องและมีกิจกรรมที่สามารถหมุนเวียนกันในกลุ่มตลาดต่างๆได้เป็นอย่างดี เช่น กิจกรรมด้านสปา, พักผ่อนบนชายหาด, กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในเมืองมรดกโลก, กิจกรรมท่องเที่ยวแบบบันเทิง และกิจกรรมด้านกีฬาที่หลากหลาย ที่โดดเด่น เห็นจะเป็นกีฬากอล์ฟนี่แหละ ที่บรรดาสมาชิกในคณะตื่นตาตื่นใจกันมาก เพราะมีสนามกอล์ฟระดับโลกอยู่ถึง 4 สนาม ลากูน่า ลาง โก กอล์ฟคลับ ออกแบบโดย นิค ฟัลโด้, มอนโกเมอร์รี่ ลิงคซ์ เวียดนาม ออกแบบโดย คอลลิน มอนต์โกเมอร์รี่, บาน่า ฮิล กอล์ฟ คลับ ออกแบบโดย ลูค โดนัลด์ และ บีอาร์จี ดานัง กอล์ฟ รีสอร์ท ที่ได้รับรางวัลสนามกอล์ฟยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย 5 ปี ติดต่อกันจนปัจจุบัน ในการบรรยายสรุปครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณอภัสรา หรือ คุณเล็ก ซึ่งเป็น Spa Manager ของ Banyan Tree Spa ที่ได้กรุณาแปลเป็นภาษาไทยให้กับคณะ และที่สำคัญคือ เธอเป็นคนพังงา ที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ บันยัน ทรี สปา ภูเก็ต และได้รับความก้าวหน้าในตำแหน่งต่างๆที่สูงขึ้นเป็นลำดับในหลายประเทศ จนปัจจุบัน เธอได้มาดำรงตำแหน่งผู้จัดการสปา ของบันยัน ทรี ลาง โก ที่เมืองเว้

55639e7e-fcbc-4c22-add7-d64ef2f8221f

คุณไมเคิ่ล ซีเท็ค และ คุณอภัสรา (เล็ก)

หลังจากจบการบรรยายสรุป เราก็ได้มีโอกาสพบกับผู้ประกอบการในกิจกรรมต่างๆที่กล่าวถึงในการบรรยายสรุปอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและซื้อขายสินค้าทางการท่องเที่ยวระหว่างกัน พร้อมๆไปกับการพักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่ม ซึ่งพวกเราในคณะทุกคน ชื่นชอบกาแฟเวียดนามกันเกือบทุกคน ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น กาแฟของที่นี่มีกลิ่นหอมเข้มข้นดีจริงๆ เราใช้เวลาอยู่ที่นี่ประมาณ 3 ชั่วโมง ก็เสร็จสิ้นภารกิจ จากนั้น คณะก็พร้อมเดินทางต่อไปยังโรงแรม Pull Man Danang Beach Resort เพื่อร่วมงานเลี้ยงฉลองการเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ร่วมกับคณะผู้สื่อข่าวและแขกผู้มีเกียรติในเมืองดานัง ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานนี้

4cf7b7af-4422-436b-9a49-93c0136897df

 

3af83c5d-7d74-486f-92ea-7f8d7bb8ccae

 

 

คณะเราเดินทางมาถึง โรงแรม Pullman Danang ในเวลา 18.30 น. เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงฉลองเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เส้นทางกรุงเทพมหานคร-ดานัง เป็นงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบบุฟเฟ่ต์ พร้อมการแสดงบนเวทีที่สวยสดงดงาม ในงานมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานกับอย่างคับคั่งเลยทีเดียว อาทิ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุง ฮานอย, เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากเทศบาลนครดานัง, ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติดานังและทีมงาน, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานโฮจิมินห์, ผู้ประกอบการนำเที่ยวทั้งจากประเทศไทยและเวียตนาม และคณะผู้สื่อข่าวจากประเทศไทย รวมแล้วประมาณ 200 คน คณะของพวกเราสนุกสนานกันพอสมควร จากอาหารการกินที่คัดสรรมาให้อย่างล้นเหลือ

