เจ้าท่าเผยกู้เรือฟินิกซ์พลิกหา 2 ผู้สูญหายต้องสั่งเครนจากมาเลเซียและผู้กู้เรือที่ชำนาญ

โพสเมื่อ : Wednesday, July 11th, 2018 : 2.35 pm

เจ้าท่าเตรียมประสานเจ้าของเรือ “ฟินิกซ์” กู้ซากพลิกหาผู้สูญหายอีก 2 คน ต้องสั่งเครน 400 ตันจากมาเลเซีย ผู้กู้เรือที่ชำนาญ จากน้ำลึก 45 เมตร ใช้เวลาเตรียมอุปกรณ์ 10 วัน กู้ 15 วัน พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เผยวันเกิดเหตุทะเลเรียบ ออกจากฝั่งแล้วอำนาจตัดสินใจอยู่ที่กัปตันคนเดียวเท่านั้น
วันนี้ (11 ก.ค.) นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิสุทธิ์ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่าให้มาดำเนินร่วมค้นหาผู้สูญหาย กล่าวถึงการกู้เรือฟินิกซ์ ไดร์วิ่ง ที่จมอยู่ใต้ทะเล จากเหตุเรือล่มที่เกาะเฮ จ.ภูเก็ต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ในส่วนของกรมเจ้าท่านั้นได้มีการประสานกับทัพเรือภาคที่ 3 เพื่อที่จะทำการพลิกเรือค้นหาศพอีก 2 ศพ ที่ยังสูญหาย หากการค้นหาผิวน้ำไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีนเกิดความสบายใจว่าไม่มีศพผู้เสียชีวิตถูกเรือทับ ซึ่งการพลิกเรือหรือกู้เรือนั้นจะต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เรือได้รับความเสียหาย เนื่องจากเรือลำนี้เป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการดำเนินคดีที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากโดยทางกรมเจ้าท่ากำลังรอการประสานกับเจ้าของเรือและทนายความ ในการอนุญาตให้เจ้าท่าเข้าทำการกู้เรือลำดังกล่าว เมื่อเจ้าของเรืออนุญาตแล้ว ทางกรมเจ้าท่าจะสั่งเครื่องมือกู้เรือที่เป็นเครนขนาด 400 ตัน มาจากประเทศมาเลเซีย ที่สามารถเดินทางมาถึงภายใน 10 วัน หลังจากนั้นจะใช้เวลาในการกู้เรือประมาณ 15 วัน ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ คลื่นลมในทะเลซึ่งการกู้เรือในครั้งนี้จะต้องใช้นักประดาน้ำ ผู้กู้เรือที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ทันสมัย เนื่องจากจุดที่เรือจมอยู่ในน้ำลึกถึง 45 เมตร
โดยการกู้เรือนั้น จะมีการพลิกเรือให้ตรงก่อน หลังจากนั้นจะใช้เครนขนาด 400 ตัน ดึงเรือขึ้นมาให้พ้นจากน้ำ เมื่อเรือพ้นน้ำแล้วจะทำการสูบน้ำออกจากตัวเรือ และนำเรือไปจอดไว้ในจุดที่เหมาะ และจะดูแลเรือเป็นอย่างดี ไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นไปบนเรือโดยเด็ดขาด นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการในเรื่องของคดี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพราะนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งกับเรือลำนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะระบุวันเวลาที่จะทำการกู้เรือได้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการประสานกับเจ้าของเรือ ในเบื้องต้นจะให้เจ้าของเรือทำการกู้เรือก่อน หากเจ้าของเรือไม่ดำเนินการทางกรมเจ้าท่าจะเข้าไปกู้เองโดยบริษัทเจ้าของเรือจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด”
นายภูริพัฒน์ ยังกล่าวถึงการประกาศเตือนห้ามเรือออกจากฝั่งว่าจะดำเนินการใน 2 ขั้นตอน คือ การประกาศเตือนให้ระมัดระวังในการเดินเรือ โดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากเห็นว่าคลื่นลมไม่แรง เรือสามารถออกจากฝั่งได้ ก็จะประกาศเตือนให้ระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนการประกาศห้ามเรือออกจากฝั่งนั้น นอกจากจะพิจารณาจากประกาศของกรมอุตุฯแล้ว จะต้องมีข้อมูลแวดล้อมจากหลายๆส่วนมาประกอบด้วย ทั้งข้อมูลจากชาวเรือที่กำลังเดินเรืออยู่ในทะเลขณะนั้น หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการพิจารณห้ามเรือโดยสารออกจากฝั่งกรณีคลื่นลมแรงสั่ง พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือห้ามเรือออกจากฝั่ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับเรือที่ล่มในวันที่เกิดเหตุเรือล่มนั้น ต้องยอมรับว่าวันนั้นทะเลเรียบ ไม่มีคลื่นใหญ่ เรือออกจากฝั่งตั้งแต่ช่วงเช้า แต่เมื่อเรือออกไปจากฝั่งไปแล้ว ได้เกิดอากาศแปรปรวนและมีคลื่นลมแรง คลื่นสูงมาก การตัดสินใจทุกอย่างในขณะนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับกัปตันเรือเพียงคนเดียว กัปตันจะต้องตัดสินใจอย่างชัดเจนเพื่อรักษาทรัพย์สินและชีวิตของผู้โดยสารที่ไปกับเรือลำนั้น นายภูริพัฒน์ เผยต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางกรมเจ้าท่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว