เปิดตัวโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN พร้อมแพลตฟอร์ม “LoRa IoT by CAT” หนุนภูเก็ตต้นแบบสมาร์ทซิตี้ ต่อยอดพัฒนาบริการอัจฉริยะ

โพสเมื่อ : Friday, April 20th, 2018 : 2.50 pm

ภูเก็ตเปิดตัวโครงข่าย LoRaWAN และระบบแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) รองรับบริการอัจฉริยะด้านต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “LoRa IoT by CAT” พร้อมผนึกพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนบริการอัจฉริยะ ชูภูเก็ตเป็นต้นแบบสมาร์ทซิตี้อย่างสมบูรณ์ เทียบชั้น Smart City ทั่วโลก เตรียมนำโมเดลภูเก็ตเมืองอัจฉริยะขยายสู่เมืองใหญ่ทั่วประเทศ 

วันนี้ ( 20 เม.ย.) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้จัดงาน “Success to Phuket Smart City” พร้อมเปิดตัว LoRa IoT by CAT ณ โรงแรม Bhukitta Grand Ballroom จังหวัดภูเก็ต  โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เป็นประธานในงาน ร่วมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พันธมิตรธุรกิจ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทุกภาคส่วน เพื่อเปิดตัวโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN อันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน Phuket Smart City เมืองอัจฉริยะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT ได้มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN เพื่อรองรับบริการ IoT ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะโครงการ Smart City ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่ CAT เปิดตัวโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN อย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมทั่วจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการ Smart Services ด้านต่าง ๆ และการใช้งานอุปกรณ์ IoT ในจังหวัดภูเก็ตที่มีแนวโน้มจำนวนการใช้งานเพิ่มมากขึ้น

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  กล่าวว่า หลักการพัฒนาสมาร์ทซิตี้จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน กับส่วนที่เป็นบริการ  ซึ่งภารกิจหลักที่ CAT ได้ดำเนินการแล้วในส่วนแรก คือการติดตั้งโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูง Free Wi-Fi 1,000 จุดทั่วทั้งภูเก็ต และล่าสุดคือการติดตั้งโครงข่ายไร้สายสำหรับ IoT คือ LoRaWAN ซึ่งหลังจากจัดให้มีโครงข่ายพื้นฐานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว CAT ยังได้ขยายมาดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของบริการ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาบริการและโซลูชั่นต่างๆ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่น ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเมืองภูเก็ตที่มีเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ด้าน นายนรภัทร ปลอดทอง กล่าวต่อว่า เพื่อพัฒนาเครือโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต โดยมุ่งหวังให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้อินเตอร์เข้าถึงข้อมูลและบริการที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ในชุมชนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล นักท่องเที่ยวได้ใช้อินเตอร์เน็ตในการทำกิจกรรมออนไลน์เพื่อเป็นการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยว สามารถเพิ่มแรงจูงใจในการทำธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต

“ในอนาคตข้อมูลที่รวบรวมจากพฤติกรรมและกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงเหล่านี้จะอยู่ในรูปของ Big Data Platform ที่จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการธุรกิจในภูเก็ต โดยสามารถนำไปคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึกได้มากกว่าการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดิมในอดีต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า IoT มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆในธุรกิจ  ด้านการบริหารจัดการเมืองก็สามารถใช้ประโยชน์ข้อมูล Big Data เพื่อปรับปรุงพัฒนาเพิ่มคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย แก้ปัญหาต่างๆ ของเมืองได้อย่างดี สามารถต่อยอดและพัฒนาไปสู่ City Data Platform ซึ่งจะยกระดับการบริหารจัดการเมืองภูเก็ตในทุกมิติให้ก้าวสู่เป้าหมายเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์ เทียบชั้นสมาร์ทซิตี้ทั่วโลก”

CAT อยู่ระหว่างนำโมเดล Smart City จังหวัดภูเก็ตดังกล่าวขยายไปในหัวเมืองใหญ่ๆ 18 จังหวัด โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 ของปี 2561 นี้จะทยอยเปิดให้บริการ LoRa IoT by CAT ในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา น่าน สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี  สงขลา สุราษฎ์ธานี นครราชสีมา มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี และนครปฐม รวมถึง 3 จังหวัดในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา