เขตปกครองพิเศษมาเก๊า จับมือ ทน.ภูเก็ต ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร City of Gastronomy

โพสเมื่อ : Saturday, November 3rd, 2018 : 12.41 pm

เขตปกครองพิเศษมาเก๊า จับมือ เทศบาลนครภูเก็ต ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร City of Gastronomy สาธิตการทำอาหารท้องถิ่นของทั้งสองเมือง 3-4 พ.ย.นี้ สวน 72 พรรษาฯ

เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (2 พ.ย.) เทศบาลนครภูเก็ต นำโดยนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ร่วมกับ ท่องเที่ยวมาเก๊า ประจำประเทศไทย นำโดย นางอุรชา จักรธรานนท์ ผู้จัดการทั่วไป การท่องเที่ยวมาเก๊า ประจำประเทศไทย ร่วมสานสัมพันธ์ความร่วมมือ ระหว่างเทศบาลนครภูเก็ตกับเขตปกครองพิเศษมาเก๊า เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ City of Gastronomy เมืองแห่งความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมสู่อาหารท้องถิ่น เนื่องจากทั้งภูเก็ต และมาเก๊า ได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร โดยมีผู้บริหารเทศบาลนครภูเก็ต บริษัทนำเที่ยวในภูเก็ต และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ร้านตู้กับข้าว อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ต ได้รับการประกาศจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารเป็น 1 ใน 26 เมืองทั่วโลก เป็นเมืองแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนโดยจังหวัดภูเก็ต มีความเป็นยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสานสัมพันธ์ ความร่วมมือ กับเขตปกครองพิเศษมาเก๊า ในการร่วมกันประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ส่งเสริมการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยากรอาหาร ภายใต้แนวคิด City of Gastronomy เมืองที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ผสมผสานความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา สะท้อนวิถีชีวิตสู่ศิลปะทางด้านอาหาร

จังหวัดภูเก็ตและเขตปกครองพิเศษมาเก๊า ทั้ง 2 เมือง ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในด้านการถ่ายทอดวัฒนธรรม สู่อาหารอันหลากหลาก ที่เกิดจากชุมชนต่างๆในภูเก็ต อาทิ ชาวบาบ๋า เพอรานากัน ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยฮินดู ชาวเล เป็นต้น ทำให้ภูเก็ตเสมือนเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม เมื่อผ่านห้วงเวลากว่าหนึ่งร้อยปี จึงก่อเกิดอัตลักษณ์ที่งดงาม ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม การแต่งกาย ประเพณี รวมถึงอาหารภูเก็ต ที่ไม่สามารถพบได้ในที่อื่น อีกทั้งจังหวัดภูเก็ตมีสถาปัตยกรรม และยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีความหลากหลาย และคงไว้ซึ่งความเป็นตัวตนคนพื้นที่อย่างแท้จริง

นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวเพิ่มว่า กิจกรรมที่จังหวัดภูเก็ตและ เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ได้ร่วมมือกันกิจกรรมแรก คือ หนึ่งในกิจกรรม ของงานเทศกาลหุ่นโลกภูเก็ต 2561 (Phuket Harmony World Puppet Festival 2018) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน นี้ ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) ถนนถลาง และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ถนนกระบี่ เป็นกิจกรรมสาธิตการทำอาหารท้องถิ่นของทั้ง 2 ประเทศ และนอกจากกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นแล้ว จะมีกิจกรรมที่จะร่วมดำเนินงานด้านความร่วมมืออีกในครั้งต่อไป เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารที่ก่อเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อพลเมืองภูเก็ต และพลเมืองเขตปกครองพิเศษมาเก๊า เพื่อร่วมการทำงานและพัฒนา สู่ความยั่งยืนตลอดไป

ด้าน นางอุรชา จักรธรานนท์ ผู้จัดการทั่วไป การท่องเที่ยวมาเก๊าประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ ( พศ. 2561 ) เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นเมือง City of Gastronomy ซึ่งภูเก็ตเอง ก็ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความร่วมมือกันของทั้ง 2 เมืองขึ้น และด้วยบริบทของภูเก็ต และเขตปกครองพิเศษมาเก๊า มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งในเรื่องของ สภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมาก เขตปกครองพิเศษมาเก๊า มีวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่หลากหลาย รวมถึงภูมิประเทศที่เป็นเกาะในสมัยโบราณค้าขายด้วยการล่องเรือมาจากโปรตุเกส และได้ผ่านหลายๆเมือง หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น จีน

ทำให้อาหารเขตปกครองพิเศษมาเก๊า จึงมีความผสนผสานของเครื่องเทศ และสูตรจากที่ต่างๆ ที่ร่องเรือมา จนพัฒนาเป็นอาหารแมงกานีส ซึ่งถือเป็นต้นตำรับของอาหารฟิวชั่นในปัจจุบัน รวมทั้งมาเก๊า เองก็ขึ้นชื่อเรื่องอาหารจีนกวางตุ้ง เพราะคนจีนที่อยู่ที่มาเก๊า    โดยส่วนใหญ่คือจีนกวางตุ้งอีกด้วย

นอกจากนี้ เขตปกครองพิเศษมาเก๊ายังมีร้านอาหารระดับมิชลินถึง 17 ร้านให้นักท่องเที่ยวได้เลือกชิมไม่ว่าจะเป็นอาหารจีน โปรตุเกส อิตาเลี่ยน และญี่ปุ่น เป็นต้น และอีกหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงนี้ คือ สะพานข้ามจากฮ่องกงสู่มาเก๊า และจูไห่ ได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวถึง 55 กิโลเมตร ใช้เวลาการก่อสร้างนานถึง 9 ปี ตั้งแต่ปี 2546 ใช้เหล็กมากถึง 4 แสนตัน ซึ่งเหล็กทั้งหมดสามารถสร้างหอไอเฟลถึง 60 แห่ง

โดยสะพานนี้ถือเป็นการเชื่อมเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำเพิร์ล ซึ่งจะช่วยให้การคมนาคม สะดวกมากขึ้น จากการที่นักท่องเที่ยวอาจจะต้องข้ามเฟอร์รี่มาจากฮ่องกง สามารถเดินทางได้โดยรถบัส สู่มาเก๊า และจูไห่ สู่มณฑลต่างๆ ในประเทศจีน ด้วยรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย โดยสะพานนี้ ซึ่งถือเป็นความยิ่งใหญ่แห่งสถาปัตยกรรมที่นักท่องเที่ยวชาวไทยควรจะไปเยือน