รมว.คมนาคม เอาจริงแก้ปัญหาจราจรภูเก็ต ลงพื้นที่เร่งรัดโครงข่ายจราจร

โพสเมื่อ : Sunday, January 22nd, 2017 : 7.00 pm

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามเร่งรัดงานโครงข่ายคมนาคมในตัวเมืองภูเก็ต แก้ปัญหาการจราจรจังหวัดภูเก็ต แบบครบวงจร พร้อมมอบขนส่งจังหวัดหารือร่วมผู้ประกอบการ ปรับปรุงคุณภาพ Shuttle Bus ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ1485084317435.jpeg

วันนี้( 22 ม.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะเดินทางมาประชุมติดตามงานด้านโครงข่ายคมนาคมในตัวเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัดภูเก็ต มีนางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานแขวงทางหลวงภูเก็ต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเดินทางมาจังหวัดภูเก็ตในวันนี้ เพื่อติดตามงานในโครงการหรือแผนงานของกระทรวงฯ คือการแก้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต จุดแรก จุดเชื่อมระหว่างสนามบิน ตามนโยบายของกระทรวงฯ เนื่องจากสนามบินเป็นประตูเข้า-ออก ของผู้โดยสารคนไทยและต่างประเทศ ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตได้เสนองบประมาณของกลุ่มจังหวัด ในการทำทางต่างระดับจากสนามบินออกมาเชื่อมกับตัวถนนของทางหลวงได้ทันทีเลย

ส่วนอุโมงค์ทางลอดภูเก็ต มี 5 อุโมงค์ มีทั้งอุโมงค์ทางลอดที่รถวิ่งสวนทางกันได้กับอุโมงค์ที่เป็นทางเดียว ขณะนี้อุโมงค์ที่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว มีอุโมงค์ทางลอดแยกดาราสมุทร กับทางลอดแยกสามกอง ส่วนอุโมงค์ทางลอดที่แยกบางคู ขณะนี้การก่อสร้างมีความก้าวหน้าไปแล้ว 70 % และจะแล้วเสร็จในเดือน กันยายน 2560 ก็จะเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด  ขณะที่การก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดห้าแยกฉลอง ก็จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.ปีนี้เช่นเดียวกัน และอีกอุโมงค์คือที่แยกสนามบินภูเก็ต กำหนดการแล้วเสร็จในปี 2562 เพราะเพิ่งเริ่มดำเนินการ ถ้าทางลอดแล้วเสร็จทั้ง 5 อุโมงค์ ก็จะช่วยทำให้การจราจรดีขึ้น ซึ่งจากการประเมินทั้งที่แยกดาราสมุทรกับแยกสามกอง ปริมาณการจราจรมีเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความสะดวกการจราจรไหลลื่นมากขึ้น1485084320599.jpeg

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต โดยระบุว่า สาเหตุที่ยังล่าช้าเนื่องจากผลการศึกษาของสํานักนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร หรือ สนข. แนะนำให้มีการปรับแบบการก่อสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทางและปลายทาง เช่น การออกแบบสถานีรถไฟฟ้าบริเวณสนามบินภูเก็ต จากเดิมออกแบบไว้ให้ตัวสถานีเข้าไปในอาคารผู้โดยสาร แต่จากการศึกษาพบว่าไม่สามารถทำได้ จึงจัดพื้นที่ให้ใหม่ และกระทบกับการออกแบบ

นอกจากนี้การขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวง ในวันนี้จากการหารือได้ข้อสรุปร่วมกันว่า บริเวณช่วงเกาะกลางถนนทั้งหมด จะไม่นำไปใช้ในการขยายพื้นผิวจราจร แต่จะใช้สำหรับรถบริการสาธารณะ คือรถไฟฟ้ารางเบา โดยขณะนี้ได้เร่งการออกแบบขั้นสุดท้าย เมื่อเสร็จแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการขออนุมัติ ซึ่งกระทรงวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งหากการศึกษาและการออกแบบแล้วเสร็จ จะเข้าสู่การขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติได้ในปีนี้ ส่วนระยะเวลาการก่อนสร้างใช้เวลาประมาณ 3 ปี 1485084323902.jpeg

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต กระทรวงคมนาคมอยากให้ทางจังหวัดและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากเป็นระบบโครงการสร้างพื้นฐานของจังหวัด และทำให้เกิดรายได้สู่จังหวัดภูเก็ต โดยได้มอบหมายให้ สนข. ได้จัดสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตได้รับทราบ

ส่วนรถรับส่ง Shuttle Bus ซึ่งให้บริการจำนวน 2 สาย คือ สนามบินนานาชาติภูเก็ต–ตัวเมืองภูเก็ต และสนามบินนานาชาติภูเก็ต–หาดป่าตองได้มอบหมายให้ขนส่งจังหวัดภูเก็ต เข้าหารือกับผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงคุณภาพ จากปัจจุบันมีคุณภาพปานกลาง ให้มีคุณภาพดีมากขึ้น และทัดเทียมกับ ต่างประเทศ