เจ้าของโรงแรมภูเก็ตสุดทน หลังจังหวัดสั่งปิดตามมาตรการควบคุมโรคโควิด ฟ้องรัฐบาลเรียกค่าชดเชยความเสียหาย 242 ล้าน ระบุสั่งปิดแต่ไร้การเยียวยา

โพสเมื่อ : Saturday, July 10th, 2021 : 2.53 pm

เจ้าของโรงแรม 3 แห่งในภูเก็ตสุดทน หลังจังหวัดสั่งปิดโรงแรมแรมตามมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แต่ไร้การเยียวยา ฟ้องรัฐบาลเรียกค่าชดเชยความเสียหาย 242 ล้าน หรือ ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน

นายประพันธ์ บุญตันตราภิวัฒน์ เจ้าของโรงแรมในเครือบริษัท กมลาบีชอินท์ และบริษัท กัมพลธุรกิจ จำกัด ประกอบด้วยโรงแรม ภูเก็ต ทาวน์อินน์  โรงแรมกะรนวิว รีสอร์ท และโรงแรมกมลาบีชอินน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ เพื่อขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.นายกรัฐมนตรี 3.จังหวัดภูเก็ต โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ4. กระทรวงมหาดไทย จ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งปิดโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตและสถานประกอบการในลักษณะเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 จากมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อแก่ผู้เสียหาย ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2548 ซึ่งยื่นฟ้องไปทั้งหมดเป็นวงเงิน 242 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564

สำหรับสาเหตุการยื่นฟ้องในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่า การที่จังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งปิดธุรกิจโรงแรมทุกประเภทที่ผ่านมานั้น ทางจังหวัดภูเก็ตและรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือ หรือชดเชยรายรับที่หายไปแต่อย่างใด ในระยะเวลาที่มีคำสั่งให้ปิดโรงแรม ซึ่งโรงแรมของตนมีแต่รายจ่ายในทุกๆ เดือน โดยไม่เคยได้รับการชดเชยจากภาครัฐ หากโรงแรมจะเปิดบริการอีกครั้งต้องหาเงินมาเตรียมการเปิดเพื่อความสมบูรณ์ของโรงแรมที่มีให้กับแขกที่จะมาพัก มาซ่อมแซมเตรียมการ แม่ที่ผ่านมาภาครัฐจะมีประกาศให้สถาบันการเงินในประเทศช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่สิ่งที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแห่งเงินทุนต่างๆ ได้ มีแต่สถาบันการเงินเล่นงานหรือฟ้องร้อง บังคับคดีกับผู้ประกอบการโรงแรมต่างๆ

นายประพันธ์ กล่าวต่อไปว่า จากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงฯ ทั้งหมดที่โดนล็อกดาวน์ ตั้งแต่ 4 เม.ย.63 เป็นต้นไป เป็นเวลา 4 เดือนกับ 20 วัน ทำให้เศรษฐกิจภูเก็ตยังฟื้นไม่ได้จนถึงวันนี้ ซึ่งเราเพิ่งเปิดสนามบินเพื่อรับชาวต่างชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ถ้าเศรษฐกิจฟื้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของภูเก็ตก็ยังไม่ฟื้น ตนในฐานะผู้ประกอบการ ได้ปรึกษาทางทนายว่ามีช่องทางไหนที่จะสามารถฟ้องรัฐบาลให้จ่ายค่าชดเชย หรือออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน โดยให้กู้เงินระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ 2 % เป็นเวลา 10 ปี

ตนได้ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข ,นายกรัฐมนตรี ,ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ต่อศาลปกครองกลางที่กรุงเทพฯ มีอายุความ 1 ปี นับแต่ที่มีคำสั่ง ขณะนี้อายุความหมดไปแล้ว ตนเป็นผู้ประกอบการรายเดียวของภูเก็ต ที่ยื่นฟ้องรัฐบาล แต่ตนคิดว่าผู้ประกอบการในภูเก็ตอีกเป็นแสนที่ได้รับความลำบาก

อย่างไรก็ตามนอกจากจะฟ้องศาลปกครองแล้ว วันที่ 16 มี.ค. 64 ตนได้นำสำเนาเอกสารส่งไปยังกระทรวงสาธารณสุขด้วย และ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ทางกระทรวงสาธารณสุข มีเอกสารตอบกลับมา โดยใจความส่วนหนึ่งของหนังสือระบุ ว่า ตามที่ตนได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้พิจารณาจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยความเสียหายหายจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ที่สั่งปิดโรงแรมทุกประเภทในจังหวัดภูเก็ตเป็นเงินจำนวน ทั้งสิ้น  84 ล้าน รวมทั้งให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินโดยกู้ยืมเงินระยะยาวมีดอกเบี้ยต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายต่อไป ว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขทราบแล้วและมอบหน่วยงานมราเกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

นายประพันธ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไนก็ตาม นับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันนี้ ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่คดีนี้ได้โอนมาที่ศาลปกครองจังหวัดภูเก็ตแล้ว ซึ่งตนก็รอในส่วนของศาลปกครองจังหวัดภูเก็ตต่อไป ทั้งนี้ ที่ยื่นฟ้องเป็นความเสียหายตั้งแต่วันแรกที่ทางจังหวัดภูเก็ตประกาศปิดโรงแรม จนถึงบัดนี้รวมระยะเวลา 18 เดือน รัฐบาลไม่เคยสนใจ ไม่เคยที่เหลียวแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตเลย

ในกรณีที่ภูเก็ตถูกสั่งปิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำเฉย ความเดือดร้อน รายได้ที่ลดลงไป คนไม่มีจะกินถามว่าใครจะรับผิดชอบ รัฐบาลเปิดภูเก็ตวันที่ 1 ก.ค.64 ธุรกิจส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ก็ยังไม่ฟื้น ไปไม่รอด เพราะว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรที่มาช่วยภูเก็ต แต่รัฐบาลช่วยที่จังหวัดอื่นได้ เหมือนที่กรุงเทพ ในเร็วๆ นี้กระทรวงการคลังอนุมัติเงินออกมา 2,500 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ แต่ทำไมในภูเก็ตรัฐถึงไม่ช่วย ภูเก็ตเป็นจังหวัด ซึ่งเสียภาษี นำภาษี เข้าส่งส่วนกลางเยอะมาก แต่เวลานี้ ตอนนี้รัฐบาลช่วยอะไรคนภูเก็ตบ้าง ตนคิดว่าคนภูเก็ตตอนนี้เดือดร้อนหนักรัฐบาลต้องช่วยทุกๆ คน เพราะทุกๆ คน ก็เป็นคนไทย ไม่ใช่เลือกที่จะช่วย” นายประพันธ์ กล่าว และว่า

“ตอนนี้สถาบันการเงินทุกแห่งทุกประเภท ทั้งไฟแนนซ์ ธนาคาร ก็มาไล่ทวงเงินกับลูกหนี้ ซึ่งเป็นประชาชน รัฐบาลต้องมีกฎหมายชะลอการบังคับคดี ชะลอการฟ้องคดี ชะลอการขายทอดตลาด ตนคิดว่าน่าจะใช้เวลาสัก 2-3 ปี เพื่ออย่าไม่ให้ประชาชนทุกข์มากเกินไป ตนทำเอกสารเสนอผู้ใหญ่ไปว่าขอให้ชะลอการฟ้องคดี การบังคับคดี การขายทอดตลาด ทรัพย์สินของลูกหนี้ ตอนนี้ไม่มีใครมีเงิน เพราะเราไม่ได้ทำงาน 18 เดือน หรือ 1 ปี ครึ่ง และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะจบเมื่อไหร่”

“สิ่งที่ต้องการเรียกร้องจากรัฐบาลคือเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยา และเรื่องของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อที่จะนำเงินมาฟื้นฟูธุรกิจเพื่อให้สามารถเดินต่อไปได้”