ลูกพะยูนวัย 3 เดือนร่าเริงขึ้น อธิบดี ทช.รุดดูอาการ

โพสเมื่อ : Wednesday, July 3rd, 2019 : 3.10 pm

อธิบดี ทช.ย้ำต้องดูแลลูกพะยูนน้อยตลอด 24 ชั่วโมง หลังพบพลัดหลงกับแม่มาเกยตื้นที่บ้านบ่อม่วง จ.กระบี่ สุขภาพล่าสุด ร่าเริงขึ้น กินดี ขับถ่ายเป็นปกติ รู้ลุ้นพาไปอนุบาลในทะเลเปิด

วันนี้ (3 ก.ค.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ คณะได้เดินทางลงพื้นที่ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ต แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้ากรณีการดูแลช่วยเหลือลูกพะยูน เพศผู้ อายุ 3 เดือน ซึ่งพลัดหลงกับแม่มาเกยตื้นในพื้นที่บริเวณบ้านบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะพบ ลูกพะยูนมีสภาพอ่อนแรง และอิดโรยมาก ไม่สามารถประคองตัวได้ ตามลำตัวมีบาดแผลจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 50ของสภาพภายนอก

นอกจากนั้นยังพบภาวะ การขาดน้ำ จากสภาพดังกล่าวทำให้ไม่สามารถจะอยู่ในธรรมชาติได้ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในสภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ไปก่อน เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัย ทช.จึงได้ร่วมกับสำนักงานบริหาร ทช.ที่ 9 (ภูเก็ต) นำส่งศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ต แหลมพันวา โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลาในบ่ออนุบาล อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบสุขภาพประจำวัน วันนี้ พบว่า พะยูนน้อย เริ่มร่าเริงดี กินดี มีการขับถ่ายลักษณะปกติ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า สำหรับลูกพะยูนเพศผู้ ที่เพิ่งพบล่าสุด และ ได้นำมาอนุบาลที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ต แหลมพันวา ขณะนี้อยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด และ วันนี้เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว จึงได้มาติดตามดูความคืบหน้า พบว่าสุขภาพของพะยูนค่อนข้างแข็งแรงดี อย่างไรก็แล้วแต่ เนื่องจากว่าการดูแลพะยูนถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ก็กำชับให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด และจะมีการระดมสัตวแพทย์จากที่อื่นมาช่วยกันดูแลด้วย

ส่วนลูกพะยูนตัวนี้จะสามารถพาไปเลี้ยงในพื้นที่เปิดเหมือนกับมาเรียมได้หรือไม่นั้น หากพะยูนมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง 100% และรวมถึงเรื่องของแผลต่างๆ หายเป็นปกติ เราก็จะมาคุยกันอีกทีว่าจะพาไปอยู่ในพื้นที่เปิดได้หรือไม่

นอกจากนี้นายจตุพร ได้กล่าวถึงการเฝ้าระวัง จุดที่พบลูกพะยูนเพศผู้ตัวล่าสุด ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่พบมาเรียมประมาณ 60 กม. ว่าในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องดูแลให้ดี เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งหญ้าทะเล ทำให้พะยูนจะอยู่บริเวณดังกล่าวมากขึ้น และจุดนี้มีโอกาสพบพะยูนค่อนข้างมาก  ซึ่งต้องขอบคุณเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ เมื่อพบพะยูนแล้วมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จนนำมาสู่การดูแลอย่างปลอดภัยที่ศูนย์ฯ ทช. ทำให้การช่วยเหลือของกรม ทช. สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทำให้สัตว์ทะเลสามารถมีชีวิตอยู่ยืนยาวได้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของประชากรพะยูน ปัจจุบันดีขึ้นมาก ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาพะยูน เพิ่มมากขึ้นเกือบ 300 ตัว จาก 100 กว่าตัว พื้นที่ที่พบพะยูนมากที่สุดอยู่ที่ จ.ตรัง ซึ่งพบว่าเป็นจังหวัดที่มีพะยูนมากที่สุดในโลก สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่เปิดคือเครื่องมือประมง  สังเกตจากการเกยตื้นมา จะพบว่าโดนเครื่องมือประมงทำร้าย ซึ่งอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจะพะยูนจะมีขนาดตัวใหญ่และเคลื่อนตัวช้า เพิ่มเติมพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญถ้ามีพื้นที่หญ้าทะเลประชากรพะยูนก็จะมีเพิ่มมากขึ้น

นายจตุพร ยังได้กล่าวต่อไปถึงชื่อของลูกพะยูน ว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีการตั้งชื่อลูกพะยูนที่เพิ่มพบ อาจจะให้มีการประกวดตั้งชื่อลูกพะยูนเพศผู้ตัวนี้เหมือนกับการตั้งชื่อให้กับพะยูนเพศเมีย “มาเรียม” ซึ่งตั้งโดยพี่น้องบนเกาะลิบง มีความหมายว่า หญิงสาวผู้มีความสวยงามแห่งท้องทะเล ก็จะให้มีการประกวดตั้งชื่อผ่านทางเฟซบุ๊คของทางกรมได้