ยื้อชีวิต ! ท่องเที่ยวภูเก็ต ขอ Soft Loan  2 หมื่นล้านบาท จีนหายแล้ว 70 %

โพสเมื่อ : Tuesday, February 4th, 2020 : 12.22 pm

ยื้อชีวิตจาก “โคโรนา” ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ตขอรัฐช่วยหนุนเงินกู้  Soft Loan  20,000 ล้านบาท – ลดดอกเบี้ย ใช้มาตรการภาษี ช่วยเหลือแรงงาน หลังจีนหายแล้ว 70 %  เชื่อกระทบยาว แนะเร่งสร้างความเชื่อมั่นภูเก็ตปลอดภัย

กรณีเกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา ระบาด ในประเทศจีน จนทางการจีนต้องประกาศปิดเมือง เพื่อป้องกันการแพร่โรคระบาดของโรคดังกล่าว เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในภาพรวมทางด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.ภูเก็ต อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาแบบกรุ๊ปทัวร์ ที่หายไปจำนวนมาก โดยผลกระทบดังกล่าวได้เกิดขึ้นทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ รวมทั้งพนักงาน ลูกจ้าง และ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรือท่องเที่ยว รถทัวร์ให้บริการท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจสปา และอื่น ๆ บางธุรกิจต้องปิดตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางจังหวัดได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้น เพื่อหามาตรการลดผลกระทบจากสถานการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโครานาสายพันธ์ใหม่ขึ้น โดยมีนายภคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม คอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้ประกอบการท่องเที่ยว และ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปอย่างน้อย 70 % รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 20,000 ล้านบาท ในช่วงระยะ 3 เดือนนี้ ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นยังมีเข้ามาปกติ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ รัสเซีย เยอรมัน อินเดีย แต่อัตราการจองห้องพักอยู่ในระดับชะลอตัว

 

อย่างไรก็ตามสำหรับการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทางผู้ประกอบการอยากขอความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการและพนักงาน ลูกจ้าง สามารถอยู่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งจากการหารือร่วมกับหลายภาคส่วน เชื่อว่าผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งจากการหารือร่วมกันได้ข้อสรุป ว่า ทางผู้ประกอบการเองต้องการที่จะข้อให้ทางภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องของ Soft Loan ซึ่งที่ผ่านมาภูเก็ตเราเจอวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิถล่ม โรคซาร์ระบาด และ อื่น ๆ ซึ่งทางภาครัฐก็เคยเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือก็ไม่น่าจะแตกต่างจากรูปแบบที่เคยช่วยเหลือแต่อย่างใด สำหรับวงเงินที่ต้องการคิดว่าในเบื้องต้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท วงเงินนี้น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองตัวเองไปได้ในช่วงที่จีนยังไม่กลับเข้ามา

ส่วนนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเมื่อไหร่ยังไม่สามารถระบุได้ แต่ถ้าทางการจีนสามารถควบคุมโรคได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ คิดว่าจีนจะเริ่มกลับมาภายในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมของประเทศจีน แต่เชื่อว่าถ้าออกมาก็ไม่น่าจะออกมามาก เพราะทางการจีนก็คงจะจัดส่งเสริมการท่องเที่ยวจีนเที่ยวจีน เพื่อฟื้นฟูประเทศของเขาเช่นเดียวกัน ทำให้คนที่ออกมามีไม่มากอย่างแน่นอน

 

นายภูมิกิตติ์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เลย คือ มาตรการทางภาษี และ มาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน ซึ่งแรงงานถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจ แน่นอนว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ต้องการจะเลิกจ้างพนักงานในช่วงสถานการณ์แบบนี้ หรือแม่แต่ให้ลาหยุดโดยไม่ได้รับเงินเดือน เพราะพนักงานก็ต้องกินอยู่ จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของประกันสังคม ให้ยกเว้นการจ่ายประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างโดยให้รัฐเป็นคนจ่ายสมทบไปก่อน ซึ่งจุดนี้จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้ส่วนหนึ่งและทำให้สามารถประคับประคองตัวเองไปได้ระยะหนึ่ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะส่งผลกระทบไม่ต่ำกว่า 8 เดือน เชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการสามารถประคองตัวเองไปได้ 8 เดือนก็น่าจะเอาตัวรอดได้ เพื่อรอให้จีนกลับมาใหม่อีกครั้ง

ขณะที่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ นั้น นายภูมิกิตติ์ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ  14 ล้านคน 4 ล้านเป็นคนไทย 10 ล้านเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 4 ล้าน ส่วนอีก 6 ล้านเป็นชาติอื่น ๆ แต่หลังจากเกิดโรคระบาดต้องยอมรับว่ายอดจองมีเข้ามาน้อยมาก เนื่องจากทุกคนกำลังดูว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร การที่จะทำให้นักท่องเที่ยวที่ยังลังเลมีความมั่นใจ จะต้องทำใน 2 เรื่อง คือ การสร้างความมั่นใจว่าภูเก็ตปลอดภัยจากโรคระบาด ซึ่งจะต้องอาศัยเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และอีกเรื่องคือการอำนวยความสะดวกให้กับตลาดที่มีความพร้อมที่จะเดินทางอย่างตลาดอินเดีย แต่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เนื่องจากไม่มีสล๊อตการบิน จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถ้าทำได้จะทำให้บรรเทาความเสียหายทางด้านการท่องเที่ยวไปได้จำนวนมาก

เช่นเดียวกับนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการโรงแรมมีมากโดยเฉพาะโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ ขณะนี้อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 0 % ส่วนโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวทั่วไปอัตราการเข้าพักก็อยู่ที่ประมาณ 60 %  การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงแรมว่าจะทำโปรโมชั่นอะไรออกมาก เพื่อยื้อให้ตัวเองอยู่รอด

ณ เวลานี้การจะทำตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก ส่วนการลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้างพนักงานเชื่อว่าทุกโรงแรมจะคิดถึงเป็นมาตรการสุดท้ายและเชื่อว่าทุกคนก็พยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายอย่างอื่นลงมาก่อน เช่น งบอบรมสัมมนาก็ต้องตัดออกไปก่อน และสิ่งที่กำลังคุยและคิดว่าจะต้องเร่งทำคือเรื่องของการส่งเสริมไทยเที่ยวไทย โดยการออกไปจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงคนไทยมาเที่ยวภูเก็ต ซึ่งเรื่องนี้ทางโรงแรมไทยภาคใต้กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยถึงแนวทางในการดำเนินการ

ขณะที่นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบไปทุกธุรกิจ เพราะธุรกิจในภูเก็ตต่างก็ต้องพึ่งพาทางด้านการท่องเที่ยว เมื่อท่องเที่ยวได้รับผลกระทบธุรกิจด้วนอื่นก็กระทบตามไปด้วย ทุกวันนี้ผู้ประกอบการต้องช่วยเหลือตัวเอง และ ดูแลแรงงานเพื่อให้อยู่รอดไปด้วยกัน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะทำอย่างไรให้มีการประกาศ ว่า ภูเก็ตปลอดภัยจากโรคปอดอักเสบ ถ้าทำได้จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ย่างแน่นอน ส่วนเรื่องของการช่วยเหลือทางด้านเงินกู้ และมาตรการลดดอกเบี้ย มาตรการทางด้านภาษีเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