สธ.จุดพรุ ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน เทียบอีอีซี นำไทยเป็นมหาอำนาจด้านสุขภาพโลก

โพสเมื่อ : Friday, January 21st, 2022 : 7.18 pm

 

สธ. โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผนึกกำลัง มอ. กฎบัตรไทย บริษัทอันดามันพัฒนาเมือง โดยการสนับสนุน บพท.ระดมเห็น เสนอเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน เทียบเท่า อีอีซี สร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเวลเนส ขอแชร์ตลาดเวลเนสโลก 10 % หรือ 24,500 ล้านบาท ในปี 70

วันนี้ ( 21 ม.ค.) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานเปิด การประชุมระดมความเห็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor) หรือ AWC ณ ห้องประชุมเก็ตโฮ่ ชั้น 5 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และ ออนไลน์ผ่านระบบZoom โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม  นายจำเริญ ทิพฯพงศ?ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายพิเชษฐ์ ปาณะพงส์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รศ. ดร.ปุ่น เที่ยงฐุรณธรรม รองผู้อำนวยการหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนาระดับพื้นที่  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวในการเปิดประชุมว่า กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพหรือเศรษฐกิจเวลเนส ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการยกระดับเศรษฐกิจเวลเนสให้เป็นสาขาหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยให้วางแผนปฏิบัติการยกระดับสมรรถนะกิจการเวลเนสและสร้างพื้นที่เศรษฐกิจเวลเนสให้เร็วที่สุดเพื่อรองรับการบริการนักท่องเที่ยวสุขภาพซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูง พร้อมการพัฒนามาตรฐานเวลเนสทุกสาขา โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีนโยบายพัฒนาใบอนุญาตเวลเนสใบเดียว หรือ wellness single license เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงแรมและกิจการเวลเนสสามารถนำกิจกรรมเวลเนสสาขาต่างๆ อาทิ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ตะวันออก งานเวชกรรมประเภทบริการความงาม สปา การฟื้นฟูสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ หรือดิจิทัลเฮลท์ เข้าดำเนินการในโรงแรมได้ นับเป็นการเพิ่มจุดขายด้านสุขภาพในพื้นที่โรงแรมเช่นเดียวกับต่างประเทศ

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดทำแนวคิดการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามันให้เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาเศรษฐกิจส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น โดยสร้างแผนปฏิบัติการพิเศษให้เวลเนสเป็นหัวจักรแบ่งส่วนตลาดโลก ด้วยพื้นที่อันดามันมีความพร้อมด้านสมรรถนะของโรงแรมเวลเนส เนื่องจากกรมฯ กับกฎบัตรไทยได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหาร มีโรงแรมผ่านการฝึกอบรมไปแล้วจำนวน 110 แห่ง นอกจากนั้น จังหวัดภูเก็ตยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถานที่จัดงาน International Wellness Expo ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานและงบประมาณไปแล้วเช่นกัน รวมทั้ง ภูเก็ตยังมีความพร้อมทางด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ กรมฯ จึงร่วมกับกฎบัตรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ บพท. และองค์เครือข่ายจัดประชุมระดมความคิดเห็นการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน หรือ AWC เพื่อนำข้อเสนอจากภาคส่วนเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงาน Wellness hub คณะกรรมการ Medical Hub และคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

ส่วนประเด็นการสนับสนุนองค์ความรู้การวิจัยและนวัตกรรมรวมทั้งการสร้างฐานการวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท.ได้จัดสรรงบประมาณวิจัยเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนา AWC โดยมุ่งเน้นไปยังการยกระดับสมรรถนะกิจการเวลเนสและการนำนวัตกรรมเพื่อเพิ่มการลงทุนทางเศรษฐกิจเวลเนส ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บพท. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เทศบาลตำบลกะรน และกฎบัตรไทย ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่กะรนเวลเนสแซนด์บ๊อกซ์ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ขนาดเล็กเพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ทั่วทั้ง AWC โดยกิจกรรมเวลเนสจะเป็นกิจกรรมหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจสาขาอื่นให้เติบโตตาม

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทยในฐานะคณะทำงานพัฒนา Wellness Hub กล่าวเสริมว่า เป้าหมายหลักของ AWC นอกจากการประกาศให้อันดามันเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษด้านเวลเนสแล้ว AWC ยังเป็นพื้นที่นวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกหน่วยงานและองค์กร จะต้องร่วมมือกันยกระดับทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการผลิต การบริการที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตและการบริการให้ภาพใหญ่ของอันดามันตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเวลเนสอย่างแท้จริง สามารถกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสุขภาพไปยังชุมชนท้องถิ่น ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่สำคัญได้แก่ การสร้างโอกาสในการฟื้นฟูศาสตร์การแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือกหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซี่งเกษตรกรในพื้นที่ต้องเป็นฐานการผลิตหลักให้กับนิเวศของ AWC  หากแผนปฏิบัติการนี้บรรลุเป้าหมาย การยกระดับเศรษฐกิจของพื้นที่จะปรับเปลี่ยนพร้อมกันทั้งระบบ ประชาชนทุกระดับจะได้รับประโยชน์ไปพร้อมกัน

สำหรับการจัดประชุมระดมความคิดเห็นการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามันในครั้งนี้ คณะทำงานฯ ต้องการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นหลัก 10 ข้อ ประกอบด้วย1.ระดับศักยภาพในอนาคตของนิเวศและซับพลายเชนเวลเนสพื้นที่อันดามันและ ประเทศไทย 2. ข้อคิดเห็นอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจเวลเนสของโลกในช่วง 20 ปีข้างหน้า 3. แนวทางการยกระดับสมรรถนะกิจการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพและกิจการเวลเนส  รวมทั้งชุมชนเวลเนสในพื้นที่ AWC 4. แนวการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาเวลเนส 5. แนวทางการพัฒนาเขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและ หน่วยงานเกี่ยวข้อง

6. สิทธิประโยชน์และปัจจัยด้านต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเวลเนสทั่วทั้งระบบ 7. บทบาทหน้าที่ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนการพัฒนาเวลเนส 8. กฎหมายและข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการพัฒนานิเวศเวลเนสและการพัฒนาเขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ 9. ข้อเสนอแผนปฏิบัติการและแผนงานนำร่องที่ปฏิบัติได้ สามารถมองเห็นผลกระทบเชิงบวกในช่วงเวลา 1-3 ปี  10. ระดับขีดความสามารถการแข่งขันของกิจการ Thai wellness unicorn และความคาดหวังส่วนแบ่งตลาดเวลเนสไทยจากตลาดโลก

ส่วนเป้าหมายด้านมูลค่าเศรษฐกิจที่ต้องการของพื้นที่ AWC คณะทำงานฯ ได้ประมาณการส่วนแบ่งตลาดเวลเนสโลกไว้ร้อยละ 10 หรือ 24,500 ล้านบาทในปี พ.ศ.2570 ซึ่ง The Global Wellness Institute ได้ประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจเวลเนสโลกในปี พ.ศ. 2570 ที่ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการเติบโตของเวลเนสแบบก้าวกระโดดไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี โดยสาขาที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดได้แก่ สาขาบริการความงาม สาขาการดูแลผู้สูงอายุ และสาขาการแพทย์ทางเลือก ตามลำดับ หากสามารถแบ่งส่วนตลาดเวลเนสโลกได้มากกว่าร้อยละ 20 ไทยจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจเวลเนสของโลก