สายสลิงขาด  รื้อรูปหล่อหลวงพ่อแช่มสร้างผิดส่วน ที่วัดพระนางสร้าง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

โพสเมื่อ : Wednesday, January 31st, 2018 : 10.05 pm

ทั้งฝนตกหนัก สายสลิง ขาด กว่าจะรื้อได้!  รูปหล่อหลวงพ่อแช่ม เกจิชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต ที่ก่อสร้างไว้บริเวณหน้าวัดพระนางสร้าง อ.ถลาง จ.ภูเก็ตหลังโซเชียวร้องสร้างผิดส่วน เจ้าหน้าที่ต้องเปลี่ยนแผนรื้อ

เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ ( 31 ม.ค.)  พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต นำโดย พระราชสิริมุนี เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต, พระครูเมตตาภิรม เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต, พระครูพรหมประภัสสร เจ้าคณะอำเภอถลาง รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต นายทวี หอมหวล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต นายปิยวัฒน์ จิรจามรนายกเทศมนตรีตำบลเทพกระษัตรี

 

พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมสังเกตการณ์ และ วางแผนในการรื้อถอนรูปหล่อหลวงพ่อแช่ม เกจิชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต วัดฉลอง หรือวัดไชยธาราราม ขนาดความสูง 30 เมตร ซึ่งมีการก่อสร้างไว้บริเวณหน้าวัดพระนางสร้าง หลังมีการร้องเรียนผ่านโซเซียลมีเดีย ว่า รูปหล่อหลวงพ่อแช่มดังกล่าว มีขนาดไม่สมส่วน และ เป็นสิ่งก่อสร้าง 1 ใน 17 รายการ ที่คณะกรรมการพัฒนาวัดพระนางสร้าง ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะสงฆ์จังหวัดภูเก็ต มีมติให้ทำทุบทำลาย รื้อถอนและเคลื่อนย้ายไปยังจุดเหมาะสม ก่อนที่จะมีการภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณรอบวัดต่อไป

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางจังหวัด และวัด ร่วมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มีการประกอบพิธีบวงสรวง ตามหลักศาสนาและความเชื่อ ทั้งพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์ไปแล้ว เพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  ก่อนทำการการปรับภูมิทัศน์และปรับทัศนียภาพ รวมทั้งรื้อถอนและทุบทิ้ง เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา

 

หลังจากประกอบพิธีบวงสรวง ก็ได้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบางรายการที่อยู่บริเวณรอบฐานองค์หลวงพ่อแช่ม ไปแล้ว บางส่วน อาคารเก๋งจีน รูปปั้นเซียน รูปปั้น รูปปั้นพระพิฆเนศ เป็นต้น

สำหรับการรื้อถอนในครั้งนี้เป็นการรื้อถอน องค์พระหลวงพ่อแช่ม ขนาดใหญ่ ซึ่งการรื้อถอนทำได้ยาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ นำเครื่องจักรหนัก เช่น รถแบ็คโฮ รถเครน และคนงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงภาคเอกชนในพื้นที่ มาร่วมกันรื้อถอนรูปหล่อองค์หลวงพ่อแช่ม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากเป็นรูปหล่อที่มีขนาดใหญ่และมีความสูงถึง 30 เมตร

สำหรับการรื้อถอนในครั้งนี้ เริ่มจากการใช้ลวดสลิง ผูกรัดบริเวณมือซ้าย ซึ่งถือไม้เท้าให้หักลงมา จากนั้นจึงได้ใช้ลวดสลิงรัดไปที่ส่วนลำตัวท่อนบน เพื่อดึงให้ร่วงลงมา แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากลวดสลิง มีขนาดเล็ก ประกอบกับระหว่างนั้นก็ได้มีฝนตกลงมาประมาณ 15 นาที

จากนั้นได้เปลี่ยนแผน โดยนำสายสลิง รัดบริเวณมือขวา ซึ่งถือพัดยศให้ร่วงลงมา โดยครั้งแรกไม่สำเร็จเนื่องจาก สายสลิงขาด แต่สุดท้ายก็สามารถดำเนินการจนสำเร็จ ต่อจากนั้นได้วางแผนว่าจะใช้วิธีเดียวกันเพื่อดึงในส่วนของเศียรลงมา แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จเพราะสายสลิง ขาดถึง 2 ครั้ง

จึงได้มีการวางแผนกันใหม่ โดยใช้รถแบ็คโฮ กะเทาะ เอาส่วนของนิลและปูนที่เคลือบองค์พระออก และ เจาะเสาค้ำซึ่งห่อไว้ด้วยเหล็กเส้นเพื่อยึดองค์พระไว้ออก จากนั้นก็ใช้รถแบ็คโฮกะเทาะพนักเก้าอี้ ก่อนที่องค์พระจะพังลงมาทั้งองค์  โดยมีประชาชนมาคอยเฝ้าสังเกตการณ์และติดตามการรื้อถอนเป็นจำนวนมาก