4eec08bf-97fc-4666-9e3d-94b7e32fcae2

ในช่วงพิธีการ นายมานพชัย วงศ์ภักดี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ได้ขึ้นกล่าวเปิดงาน และได้กล่าวถึงการเปิดเส้นทางบินปฐมฤกษ์ ว่าเป็นการเปิดประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งสองประเทศบน Eastern Corridor ที่จะเชื่อมต่อกับ Western Corridor ได้เป็นอย่างดี และถือเป็นความร่วมมือที่จะสร้างความเข้มแข็งทางการบินในภูมิภาคต่อไปในอนาคต จากนั้น กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ได้กล่าวกล่าวขอบคุณและกล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน และรู้สึกยินดีในความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ที่ได้ร่วมกันสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันด้วยการเปิดเส้นทางบินเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครและนครดานัง รวมถึงการช่วยเหลือสนับสนุน ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวหน้าเป็นลำดับในอนาคต

 

เมื่อได้เวลาสมควร คณะของเราก็ได้กล่าวคำอำลา ท่านเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย และ กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ เพื่อเดินทางต่อไปยังเมือง ลาง โค ในจังหวัดเว้ ซึ่งเราจะต้องไปพักที่นั่นในคืนแรก รถเคลื่อนตัวออกจากโรงแรม Pullman Danang เมื่อเวลา 22.00 น. ซึ่งเราต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เพื่อไปยังที่พัก โรงแรม Angsana Laguna ตลอดเส้นทางที่มืดมิดบวกกับความเหนื่อยล้า ทำให้ทุกคนบนรถใช้เวลาพักผ่อนกันตามอัธยาศัย จนกระทั่งหนึ่งชั่วโมงยี่สิบนาทีให้หลัง เราก็เดินทางมาถึงยังจุดหมายปลายทางที่พักของเราในคืนนี้

7b4a4dc8-4928-42d0-9eda-de45c52c2f48

2e1e2a17-f7a5-45a7-8051-ac52235d264e

 

 

สิ่งแรกที่ได้เห็น คือ โคมไฟแบบเวียดนามที่แขวนอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามที่บริเวณล้อบบี้ และเราได้พบกับคุณ Michael และ คุณเล็ก มายืนรอต้อนรับเรา แล้วนำคณะทั้งหมดไปยังห้องอาหารเพื่อรับประทานอาหารว่างก่อนเช็คอินเข้าห้องพัก ท่ามกลางความมืดที่รายล้อมรอบตัวมองไม่เห็นบรรยากาศใดๆ ทำให้ทุกคนตัดสินใจเข้าห้องพักอาบน้ำนอนกันทั้งหมด ราตรีสวัสดิ์ สำหรับการเดินทางในวันแรกที่ยาวนานตั้งแต่ ตีห้าจากภูเก็ต ถึง ห้าทุ่มที่ ลาง โค ราตรีสวัสดิ์ครับ

 

ลาง โค เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ มีชายหาดที่สวยงามทอดยาวกว่า 30 กิโลเมตร ทอดตัวจากฝากหนึ่งไปจดอีกฝากหนึ่งของขุนเขา เคยเป็นฐานทัพของสหรัฐฯสมัยสงครามเวียดนาม และหลังจากสงครามยุติก็ยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก ทำให้ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่ค่อนข้างมาก จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันทีต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงมีการให้สัมปทานนักลงทุนเข้าพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการท่องเที่ยว จึงเกิดมี Laguna Angsana, Laguna Banyan Tree และ สนามกอล์ฟ Laguna Lang Co เกิดขึ้น

6bf7bb62-1f1e-49f8-8d18-0fb1d23f313d

c8fa3d35-993c-47a6-b8f1-d414dba4ba34

เช้าวันที่สอง 26 พ.ค. 2559 ผมตื่นเช้ามาความสดชื่น อออกมาสูดอากาศที่ระเบียงก็พบว่ามีภูเขาเขียวขจีอยู่ข้างหน้าแถมด้วยดอกไม้เลื้อยสีเหลืองปกคลุมเป็นระยะมีความสวยงามเป็นธรรมชาติจริงๆ ปฏิบัติภารกิจส่วนตนเสร็จเรียบร้อย ผมก็ลงมารับประทานอาหารเช้า เจอบุคคลในคณะหลายคนที่ตื่นเช้าเช่นเดียวกัน อาหารที่นี่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะ “เฝอ” อาหารประจำชาติของเวียดนามเค้า ซึ่งก็คือก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กใส่ผักนานาชนิดและเนื้อเปื่อยสไลด์บางๆมา ราดด้วยน้ำซุปร้อนๆหอมกรุ่น ผมสำเร็จโทษไปสองชามเลยครับตามด้วยกาแฟเวียดนามที่เข้มข้นและหอมกลิ่นกาแฟสดแท้

 

จากนั้นผมก็ออกมาสำรวจพื้นที่รอบๆบริเวณโรงแรม และถึงแม้ว่าอากาศในวันนี้จะไม่ดีนัก แต่สภาพแวดล้อมที่มองเห็น ถึงกับทำให้ผมต้องตะลึงโดยพลัน มันเป็นความสวยงามของภูมิประเทศที่ธรรมชาติบรรจงเนรมิตขึ้นมาแบบผสมกลมกลืนกับสิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์ทำขึ้น ณ หาดลาง โค คือที่ตั้งของโรงแรม อังสนา ลากูน่า และ บันยัน ทรี ลากูน่า

 

ในช่วงเช้าที่ผมออกเดินสำรวจด้วยตนเอง พบว่าชายหาดมีความสวยงามและสะอาดมาก ในสระว่ายน้ำมีครอบครัวของนักท่องเที่ยวชาวจีน, ฝรั่งเศสและเกาหลี เล่นน้ำกันอยู่อย่างสนุกสนาน จากสระว่ายน้ำด้านหน้าชายหาดที่เห็น จะเป็นคลองเล็กๆทอดตัวไปตามอาคารที่พักและลอดตัวอาคารออกไปไปอีกฟากหนึ่งเป็นสระวายน้ำทั้งซีกซ้ายและซีกขวา เด็กๆสามารถพายเรือแคนูไปมาได้อย่างสนุกสนาน

73bbca25-f2d1-469f-bcee-e902af81b1d8

 

5df6104b-bd05-44e7-98b4-f89a4e2c3799

 

0f3dc9fa-900c-43c1-9b9d-2060f13917b6

70ef3a0c-7ee2-4871-a333-f9dd7c96ccee 51ec2202-d57b-4283-899b-4c5f248cf35a 06a89e0c-c7fe-430d-97d3-208ebee40609 956b0c9d-2054-40a9-bbe5-83a54aebb4b1 226b24ea-ad31-4c8a-b68b-fdad78e44ff8 187a4f32-c402-4c45-a92a-fa02fb3c0e9eหลังจากนั้น ผมก็ได้กลับไปที่ห้องเพื่อเตรียมตัวออกจากที่พัก เดินทางต่อไปยังเมืองเว้ เมืองมรดกโลก แต่ก่อนที่จะเดินทาง คุณไมเคิ่ลและคุณเล็ก ได้นำคณะของเราเยี่ยมชมห้องพักและบริเวณโดยรอบของโรงแรมอังสนา ลากูน่าและบันยันทรีสปา โดยทางเรือ สร้างความสนุกสนานกันพอสมควร และได้เห็นถึงความมีวิสัยทัศน์ของนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์คนนี้ ที่มาลงทุนในบ้านเราที่ภูเก็ต และมาลงทุนอย่างต่อเนื่องที่เวียดนาม โดยเค้ามองว่าในอีกห้าปีข้างหน้า พื้นที่ท่องเที่ยวในประเทศเวียดนามตอนกลางจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญสำหรับตลาด “พรีเมี่ยม” ที่ต้องการธรรมชาติ ความเงียบสงบและการบริการที่ดี และนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ก็พร้อมที่จ่ายให้กับความพึงพอใจที่เค้าต้องการ ที่สำคัญ รัฐบาลให้คามสนใจและสนับสนุนกับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และจากการที่ทั้งคุณไมเคิ่ลและคุณเล็ก ต่างก็เคยทำงานโรงแรมที่ภูเก็ตและกระบี่มาก่อน ทำให้ทั้งสองคนซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงที่นี่ ได้รู้ถึงการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร และที่สำคัญ คุณไมเคิ่ล บอกว่า เค้ามีแบบอย่างทั้งที่ดีและที่ไม่ดี ที่เค้าได้เห็นและเรียนรู้มาจากภูเก็ตและกระบี่ แล้วเราล่ะ มองภูเก็ตเป็นอย่างไร