เปิดใจ “สุทา ประทีป ณ ถลาง” ส.ส.ป้ายแดงภูเก็ต  ฝาก “ เลือกแล้วอย่าลอยแพ”

โพสเมื่อ : Monday, March 25th, 2019 : 6.31 pm

เปิดใจ“ สุทา ประทีป ณ ถลาง”   ว่าที่  ส.ส. ป้ายแดงภูเก็ตเขต 1 พร้อมเดินหน้า พัฒนาภูเก็ตไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  ฝากคนภูเก็ต “เลือกแล้วอย่าลอยแพ” เตรียมเอาคืนชายหาดสาธารณะให้ทำมาหากินได้เหมือนเดิม

นายสุทา ประทีป ณ ถลาง ว่า ส.ส.ภุเก็ตเขต 1 พรรคพลังประชารัฐ  ได้โพสต์ผ่านเพจส่วนตัว ว่า “ผม สุทา ประทีป ณ ถลาง โก้ตุ๋ย  ขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่สนับสนุน จะร่วมกับพี่น้องชาวภูเก็ต พัฒนาภูเก็ตของเราไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยมี ชาวโซเชียล ร่วมแสดงความยินดี และฝากพัฒนาภูเก็ตในหลายๆด้าน

สำหรับ “นายสุทา ประทีป ณ ถลาง” เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากกลุ่มนายทุนที่ใช้อำนาจเงินบุกรุกครอบครอง  รวมทั้งออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั้งบกและป่าชายเลนในหลายๆแปลง โดยเข้าไปทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชน ทำให้ภาพของ “สุทา ประทีป ณ ถลาง” หลายคนมองว่าเป็น NGO

นายสุทา ประทีม ณ ถลาง กล่าวภายหลังทราบผลการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่ทางการ ว่า ขอขอบคุณชาวภูเก็ตที่เลือกตนและพรรคพลังประชารัฐ ทุกคะแนนเสียให้เข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ต และ เมื่อเลือกตนเข้ามาแล้วขออย่าลอยแพ เพราะตนไม่สามารถทำงานในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆของจังหวัดภูเก็ตได้เพียงลำพัง แต่การพัฒนาภูเก็ตทุกๆด้านจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนชาวภูเก็ต ทุกๆคน ทุกๆกลุ่ม ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม

สำหรับแนวคิดในการทำงาน เพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ตไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  จะต้องเกิดจากการระดมความคิดของทุกภาคส่วน ซึ่งเร็วๆหลังได้รับการรับรองการเป็น ส.ส.อย่างเป็นทางการ ตนจะเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมหารือระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตไปด้วยกัน เพื่อเสนอคณะรัฐบาลต่อไปและผลักดันให้แนวทางการพัฒนาเห็นเป็นรูปธรรม รวมทั้งโครงการต่างๆที่มีการดำเนินการก่อนหน้านี้ถ้าเป็นโครงการที่ดี เป็นประโยชน์กับชาวภูเก็ตตนก็พร้อมที่จะสานต่อโดยไม่เลือกว่าเป็นโครงการที่เกิดจากแนวคิดของใคร

นายสุทา ยังได้กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาภูเก็ตต้องคิดอยู่บนความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและการเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยหน้ากันทั้งเรื่องของการจัดการทรัพยากร และ การท่องเที่ยวเพราะภูเก็ตเป็นเมืองที่มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพที่หลากหลาย และที่สำคัญการท่องเที่ยวก็ขึ้นอยู่กับเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลีกเลี้ยงไม่ได้ หากทรัพยากรถูกทำลาย การท่องเที่ยวก็ย่อมเสียหายไปด้วย

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ตนมอบว่าจะต้องรีบแก้ไข ในส่วนของภูเก็ตจากการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน พบว่ามีสารพัดปัญหาที่จะต้องเร่งจัดการ เช่น ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งทุกวันนี้ก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่า มีน้ำเสียจากทั้งสถานประกอบการ ร้านอาหาร โรงแรม บ้านเรือนของประชาชนไหลลงทะเลรอบเกาะภูเก็ต นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาเรื่องการจราจร ปัญหาเรื่องของทรัพยากรถูกทำลาย ปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดิน และอื่นๆ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็จะได้มาจากการร่วมหารือร่วมกันทุกฝ่าย ซึ่งจะมีการกำหนดความสำคัญของการแก้ไขปัญหาไปแต่ละเรื่อง เพียงแต่ทุกคนในภูเก็ตจะต้องร่วมมือกัน

นายสุทา ยังได้กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่คิดว่าจะมีการนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาการบุกรุก คือการศึกษาเรื่องของโครงสร้างที่ดิน ทั้งที่ดินเอกชน ที่ดินประชาชน และที่ดินสาธารณะ เพราะการจะทำโครงการอะไรเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่ทราบว่าที่ดินแต่ละแปลงเป็นของใครก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาติดขัด ตนจึงอยากผลักดันให้ภูเก็ตมีการออกโฉนดทั้งตำบลในครั้งเดียว ไม่ใช่ออกเป็นรายๆ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าที่ดินของใครอยู่จุดไหน ที่ดินสาธารณะเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้การวางผังเมือง การแก้ไขปัญหาต่างก็สามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น

นอกจากนั้นยังมองไปถึงเรื่องของการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่หลากหลาย บางครั้งนักท่องเที่ยวเองไม่สามารถที่จะอยู่ในสถานที่เดียวกันได้ เช่นนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาเที่ยวจุดนี้ นักท่องเที่ยวอีกกลุ่มก็จะไม่เข้ามาทำให้เราสูญเสียนักท่องเที่ยวบางกลุ่มไป จึงอยากให้มีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มไป ซึ่งจะทำให้เราสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม แต่จะต้องคำนึงถึงคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ

นายสุทา ยังได้กล่าวต่อไปถึงแนวความคิดในการจัดระเบียบชายหาดต่างของจังหวัดภูเก็ต ว่า ถึงเวลาที่จะต้องเอาชายหาดกลับมา เพื่อคืนร่ม เตียง ให้คนได้ทำมาหากินเหมือนเดิม เพราะหลังจากมีการจัดระเบียบชายหาดทำให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตสูญเสียไปประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี โดยจำนวนร่มเตียงที่จะเอาคืนมาจะต้องมีจำนวนเท่ากับก่อนที่จะมีการจัดระเบียบ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการใช้ชายหาดเพื่อตั้งร่มเตียงอยู่ที่ประมาณ 30 – 40 % ของแต่ละหาด

แต่หลังจากมีการจัดระเบียบทำให้ร่มเตรียงที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจากนักท่องเที่ยว ซึ่งหัวใจการท่องเที่ยวของภูเก็ตคือชายหาด หัวใจของชายหาดคือร่มเตียง แต่เมื่อเราเอาร่มเตียงออกก็เหมือนกับเอาหัวใจของชายหาดออกก็จะทำให้ชายหาดตาย การวางร่มเตียงเพื่อการท่องเที่ยวไม่ได้ทำให้ชายหาดเสียหาย ถ้ามองว่าการนอนบนชายหาดของนักท่องเที่ยวทำให้เกะกะหูเกะกะตาไม่น่าจะจริงเพราะเป็นวิถีของนักท่องเที่ยวจึงอยากจะให้คืนร่มเตียงให้กับชายหาดเพื่อบริการนักท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องมาคุยกัน