เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นนำรถไฟฟ้า (EV) แทนรถโพถ้อง

โพสเมื่อ : Thursday, March 24th, 2022 : 1.28 pm

 

อบจ.ภูเก็ต ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน นำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนรถสองแถวไม้ (รถโพถ้อง) เปิดผลการศึกษาระบุรถไฟฟ้าสมาร์ทบัส (EV Smart Bus ) ขนาด 20 ที่นั่ง เหมาะสมกับสภาพถนนภูเก็ต และ อบจ.เป็นผู้ลงทุนจัดซื้อรถ 21 คันโดยให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ วิ่งใน 3 เส้นทาง เป็นแนวทางที่เหมาสะสมที่สุด เผยต้องใช้งบลงทุนประมาณ 300 ล้านในการจัดซื้อ แต่เบื้องต้นซื้อก่อน 14 คัน ใช้งบลงทุน 50-60 ล้านบาท และลงทุนก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีก 2 สถานี งบลงทุนกว่า 100 ล้าน ส่วนค่าโดยสารตลอดเส้นทางกำหนดไว้ 2 อัตรา คือ 15 บาท และ 20 บาท ผลศึกษาทั้งหมดแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้

 

 

วันนี้ ( 24 มี.ค.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและนำเสนอ (ร่าง) การศึกษาและวิเคราะห์โครงการเดินรถโดยสารประจำทางขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยใช้รถยนต์ไฟฟ้า และจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมี นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงประชาชนชาวภูเก็ต

 

 

นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเดินรถโดยสารประจำทางขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยใช้รถยนต์ไฟฟ้าและจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความพร้อมในการจัดทำโครงการเดินรถโดยสารโดยใช้รถยนต์ไฟฟ้าและจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทั้งในด้านเทคนิค ด้านเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย ด้านการเงิน หรือด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบที่เหมาะสม และเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ปัญหาหรืออุปสรรค ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและแนวทางการบริหารโครงการ ความเหมาะสมของการจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า คุณลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้า ที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นรถประกอบการขนส่งผู้โดยสาร และเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชนและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

 

 

เพื่อนำรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV มาใช้แทนรถโดยสารสองแถวไม้ หรือ รถโพถ้อง ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและรองรับการเติบโตของภูเก็ต รวมไปถึงเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้รถโดยสารของคนภูเก็ต และเป็นการลดมลภาวะอีกด้วย ตอบโจทก์ความต้องการของคนภูเก็ต

 

“คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภูเก็ต โดยเฉพาะเรื่องของการให้บริการรถโดยสาร ที่ก่อนหน้านี้ อบจ.ภูเก็ตได้ทำการปรับปรุงเส้นทางใหม่ให้ครอบคลุมและตอบโจทก์ความต้องการของคนภูเก็ต และเส้นทางดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจากกรมขนส่งทางบกแล้วด้วย และวันนี้เรามารับฟังความคิดเห็นจากคนภูเก็ตในเรื่องของรถโดยสารที่เป็นรถไฟฟ้า หลังจากวันนี้แล้ว ทางผู้ศึกษาจะทำการสรุปผลการศึกษาเสนอมายัง อบจ. ทางเราก็จะดำเนินการต่อในเรื่องนี้ เพราะเราตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนรถโดยสารให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก” นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวในที่สุด

 

 

ด้าน ผศ.พิเชษฐ์ พุ่มเกสร หัวหน้าโครงการวิจัยโครงการเดินรถโดยสารประจำทางขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยใช้รถยนต์ไฟฟ้า และจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV BUS) ที่เหมาะสมสำหรับในวิ่งรับส่งผู้โดยสารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เป็นรถไฟฟ้ารวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกหรือแอพพลิเคชั่น (EV Smart Bus) ที่มีความยาวประมาณ 7 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง เพื่อให้เหมาะกับสภาพถนนในภูเก็ตที่ค่อนข้างแคบ

และรูปแบบการลงทุนนั้นได้ศึกษาไว้ 3 แนวทางด้วยกัน คือ แนวทางที่แรก อบจ.ภูเก็ตลงทุนซื้อรถ EV โดยให้เอกชนเป็นผู้บริหารจัดการ แนวทางที่ 2 เช่ารถจากภาคเอกชน และแนวทางที่ 3 เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งทั้ง 3 แนวทางนี้ ทางคณะวิจัยฯ เห็นว่าแนวทางที่ 1 คือ อบจ.ภูเก็ต เป็นผู้ลงทุนซื้อรถ EV และให้เอกชนเข้าบริหารจัดการ เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพราะจากผลการศึกษาพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการยังไม่สูงมากนัก รวมไปถึงเป้าหมายของ อบจ.ภูเก็ต คือ ต้องการที่จะให้บริการประชาชนชาวภูเก็ต ยังคงให้เด็กนักเรียน และผู้สูงอายุ นั่งฟรี หากให้เอกชนเข้ามาลงทุนเกรงว่าจะไม่คุ้มค่าการลงทุน โดยการลงทุนซื้อรถนั้นกำหนดไว้ที่ 21 คัน แต่ในเบื้องต้นลงทุนซื้อรถก่อน จำนวน 14 คัน เพื่อวิ่งใน 3 เส้นทางที่กำหนดไว้แล้วได้เพียงพอ และผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน วิ่งในลักษณะสวนกัน โดยให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการแทน อบจ.ในเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อรถ 50-60 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร อบจ.ภูเก็ต ว่าจะเลือกแนวทางใดในการดำเนินการ

 

 

ส่วนอัตราค่าโดยสารในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 2 ราคา โดยคำนึงถึงประชาชนและเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนและบริหารจัดการ คือ 15 บาทตลอดสายตามราคาเดิมที่จัดเก็บอยู่ในขณะนี้ และราคา 20 บาทตลอดสาย

 

ส่วนจัดสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้น ได้กำหนดไว้ 2 จุด ในที่ดินของ อบจ.ภูเก็ต คือ ที่บริเวณสะพานหิน และจุดที่อยู่ระหว่างโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต และท่าเรือรัษฎา สำหรับให้บริการอัดประจุไฟฟ้าของรถโดยสาร EV และให้บริการประชาชนทั่วไป ใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท