สมาชิก สนช. เปิดเวทีโครงการรับฟังปัญหา คนภูเก็ตร่วมเสนอ สารพันปัญหา ส่งผลกระทบการพัฒนาไม่ถึงไหน

โพสเมื่อ : Sunday, February 4th, 2018 : 2.12 pm

สมาชิก สนช. เปิดเวทีโครงการรับฟังปัญหาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เร่งนำข้อมูลทุกปัญหาไปสู่การแก้ไขภายใต้บทบาทอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังเป้าหมายที่ว่า “สะท้อนปัญหา นำพาแก้ไข ห่วงใยประชาชน” หลายภาคส่วนส่วนนำเสนอสารพัดปัญหาที่ทำให้การพัฒนาเมืองภูเก็ตหยุดชะงัก

วันนี้ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00 น. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุคนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะสมาชิกสภานิติแห่งชาติจำนวน 29 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากคณะกรรมาธิการสามัญคณะต่างๆของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ,ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี และ ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมพบปะรับฟังปัญหาของประชาชนจังหวัดภูเก็ต ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตชั้น 2 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ,ข้าราชการ,ตัวแทนภาครัฐ เอกชนและประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม จำนวนมาก

ทั้งนี้นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าว  ก่อนเปิดเวทีให้ประชาชนได้ซักถามและแสดงความคิดเห็น ว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมีพื้นที่รวม 543 ตารางกิโลเมตร มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ประมาณ 4 แสนคน โดยมีประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าวมากกว่า 2 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตปีละมากกว่า 13 ล้านคน

ทั้งนี้ภูเก็ตสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละมากกว่า 3 แสนล้านบาท ถือเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้สิ่งดึงดูดที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ตคือความสวยงามของธรรมชาติ,หาดทรายชายทะเลและมรดกวัฒนธรรมรวมถึงมรดกด้านสถาปัตยกรรมจึงถือได้ว่าจังหวัดภูเก็ตมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความพร้อมมูลอุดมสมบูรณ์และเป็น 1 ใน 10 ของแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

จังหวัดภูเก็ตมีเป้าหมายในการพัฒนาคือเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการศึกษานวัตกรรมระดับ นานาชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่เมืองที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้จังหวัดภูเก็ตยังได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์วิทยาการด้านอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 18 เมืองทั่วโลกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

สำหรับจังหวัดภูเก็ตมีปัญหาสะสมหลายๆ เรื่อง เช่น ปัญหาการจราจรที่ติดขัด,ปัญหาการขยายตัวของเมือง,ปัญหาน้ำท่วม,ปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่เกิดจากปัจจัยด้านการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วนั่นเอง

ดังนั้นจังหวัดภูเก็ตจึงมีแผนในการพัฒนาจังหวัดโดยมีโครงการต่างๆมารองรับได้แก่ โครงการพัฒนาประตูเมืองให้เป็น Landmark ,การพัฒนาภูเก็ตเมืองสมาร์ทซิตี้,การขับเคลื่อนโครงการ Sport Complex, การพัฒนามัคคุเทศก์ที่มีความรู้ความสามารถมีศักยภาพรวมถึงการเร่งพัฒนาจังหวัดให้เป็นเมืองศูนย์กลาง Medical Hub แล ะเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล,การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเรือยอร์ชการท่องเที่ยวทางทะเล

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีความซับซ้อนเนื่องจากติดขัดในแง่ของระเบียบข้อกฎหมายที่ยังไม่มีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ดังนั้นจังหวัดภูเก็ตจึงอยากจะให้รัฐบาลมีการปรับปรุง กฎข้อระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตเพื่อจะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชน

จากนั้น ได้เปิดเวทีเสวนา โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวเปิดโครงการ และ ชี้แจงบทบาทอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมจัดให้มีเวทีเสวนา โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กล่าวถึงผลงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผลงานของรัฐบาล,นางสาวประภัสสร อัมราลิขิต ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงโครงการที่สำคัญของรัฐบาลและร่วมรับฟังปัญหาของประชาชน และนายสนิท ศรีวิหครองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้แทนจังหวัดภูเก็ตร่วมการเสวนา โดยมีนายอนุมัติ อาหมัด สภาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินรายการ

