“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จ.ภูเก็ต

โพสเมื่อ : Sunday, December 29th, 2019 : 12.04 pm

 “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จ.ภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์รักษาสัตว์ทะเลหายากและแหล่งเรียนรู้ของประชาชน”

เมื่อวันที่ ๒๘ ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดพิธีเปิดศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จ.ภูเก็ต อย่างเป็นทางการ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระดำเนินเป็นองค์ประธาน โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ในสังกัดกระทรวงฯ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจในพื้นที่ ร่วมเฝ้ารับเสด็จ ณ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลหรือศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ไม่มากนัก อีกทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นในการช่วยเหลือสัตว์แต่ละชนิดก็มีความเฉพาะ สัตว์หลายชนิดไม่สามารถรักษาได้ หรืออาจจะรักษาได้ไม่ทันท่วงที ยิ่งหากเป็นสัตว์ทะเลหายากที่เหลือจำนวนไม่มากนัก เราคงต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษาไว้ให้ได้ “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” จ.ภูเก็ต จึงถูกดำริขึ้น นับเป็นศูนย์รักษาและอนุบาลสัตว์ทะเลหายากที่เจ็บป่วย หรือได้รับอันตรายจากเหตุต่าง ๆ โดยมีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการรักษา รวมถึงทีมสัตวแพทย์และสถานพักรักษาสัตว์ทะเลหายากต่าง ๆ.

นอกจากนี้ นับเป็นโชคดีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสนพระทัยและทรงห่วงใยสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเล และพะยูน เป็นต้น ทรงรับ “น้องมาเรียม” ไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และทรงพระราชทานชื่อ “ยามีล” พะยูนน้อยเพศผู้ ที่ถูกพบในพื้นที่ จ.กระบี่ และได้รับการอนุบาลไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต

และในวันนี้ ทรงพระกรุณาเสด็จเป็นประธานเปิด “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” พร้อมเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ เยี่ยมชมภายในอาคารและการดำเนินงานของศูนย์ฯ และทรงปล่อยเต่าทะเล จำนวน ๒ ตัว ลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานของศูนย์ให้มีความสมบูรณ์และสามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งขยายผลการดำเนินงานภายในศูนย์แห่งนี้ และหากเป็นไปได้จะให้เปิดศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อจะได้รักษาทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศให้สมบูรณ์และยั่งยืน ต่อไป

ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า การก่อสร้างศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร เริ่มก่อสร้างในปี 2561 สมัยตนยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ทะเลทุกชนิด รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเสด็จเป็นองค์ประธานทรงวางศิลาฤกษ์ และ พระราชทานนามอาคารว่า “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร”

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เตรียมนำแนวนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปต่อยอดในการเสริมสร้างศักยภาพของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากแห่งนี้ ให้สามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และให้สามารถรองรับการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากได้มากยิ่งขึ้น

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีพื้นที่ใช้สอยรวม 2,359ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารหลัก 2อาคาร ได้แก่ อาคารแรก เป็นส่วนรับและพักฟื้นสัตว์ทะเลที่ป่วย ประกอบด้วย บ่อสำหรับรักษาพยาบาลสัตว์ทะเลหายากที่เลี้ยงลูกด้วยนม บ่อสำหรับการรักษาพยาบาลสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นและสัตว์ป่วย บ่อสำหรับฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ทะเลหายากที่ยังไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ และอาคารปฏิบัติการ ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรค ตรวจเลือด เนื้อเยื่อ และฉายรังสี การจัดทำระบบจัดการน้ำ และพื้นที่ผ่าชันสูตรซากสัตว์ทะเลหายากพร้อมระบบฆ่าเชื้อและจัดการปฏิกูล

ห้องสำนักงาน และห้องอเนกประสงค์ ซึ่งดำเนินการโดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 119,618,000 บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 อย่างไรก็ตาม หลังจากพิธีเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการแล้ว จะเริ่มย้ายสัตว์มารักษาและอนุบาลภายในศูนย์ และ จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาหาความรู้ รวมทั้งจะขยายเพิ่มส่วนแสดงนิทรรศการและส่วนช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก เพื่อให้ได้มาตรฐานและให้ประโยชน์แก่ประชาชนและผู้สนใจ คาดว่าจะสามารถรองรับผู้สนใจได้กว่า 150,000 คนต่อปี

ข้อมูลและภาพจากเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง