เจ้าของ “ฟีนิกซ์”มรณะ เมินกู้เรือ อ้างไม่กระทบเดินเรือ ขณะที่เจ้าท่ากู้เองฟ้องเรียกกว่า 10 ล้าน

โพสเมื่อ : Sunday, August 5th, 2018 : 1.00 pm

เจ้าของเรือมรณะ “ฟีนิกซ์” คร่า 47 ชีวิตนักท่องเที่ยวจีน ไม่ยอมกู้ขึ้นจากทะเล อ้างน้ำลึก ไม่กระทบในการเดินเรือ ขณะที่อธิบดีกรมเจ้าท่าไม่ยอมต้องกู้มาตรวจสอบ เพราะมีผลทางคดี จุดเรือจมอยู่ใกล้แนวปะการัง เบื้องต้นใช้งบ 10 ล้าน เตรียมฟ้องทางแพ่งบังคับจ่าย

จากกรณีเรือฟีนิกซ์มรณะ ล่มกลางทะเลบริเวณระหว่างเกาะเฮ เกาะราชา จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา จนมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตจำนวน 47 ราย ส่วนเรือซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ บรรทุกผู้โดยสารได้กว่า 100 คน จมอยู่ในทะเลในระดับน้ำลึก 40 เมตร ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการกู้เรือลำดังกล่าวขึ้นจากทะเล

ล่าสุดวันนี้ (5 ส.ค.) ที่ท่าเทียบเรือน้ำลึก จ.ภูเก็ต นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการกู้เรือฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นเรือท่องเที่ยวที่ล่มกลางทะเลอันดามัน บริเวณหน้าเกาะเฮ – เกาะราชา จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางกรมเจ้าท่าได้มีคำสั่งให้เจ้าของเรือกู้เรือลำที่เกิดเหตุขึ้นจากทะเล แต่เมื่อครบกำหนดทางบริษัทแจ้งว่าจะไม่ดำเนินการกู้เรือลำดังกล่าว ทางกรมเจ้าท่าจึงต้องดำเนินการกู้เรือขึ้นมาเอง

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกรมได้ออกคำสั่งให้เจ้าของเรือกู้เรือแล้ว เพราะตามกฎหมายทางเจ้าของเรือจะต้องกู้เรือขึ้นมาเพื่อให้มีการตรวจสอบ แต่เมื่อครบกำหนดเจ้าของเรือไม่กู้ โดยอ้างว่าเรือจมอยู่ในน้ำที่ลึกมาก จุดที่เรือจมไม่กระทบต่อการเดินเรือและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในส่วนของทางกรมเจ้าท่ามีความเห็นว่าจะต้องกู้เรือลำดังกล่าวขึ้นมา เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเกิดเหตุเรือล่ม ตามกฎหมายพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย ทั้งนี้เจ้าของเรือได้รับทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ทางกรมเจ้าท่า ได้ให้เวลากับเจ้าของเรือ 20 วัน ในการกู้เรือขึ้นมาให้ได้ แต่เจ้าของเรือ ได้แต่งตั้งตัวแทนขึ้นมาและแจ้งว่าจะไม่ดำเนินการกู้เรือดังกล่าว

ดังนั้น เมื่อครบกำหนดและเจ้าของเรือไม่ดำเนินการกู้เรือ ทางกรมเจ้าท่า จะดำเนินการกู้เรือขึ้นมาให้ได้ โดยมีการวางแผนการกู้เรือ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม เป็นต้นมา  ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์  นักประดาน้ำ  โดย 3 วันที่ผ่านมา มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ ได้ส่งนักประดาน้ำ และ ทีมงานประมาณ 20 คน ลงไปติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆใต้น้ำ ในการลงไปสำรวจเรือใต้น้ำพบว่า ขณะนี้มีทรายเข้าไปในเรือประมาณ 10 %ของตัวเรือ สภาพเรือด้านท้ายยุบเสียหาย ความลึกของน้ำประมาณ 45 เมตร  ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ลึกมาก ความยากคือการลงไปทำงานใต้น้ำซึ่งจะต้องใช้นักประดาน้ำที่มีความชำนาญ  ขณะนี้ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ใต้น้ำได้ประมาณ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว และคาดว่าวันนี้จะไปติดตั้งอุปกรณ์ได้นำเพิ่มเติม ซึ่งก็จะแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ในงานใต้น้ำ

ส่วนงานต่อไปคืองานที่จะต้องนำอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปเกี่ยวคล้องกับงานของใต้น้ำ การที่จะยกเรือขึ้นมา ต้องใช้อุปกรณ์หลักๆ 3 ชนิด คือ บอลลูน ความจุ 10,000 ลิตร  ที่จะนำลงไปยกเรือใต้น้ำ สลิง ที่จะยกผูกติดกับเรือและยกขึ้นมา พร้อมทั้งเครนตัวใหญ่ ที่จะใช้ในการยกเรือขึ้นมา ซึ่งในแผนการที่กำหนดไว้ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสามารถนำเรือขึ้นมาได้

นายจิรุตม์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากกู้เรือขึ้นมาแล้วจะนำเรือไปขึ้นคาน เพื่อตรวจสอบต่อไปว่า เรือมีความสมบูรณ์ หรือไม่ อย่างไร มีการดัดแปลงเรือหรือไม่ โดยจะขึ้นคานไว้ 30 วัน ที่คานเรือรัตนชัย ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบร่วมกัน ระหว่างกรมเจ้าท่า  ตำรวจเจ้าของคดี  และผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนค่าใช้จ่ายในการกู้เรื่อ จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการกู้เรือทั้งหมดกับทางบริษัทเจ้าของเรือที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในเบื้องต้นคาดว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของเจ้าของเรือฟินิกซ์ จะต้องกู้ขึ้นมา เนื่องจากเรือที่จมนั้นอาจจะกีดขวางการเดินเรือได้ในอนาคต และ อาจจะเป็นมลภาวะอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจุดที่เรือจมอยู่ห่างจากแนวปะการังเพียงแค่ 100 เมตร เท่านั้น

นายจิรุตม์ ยังได้กล่าวถึงมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุ ซ้ำว่า ขณะนี้สำนักงานเจ้าท่า ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว จังหวัด รวมทั้งทหารเรือ ในการตรวจสอบเรือในจังหวัดภูเก็ต ที่มีประมาณ 400 ลำ ขณะนี้ทางกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว ดำเนินการตรวจสอบเรือขนาดใหญ่ ไปแล้ว กว่า  100 ลำ ไม่ว่าจะเป็นเรือไดร์วิ่ง เรือที่บรรทุกผู้โดยสารขนาด 100 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบข้อบกพร่องของเรือ และกรมเจ้าท่า สั่งให้หยุดเดินเรือและให้ขึ้นคานเพื่อปรับปรุงโครงสร้างแล้ว  จำนวน 2 ลำ

และในขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรือขนาดเล็ก เนื่องจากการตรวจสอบเรือปกติจะตรวจปีละ 1 ครั้งเท่านั้น แต่หากเจ้าของเรือไม่บำรุงดูแลรักษาให้ดี  จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจในช่วงระหว่างปีด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมใช้ แนวทางการบริหารจัดการท่าเรือของจังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ นำร่อง เป็น  phuket model  ให้กับจังหวัดอื่นๆต่อไป.