ยังไม่จบ ภารกิจคืนที่ดิน 178 ไร่ หาดเลพัง – หาดลายัน มูลค่าหลายหมื่นล้าน อธิบดี DSI ลงตรวจพบยังมีการใช้ประโยชน์ แม้ศาลตัดสินแล้ว

โพสเมื่อ : Thursday, April 28th, 2022 : 6.13 pm

ยังไม่จบยึดคืนที่ดินติดชายทะเล 178 ไร่ หาดเลพัง – หาดลายัน จ.ภูเก็ต มูลค่า 4 -5 หมื่นล้าน แม้ศาลพิพากษาให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ด้านอธิบดี “ดีเอสไอ” ลงพื้นที่ล่าสุดพบยังมีการเข้าไปใช้ประโยชน์ จี้ทุกหน่วยต้องนำกลับมาเป็นที่หลวง

วันนี้ ( 28 เม.ย.) นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  พร้อมด้วย นายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ ภาค 8 กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 8 และ คณะ  ลงพื้นที่สืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติม คดีบุกรุกที่ดิน เนื้อที่ 178 ไร่หาดเลพัง -หาดลายัน หมู่ 4 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท โดยมี นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเชิงทะเล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมที่ ห้องประชุม อบต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

สำหรับที่ดินจำนวน 178 ไร่ บริเวณหาดเลพัง – หาดลายัน นั้นเป็นเรื่องที่มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานหลายสิบปี มีการแจ้งความดำเนินคดีกันระหว่างหน่วยงานรัฐ และ เอกชน ประชาชน ที่บุกรุกครอบครองที่ดินดังกล่าว มากกว่า 20 คดี โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีผู้บุกรุกจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามหลังมีการต่อสู้กันมาอย่างอย่างนาน ปรากฎ ว่า เมื่อปี 2560 ศาลได้มีคำพิพากษาให้ที่ดินจำนวน 178 แปลง เป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียนให้เป็นที่ดิน นสล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการนำป้ายประกาศเตือนให้ผู้ที่ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวทำการรื้ออาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออกไปจากพื้นที่เพื่อจะนำมาพัฒนาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป แต่ปรากฏว่ายังมีผู้ครอบครองบางส่วนที่ไม่รื้อถอน แม้ว่าทางสำนักงานบังคับคดีจะเข้าไปบังคับคดีบางแปลงแล้วก็ตาม

เมื่อรัฐจะขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ก็ได้ถูกคัดค้านโดยเอกชนจำนวน 9 ราย และนำเรื่องขึ้นสู่ศาล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ระบุว่าที่ดินจำนวน 178 ไร่ บริเวณหาดเลพัง เป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้บุกรุกทั้งหมดจะต้องถูกออกจากพื้นที่ มีการปิดประกาศบังคับคดีเพื่อให้ออกจากพื้นที่ และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้การบุกรุกที่ดินบริเวณหาดลายันและหาดเลพัง หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นคดีพิเศษกรณีการออกโฉนดที่ดิน 2 แปลง 2 คดี ประกอบด้วย โฉนดที่ดินเลขที่ 20777 เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าลายัน ภายในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และโฉนดที่ดินเลขที่ 21047 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ แต่เป็นที่สาธารณะ พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ โดยโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงมี เจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่ง เป็นผู้ลงนามโดยไม่มีอำนาจ มูลค่าของที่ดินประมาณไร่ละ 300 ล้านบาท

จากการลงตรวจพื้นที่พบว่า ในพื้นที่บางส่วนยังมีอาคารมีอาคาร รวมทั้งการตั้งเตียงเพื่อให้เช่าซึ่งเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะหาประโยชน์  นายไตรยฤทธิ์ กล่าวภายหลังการประชุมฯ ว่า คดี บุกรุกที่ดิน 178 ไร่ เป็นคดีค้างมาตั้งแต่ปี 2544 ประมาณ 20 ปีมาแล้ว และเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา มีการรับเป็นคดีพิเศษ จำนวน 2 คดี ประกอบด้วย โฉนดที่ดินเลขที่ 20777 เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าลายัน ภายในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และโฉนดที่ดินเลขที่ 21047 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งอยู่ในที่ดินสาธารณะ ตอนนี้มีการเพิกถอนไปแล้ว 2 แปลง