การจัดกิจกรรมได้รับความสนใจจากประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตร่วมเสนอปัญหาซักถามปัญหา เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตอบข้อซักถามและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในหลายประเด็น ประกอบด้วย การบุกรุกที่ดินสาธารณะ ปัญหาที่ดินทำกินปัญหาด้านการจราจรปัญหาน้ำเสียปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , ปัญหาการดูแลนักท่องเที่ยว เพื่อสร้าง การท่องเที่ยวคุณภาพ ,การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ฯลฯ

นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีตสมาชิกวุฒิสภาภูเก็ต และ นายเรวัต อารีรอบ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต ได้นำเสนอปัญหาของจังหวัดภูเก็ต โดยมีการระบุ ว่า ปัญหาการพัฒนาของจังหวัดภูเก็ต อยู่ที่ การอนุมัติงบประมาณจัดสรรลงสู่พื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งในการอนุมัติงบประมาณนั้นไม่ไม่อยากจะให้รัฐบาลคำนวณ จากจำนวนของประชากร เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมากแต่งบประมาณที่จัดสรรลงมามีเพียงน้อยนิด ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาของพื้นที่ดังนั้นรัฐบาลควรมีการแก้ไขกฎระเบียบภาษีให้มีความชัดเจนเพื่อประโยชน์ของจังหวัดภูเก็ต

ขณะที่ ด้านปัญหาการจราจร พบว่า ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตการเปิดสัญญาณไฟจราจร ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและของตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตนั้นไม่มีความสอดคล้อง กันดังนั้นหากแก้ตกลงนี้ได้จะสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดของจังหวัดภูเก็ตได้

นอกจากนั้นยังมีการนำเสนอกรณีปัญหา ที่อยู่อาศัยของชาวเลเกาะสิเหร่ ซึ่งขณะนี้กำลังมีปัญหาถูกไล่ที่อยู่อาศัยจากนายทุนที่อ้างสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน ร่วมทั้งปัญหาผลกระทบด้านการประกอบอาชีพจากการจัดระเบียบชายหาดที่ยังมีปัญหาต่อชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้ง และการจัดงบประมาณที่ได้น้อย ในขณะที่มีคนอยู่มากไม่สอดคล้องกัน ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลราไวย์ ได้นำเสนอถึงปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์บนเกาะราชา ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของชาวบ้านไม่สามารถที่จะออกเอกสารสิทธิ์ได้ ขณะที่ในส่วนของนายทุนสามารถที่จะออกเอกสารครอบครองที่ดินได้

ทั้งนี้ทุกปัญหาที่ประชาชนนำเสนอสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะรวบรวมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตต่อไป

สำหรับการจัดกิจกรรมในช่วงเช้าของวันนี้(4 ก.พ.61) นอกจากจะเป็นเปิดเวทีโครงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่แล้วในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 2 คณะ โดยคณะที่ 1  ได้ลงพื้นที่เพื่อไปรับฟังสภาพปัญหา ด้านเยาวชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ โรงเรียนสตรีภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต และ คณะที่ 2 เดินทางไปรับฟังปัญหาของกลุ่มสตรี ในจังหวัดภูเก็ต ณ หอประชุมโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ภูเก็ต

อย่างไรก็ตามในช่วงบ่าย คณะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดจะเดินทางไปประชุมหารือร่วม กับ ส่วนราชการต่างๆของจังหวัดภูเก็ต ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตเพื่อสรุปข้อมูลปัญหาเกี่ยวกับปัญหาด้านที่ดินทำกิน,ปัญหาการจัดระเบียบการจัดพื้นที่ชายหาดในจังหวัดภูเก็ต,ปัญหาการวางผังเมืองการคมนาคม,ปัญหาอุทกภัยในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงปัญหาการบูรณาการการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน และ การบริหารจัดการสาธารณสุขของจังหวัดภูเก็ตเพื่อนำไปสู่การแก้ไขภายใต้บทบาทอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป