เก็บกู้พรุ่งนี้ระเบิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โผล่หาดในยาง จ.ภูเก็ต 

โพสเมื่อ : Wednesday, October 4th, 2017 : 10.21 pm

 เจ้าหน้าที่ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ ทัพเรือภาคที่ 3 เข้าตรวจสอบวัตถุคล้ายตอร์ปิโดโผล่หาดในยางแล้ว ยืนยันเป็นระเบิดแต่ไม่ทราบชนิด คาดถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ก่อนสงความโลกครั้งที่ 2 เตรียมเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ปลอดภัยพรุ่งนี้ ก่อนนำไปทำลาย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ ( 4 ต.ค. ) เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3  ภายใต้อำนวยการของ พล.ร.ต.เจริญพล  คุ้มราศรี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3  ซึ่งประจำการอยู่ที่ฐานทัพเรือพังงา นำโดย ร.ท.ธนกฤต แจ่มจิตร หัวหน้าชุดฯ พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ 4 นาย เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยซึ่งมีลักษณะคลายระเบิดตอปิโด ซึ่งพบอยู่ในทะเลบริเวณหาดในยาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พื้นที่เป้าหมายตามที่ได้รับแจ้ง

โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นำโดย พ.ต.อ.วิทูรย์ กองสุดใจ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.อ.จิรศักดิ์ เสียมศักดิ์ ผกก.สภ.สาคู พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รอง ผบ.ร 25 พัน 2 ชุดรักษาความสงบ จ.ภูเก็ต กองทัพภาคที่ 4 และเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ทัพเรือภาคที่ 3 นำโดย ร.ท.ทักษิณ พุกลิ้ม หัวหน้าชุดประสานงานรักษาความสงบทัพเรือภาคที่ 3

ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ฯ ได้ทำการวัดขนาดแท่งเหล็ก พบมีความยาวประมาณ 4.56 เมตร  และมีเส้นรอบวง 150 เซนติเมตร จากนั้นได้ทำการขุดเปิดทรายบริเวณโดยรอบแท่งเหล็กออกเพื่อดูรายละเอียดของวัตถุดังกล่าว โดยพบว่า บริเวณส่วนหัวมีลักษณะคล้ายปีกเล็กๆ ส่วนกลางของวัตถุด้านบนมีลักษณะเป็นปุ่มคล้ายจุดเติมเชื้อเพลิงใกล้กันมีหูเกี่ยวตะขอ และบริเวณส่วนท้ายมีลักษณะเรียวเล็ก ส่วนปลายตัดท่อน และมีโลหะชิ้นอื่นฝังอยู่ในทรายใกล้เคียงคล้ายเป็นหางเสือ

ร.ท.ธนกฤต แจ่มจิตร หัวหน้าชุด ชุดถอดทำลายอมภัณฑ์ฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบลักษณะภายนอกในเบื้องต้น ยังไม่สามารถยืนยันชัดเจนว่าเป็นตอปิโดทางน้ำ หรือ เป็นระเบิดทางอากาศ(บอม) เนื่องจากวัตถุดังกล่าว เป็นวัตถุที่ทำจากเหล็กกล้าค่อนข้างมีอายุมาก แต่สภาพภายนอกยังค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นวัตถุที่ไม่เคยพบในสารระบบของสรรพาวุธที่เคยศึกษามา และไม่พบว่ามีการใช้ในกองทัพของไทย คาดว่าน่าจะมีก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2482) แต่ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ถือว่าเป็นวัตถุอันตราย ซึ่งต้องนำไปทำลายอย่างเร่งด่วน ส่วนจะเป็นวิธีการใดนั้นจะต้องมีการหารือกับทางอุทยานฯ อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะนำข้อมูลรายละเอียดแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และแจ้งแนวทางให้กับทางเจ้าของพื้นที่ทราบว่า ควรดำเนินการอย่างไร โดยเบื้องต้นจะนำขึ้นมาเก็บไว้ในที่ปลอดภัยก่อน หลังจากนั้นจะนำไปทำลายต่อไป อาจจะนำไปทำลายในทะเลลึกที่จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะต้องรอการสั่งการอีกครั้ง;ว่าจะมีการทำลายอย่างไร

 

สำหรับการเคลื่อนย้ายวัตถุดังกล่าว จะเคลื่อนย้ายในวันพรุ่งนี้ ( 5 ต.ค.) ซึ่งจะต้องรอให้น้ำลง ส่วนวันนี้ยังไม่สามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายได้จาก ช่วงเย็นระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นทางเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้นำทุ่นขาดใหญ่ 2 ทุ่น มาผูกติดตั้งเป็นสัญลักษณ์ไว้เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการวันพรุ่งนี้ (5ต.ค.)