แต่ปรากฎว่ายังมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่  ซึ่งตอนนี้ทางปปช.ได้ส่งคดีกลับมาให้ทางดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษอีกครั้ง ซึ่งทางดีเอสไอก็รับเป็นคดีพิเศษเลขใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ โดยการลงพื้นที่วันนี้เป็นขั้นตอนแสวงหาข้อมูลและสืบสวน ซึ่งจากการลงพื้นที่หลังมีคำพิพากษาของศาลพบว่าที่ดินที่มีการเพิกถอนยังมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวทั้งเรื่องของอาการ และการให้เช่ารมเตียงที่เรียกเก็บค่าใช้บริการจากนักท่องเที่ยวชั่วโมงละ 200 บาท ซึ่งมีการดำเนินการเป็นแนวยาวตลอดกว่า 2 กิโลเมตรหน้าชายหาด ซึ่งที่ดินดังกล่าวควรจะเป็นสมบัติของคนทุกคนไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้คิดว่าทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการกันในการนำกลับมาเป็นของหลวง โดยเรื่องนี้ได้หารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และได้รับการตอบกลับมาแล้วว่าทางผู้ว่าและอธิบดีกรมที่ดินจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อนำที่ดินดังกล่าวมาเป็นที่ดินสาธารณะและขึ้นทะเบียนเป็นที่ นสล.ให้ได้

ส่วนกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีพิเศษ ทางดีเอสไอ ก็จะขยายผลตรวจสอบ ตอนนี้ได้มีการทำงานร่วมกับอบต.เชิงทะเล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะเรื่องของการยื่นสอดเมื่อมีการเปลี่ยนมือผู้ครอบครองที่ดิน ทำให้การดำเนินการไม่จบสิ้นเนื่องจากมีการยื่นสอดเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเรื่องนี้จะมีการสอบสวนอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามในส่วนประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มประชาชนที่จะมาใช้พื้นที่นี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจที่สาธารณะ ไม่เสียค่าผ่านทางคิดว่าเป็นที่ชายหาดที่มีความสวยงาม และมีมูลค่าสูงมาก ไร่ละ 300ล้านบาท เนื้อที่ 178 ไร่ มูลค่าประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ควรตกเป็นของประชาชนทุกคนที่จะมาพักผ่อนหย่อนใจใช้บริการได้

อีกส่วนคือ ผู้ที่ถูกหลอกให้มาลงทุน เช่น ที่แห่งนี้มีกรณีพิพาท มีคำพิพากษามาแล้วให้ตกเป็นที่สาธารณะ จะมีกลไกให้เดินต่อช้าแต่สุดท้ายก็จะถูกหยิบยกมาดำเนินการถ้ามีกลไกภาครัฐที่เอาจริง จะได้เป็นที่สาธารณะในเร็ววัน ผู้ที่ถูกหลอกให้มาซื้อมาลงทุนต้องคืนทรัพย์ แต่ถ้าตั้งใจมีเจตนาครอบครองจะต้องรับความผิดไปด้วย ถ้ามีการร้องว่าบุกรุกจะดำเนินคดีส่วนนี้ตามอำนาจ ตรงนี้มีความชัดเจนแล้ว ถ้ามีแปลงอื่นที่นอกเหนือจากแปลงที่ดำเนินคดีพิเศษอยู่เดิมจะดำเนินการหากมีผู้ร้องเข้ามา

คดีที่ภูเก็ต มีหลายคดี แต่งานนี้ให้ความสำคัญกับคดีนี้มากเพราะคดีอื่นตอนนี้เดินหน้าไปแล้ว หลายคดีอยู่ในช่วงทำคำสั่งฟ้อง บางคดีอยู่ระหว่างรวบรวมสรุปสำนวนคดีหลายเรื่องส่งปปช. รอส่งกลับให้เราสอบสวน ซึ่งคดีที่ส่งให้ปปช. มี 10 คดี ที่ผ่านตา คดีเก่าๆบางเรื่องเช่นเรื่องนี้ไปปปช.ตั้ง 3-4 ปี ก่อนเพิ่งกลับมาและเพิ่งดำเนินการ ดังนั้นน่าจะมีอีกเยอะที่จะพยายามไล่ดูอยู่

ทางด้าน นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายก อบต.เชิงทะเล กล่าวว่า ตอนนี้ดำเนินการ กับผู้บุกรุกใหม่ แจ้งความบังคับคดี และในส่วนการขึ้นทะเบียนที่ดิน นสล .ทางจังหวัด เร่งให้ขึ้นทะเบียน นสล. เราทำงานร่วมกับอำเภอจังหวัดจะให้พื้นที่นี้ขึ้น นสล.ให้เร็ว ถ้ามีนสล.โทษจะสูงน่าจะเกิดการเกรงกลัวมากกว่าการประกาศพื้นที่สาธารณะ และ ได้แจ้งผู้ครอบครองทราบแล้ว ทั้งป้ายประกาศและร้องทุกข์ที่สภ.เชิงทะเล ได้เข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว แต่ที่ยังไม่สามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนหนังสือสำคัญที่หลวงได้สำเร็จ ก็เนื่องจากขณะนี้ยังมีการเปลี่ยนมือ และยื่นเรื่องร้องเรียนอยู่อย่างต่อเนื่อง