“รู้แล้วแต่ยังแก้ไม่ได้” สาเหตุทำน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดในยาง จ.ภูเก็ต

โพสเมื่อ : Tuesday, January 24th, 2017 : 3.33 pm

รู้แล้วสาเหตุสำคัญทำน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดในยาง 5 ปี รุกคืบกว่า 10 – 25 เมตร ขณะที่แนวทางแก้ไขสามารถทำได้ แต่ยังไม่เกิด เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเผยการทำแนวกันคลื่นไม่ช่วยลดความเสียหายแต่กลับไปเพิ่มความรุนแรง176578วันนี้ ( 24 ม.ค.) นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงผลการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดในยาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หลังพบว่าบริเวณหาดในยาง ตลอดแนวไปจนถึงหาดทรายแก้ว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ให้ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเลระดับต้น ซึ่งส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอุทยานแห่งชาติ จัดขึ้น ที่ห้องประชุม สถาบันประชารัฐพิทักษ์ทะเล อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายณัฐพล รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นประธานเปิดการอบรม ว่า176581

จากการศึกษาเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะบริเวณชายหาดในยางตลอดแนวไปจนถึงบริเวณหาดทรายแก้ว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พบว่าสาเหตุเกิดจากแนวปะการังที่ช่วยชะลอความแรงของน้ำทะเลตายและเสื่อมโทรมลง ซึ่งแนวปะการังถือเป็นเกราะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการในการป้องกันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาด เมื่อไม่มีแนวปะการังความแรงของน้ำก็โถมเข้าใส่ชายหาดอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้มีการกัดเซาะชายหาดเกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าบริเวณชายหาดในยางมีการกัดเซาะมาอย่างต่อเนื่อง176573

และสาเหตุที่ทำให้แนวปะการังตายบริเวณหาดในยางพบว่าเกิดจากการเปลี่ยนทิศทางของน้ำจืดที่ไหลลงทะเล ซึ่งเดิมน้ำจะไหลลงทะเลที่บริเวณคลองคลองพม่า ซึ่งจุดนั้นเป็นจุดที่ไม่มีปะการัง แต่มาระยะหลังน้ำได้เปลี่ยนเส้นทางมาไหลลงคลองที่บริเวณทางเข้าอุทยานเนื่องจากมีการก่อสร้างและมีการถมพรุต่างๆ ทำให้น้ำฝนหรือน้ำจากส่วนอื่นไหลลงทะเลโดยตรง เมื่อน้ำจืดไหลลงทะเลในปริมาณมากส่งผลให้ปะการังตาย เพราะฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาในจุดนี้สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ การเปลี่ยนทิศทางไหลลงทะเลของน้ำให้กลับไปไหลลงในทิศทางเดิมที่ไม่มีแนวปะการัง และการต่อท่อให้น้ำจืดไหลลงท่อไปปล่อยในทะเลลึก ซึ่งจะทำให้น้ำจืดไม่รบกวนแนวปะการังน้ำตื้น โดยทั้ง 2 แนวทาง จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวของในการดำเนินการ176576

นายศักดิ์อนันต์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยังมีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดอีกหลายแห่ง โดยจุดที่น่าเป็นห่วงอีกจุดคือที่บริเวณหาดราไวย์ ที่ปัจจุบันพบว่ามีความรุนแรงมาก ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายหาดโดยการทำแนวกั้น นั้นพบว่าไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา แต่กลับไปเพิ่มความรุนแรงของการกัดเซาะมากขึ้น โดยทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนทิศทางไปกัดเซาะบริเวณใกล้เคียงและเป็นการกัดเซาะที่รุนแรงกว่าเดิมมาก จึงคิดว่าการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายทะเลในแต่ละจุดนั้นจะต้องศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงและหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดต่อไป176577

ขณะที่นายณัฐพล รัตนพันธ์ ผอ.ส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายหาดบริเวณหาดในยาง ว่า จากการศึกษาทำให้ทราบถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในการแก้ไขปัญหาขณะนี้ทางอุทยานไม่สามารถทำด้วยตัวเองเพียงหน่วยเดียวได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากท้องถิ่น รวมทั้งจังหวัด และระดับประเทศ เพราะปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่จะต้องช่วยกันดูแล ซึ่งนอกจากเรื่องของการกัดเซาะชายหาดแล้วทางกรมยังให้ความสำคัญในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติด้วยที่จะต้องมาช่วยกันดูแล การก่อสร้างลงไปในทะเลล้วนส่งผลกระทบโดยตรง เช่นโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการโครงการสร้างท่าเที่ยวเรือบริเวณหาดในยางเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยวขึ้นเครื่อง – ลงเครื่อง นั้นไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้เกิดปัญหาทางธรรมชาติเกิดขึ้นอีกมากมาย176579

ขณะที่นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 2 จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ได้มีการศึกษากรณีน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดมาระยะหนึ่งแล้ว จากการศึกษาภาพถ่ายทางดาวเทียมพบว่า ในปี 2556 -2557 การกัดเซาะชายหาดมีความรุนแรงมาก รวมแล้วมีการกัดเซาะไปไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ต้นสนขนาดใหญ่ล้มตายจำนวนมาก และที่มีการกัดเซาะรุนแรงที่สุดคือที่บริเวณหาดทรายแล้วมีการกัดเซาะเข้ามาประมาณ 25 เมตร ซึ่งการแก้ไขปัญหาคงจะต้องร่วมมือกับหลายฝ่ายในการดำเนินแต่ก็ต้องใช้เวลา และที่สำคัญจะต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการ