เริ่มแล้วย้ายบ้านลอยน้ำของกลุ่ม Seasteading ส่งวัตถุพยานให้ ตร.ดำเนินคดี

โพสเมื่อ : Monday, April 22nd, 2019 : 2.53 pm

ย้ายบ้านลอยน้ำของกลุ่ม Seasteading ออกจากจุดติดตั้งวันนี้ ระบุต้องดำเนินการให้เสร็จภายในครึ่งวัน ขนกำลังพล 300 นายดำเนินการ ส่งวัตถุพยานให้ตำรวจดำเนินคดี

จากกรณีมีการสร้างบ้านลอยน้ำตามแนวทางของกลุ่ม Seasteading และมีการประกาศขายทางสื่อโซเชียล ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าบ้านลอยน้ำอาจจะเป็นอันตรายกับการเดินเรือและเป็นภัยต่อความมั่นคง รวมทั้งสภาพไม่แข็งแรง จึงต้องเร่งเคลื่อนย้ายกลับเข้าฝั่ง โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ทางเจ้าหน้าที่ได้ออกปฏิบัติการเพื่อเคลื่อนย้ายมาแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเนื่องจากการก่อสร้างที่มีความสลับซับซ้อน ต้องรอผู้เชี่ยวชาญเข้าดำเนินการ

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ( 22 เม.ย.) พลเรือตรี วิธนรัชต์ คชเสนี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือปฏิบัติการพร้อมด้วย นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.นิกร สมสุข ผกก.สภ.วิชิต พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในศรชลเขต3 และสื่อมวลชน ลงเรือหลวงศรีราชา เพื่อเดินทางไปติดตามปฏิบัติการ การรื้อและเคลื่อนย้ายบ้านลอยน้ำ -ของกลุ่ม Seasteading ซึ่งสร้างอยู่บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ที่บริเวณละติจูด 7 องศา 29.37 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 98 องศา 34.81 ลิปดาตะวันออก หรือบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะราชาใหญ่ ห่างจากเกาะภูเก็ตไปประมาณ 14 ไมล์ทะเล หรือ ประมาณ 22 กิโลเมตร

สำหรับการเข้าปฏิบัติการในวันนี้ ทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้จัดเรือเข้าปฏิบัติการจำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงศรีราชา ซึ่งใช้เป็นเรือฐานในการกำกับควบคุมการปฏิบัติการ โดยมีพลเรือตรี วิธนรัชต์ คชเสนี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือปฏิบัติการ เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติในครั้งนี้ ส่วนเรือลำที่ 2 คือเรือหลวงมันใน จะเป็นเรือที่ใช้สำหรับการบรรทุกตัวบ้านหรือวัตถุลอยน้ำ 8 เหลี่ยม เพื่อนำกลับขึ้นฝั่งเนื่องจากวัตถุดังกล่าวเป็นไฟเบอร์ หากใช้วิธีการลากอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ และเรือลำที่ 3 คือเรือหลวงริ้นจะเป็นเรือที่ใช้ในการลากจูง ฐานหรือเดือยของโครงสร้างบ้านหลังดังกล่าว

สำหรับการดำเนินการทุกขั้นตอนจะมีเจ้าหน้าที่เทคนิคของกองโรงงาน ฐานทัพเรือพังงา ร่วมกับผู้ที่มีความรู้ในการประกอบบ้านลอยน้ำดังกล่าวคอยให้คำแนะนำ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณครึ่งวันในการดำเนินการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายวัตถุดังกล่าวกลับเข้าฝั่งได้ นอกจากนี้ได้มีการเตรียมการในส่วนของถังลอยและถังพยุง หากเกิดขั้นข้องก็จะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการได้ ทั้งนี้จะนำมาเก็บไว้ที่บริเวณท่าเทียบเรือน้ำลึก

พลเรือตรีวิธนรัชต์ คชเสนี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือปฏิบัติการ กล่าวถึงการการปฏิบัติการย้ายวัตถุลอยน้ำกลับเข้าฝั่ง ว่า จากกรณีสามีชาวอเมริกัน และภรรยาคนไทย ได้ร่วมกันดำเนินการจัดให้มีสิ่งก่อสร้างที่พักอาศัยแบบลอยน้ำได้ตามแนวทาง Seasteading และมีการว่างจากให้นำไปวางในทะเล บริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ซึ่งตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล พ.ศ. 2525 ก็ได้ระบุว่า เขตเศรษฐกิจจำเพาะอยู่ในเขตอำนาจและสิทธิอธิปของประเทศไทย นอกจากนั้นทั้ง 2 สามีภรรยา ยังได้กล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะประกาศตัวเป็นอิสระไม่ภายใต้อำนาจศาลหรือกฎหมายของรัฐใด ซึ่งหมายถึงก็หมายถึงประเทศไทย รวมทั้งมีการเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจมาร่วมกันจัดตั้งก่อสร้างที่พักอาศัยในลักษณะดังกล่าวเป็นอนานิคมปกครองตัวเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางทัพเรือภาคที่ 3 หน่วยงานหลังของกองทัพเรือทางด้านทะเลอันดามันมีหน้าที่ในการรักษาเอกราชอธิปไตยและผลโยชน์ของชาติทางทะเลตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล รวมทั้งพื้นที่ในทะเลเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รวมพื้นที่ 30,000 ตารางไมล์ทะเล หรือ 120,000 ตารางกิโลเมตร จากการตรวจสอบพบว่าการดำเนินการดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำความผิดทางด้าน ทำให้เอกราชของประเทศไทยเสื่อมเสีย โดยการกระทำดังกล่าวได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้ว เมื่อวันที่ 14 เม.ยงที่ผ่านมาและกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

หลังจากนั้นทางผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล. ภ.3 ได้อาศัยอำนาจการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล พ.ศ.2562 สั่งการให้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าดำเนินการเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในวันนี้ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกองโรงงานฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 ไปตรวจสอบสิ่งก่อสร้างดังกล่าวแล้ว และมีการวางแผนเคลื่อนย้าย

สำหรับการปฏิบัติงานวันนี้ ( 22 เม.ย.) เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่กองโรงงานขึ้นไปที่สิ่งก่อสร้างดังกล่าว โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและติดตั้งอาการดังกล่าวคอยให้คำแนะนำ หลังจากนั้นจะมีการถอดส่วนประกอบในส่วนของที่พักอาศัยทรง 8 เหลี่ยม กว้าง 6 เมตร แยกออกจากตัวเสาที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร ยาว 20 เมตร แยกออกจากกัน

ในการแยกจะมีเจ้าหน้าที่จากกองโรงงาน และนักประดาน้ำ รวมทั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ จากทัพเรือภาคที่ 3 ช่วยดำเนินการแยกชิ้นส่วนทั้ง 2 ส่วนออกจากกัน เมื่อแยกออกจากกันแล้ว ในส่วนของตัวที่พักอาศัยจะยกขึ้นเรือหลวงมันใน ซึ่งเป็นเรือระบายพลขนาดใหญ่

ขณะที่ในส่วนของตัวฐานที่เป็นแท่งเหล็ก หลังจากแยกตัวที่พักอาศัยออกไปแล้วก็จะทำให้อยู่ในแนวนอน และ ให้เรือหลวงริ้น ซึ่งเป็นเรือลากจูงขนาดกลาง ลากจูงเข้ามาที่ฝั่ง โดยทั้ง 2 ส่วนจะลากมาเก็บไว้ที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต และให้ทางตำรวจเก็บทั้ง 2 ส่วนไว้ประกอบในการดำเนินคดีต่อไป สำหรับปฏิบัติการเคลื่อนย้ายวัตถุลอยน้ำในครั้งนี้ใช้กำลังพลในการดำเนินการประมาณ 300 นาย

พลเรือตรีวิธนรัชต์ คชเสนี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือปฏิบัติการ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการในวันนี้จะต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เพราะทราบกันแล้วว่าสิ่งก่อสร้างดังกล่าวอยู่ในสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่มีสิ่งบ่งบอกพิกัด ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรือเกิดอุบัติเหตุเรือชนได้ ซึ่งการดำเนินการการวันนี้คาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในครึ่งวัน ภายใต้การปฏิบัติงานที่รอบคอบ ปลอดภัยกับกำลังพล และอุปกรณ์ที่นำเข้ามาใช้งานทั้งหมด

 

ด้านนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การดำเนินการกับวัตถุลอยน้ำในทะเลครั้งนี้ มีการบูรนาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมทั้งพนักงานสอบสวน เพื่อนำสิ่งก่อสร้างดังกล่าวกลับเข้าฝั่ง ในขั้นต้นจะนำพนักงานสอบสวนมาเก็บพยานเพื่อนำไปประกอบในสำนวนให้ได้หลักฐานมากที่สุด ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

หลังจากนั้นจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งฟ้อง คิดว่าภายใน 1 สัปดาห์น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และสามารถขอศาลอนุมัติหมายจับทั้ง 2 สามีภรรยาที่ดำเนินการดังกล่าวได้ ส่วนการติดตามตัว 2 สามีภรรยานั้นขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการติดตามตัวของเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่พบตัวแต่อย่างใด