สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจับมือภาครัฐเดินสายฟังปัญหาผู้ประกอบการ

โพสเมื่อ : Sunday, August 30th, 2020 : 2.35 pm

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จับมือหน่วยงานภาครัฐ เดินสาย จัดโครงการ “เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ” รับฟังปัญหาและความเดือดร้อนของผู้ประกอบการทั่วประเทศรวบรวมนำเสนอรัฐบาลแก้ไข


เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านที่ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิด โครงการโรดโชว์ “เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ” ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ร่วมกับกรมอนามัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยว TCEB องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องศ์การมหาชน) หรือ อพท. จัดขึ้น ที่โรงแรมเดอะเวสตินสิเหร่เบย์ รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย นายอุดม มัตสยะวนิชกุล ผอ.กองทะเบียนธุรกิจท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว นายบุญทวี ดำรงรัตน์ ผอ.กลุ่มงานอำนวยการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วม

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า การจัดโครงการ “เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ” โครงการพัฒนาศักยภาพ มาตรฐานท่องเที่ยวและแนวทางการจัดการของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ระหว่างและหลังสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ (โควิด-19 ) เป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยว กรมอนามัย รวมถึง TCEB จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้รับกระทบโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะดีขึ้น และมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จในปี 2564 จึงสามารถฟื้นฟูกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้

ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีการออกมาตรการเยียวยา และแก้ไขปัญหาช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการเยียวยาทางด้านภาษีทั้งหมด 6 มาตรการ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างจากการปิดกิจการสถานประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ แต่ยังไม่สามารถแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ

ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทาง สทท.จึงได้จัดทำโครงการ “เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ” เพื่อพัฒนาศักยภาพและแนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินการในช่วงระหว่างนี้ และภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดได้สิ้นสุดลง อีกทั้งยังเพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแนววิถีใหม่ “New Normal” ตามโครงการแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA)

จึงได้เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่จะมีการเดินสายจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยจะมีการบรรยายจากตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมอนามัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายจากผู้แทน อพท.และผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม workshop หัวข้อ ทิศทางการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 รวมถึงการเสวนาภายใต้หัวข้อ ทิศทาง ภูเก็ต โมเดล เพื่อเปิดการท่องเที่ยวประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้แทนจากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะเดียวกัน จะมีการลงพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนในภูเก็ตอีกด้วย

นายชัยรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัญหาและแนวทางในการแก้ปัญหาด้านการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนทาง สทท.จะรวบรวมนำเสนอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการลงพื้นที่และเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี หัวหิน และภูเก็ต พบว่า ผู้ประกอบการประสบปัญหาเดียวกัน คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs การพักชำระหนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะได้ครบกำหนดที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือ

ด้านนายบุญทวี ดำรงรัตน์ ผอ.กลุ่มงานอำนวยการด้านสินค้า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวนั้น ทาง ททท.ได้ดำเนินการโครงการแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว 10 สาขา เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร แหล่งท่องเที่ยว ศูนย์ความงาม เป็นต้น

เพื่อเป็นบรรทัดฐานและเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยแก่นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวเกือบ 5 พันรายแล้ว และคาดหวังว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะได้รับเครื่องหมายมาตรฐานมากกว่านี้