ม.อ.ภูเก็ต เดินหน้า ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ “Karon Wellness Tourism City”

โพสเมื่อ : Tuesday, May 31st, 2022 : 6.08 pm

ม.อ.ภูเก็ต เดินหน้าจัดเวทีเสวนา “ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตำบลกะรนสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Karon Wellness Tourism City) หวังให้เป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดภูเก็ต

เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ห้องประชุม Pamookkoo Pamookka โรงแรมประมุกโก้ รีสอร์ท หาดกะตะ อ.เมืองภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จัดเวทีเสวนาโครงการวิจัยและเสวนาขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตำบลกะรน สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Karon Wellness Tourism City) ซึ่งได้รับสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)  และ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมี นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานกล่าวเปิดงานฯ และ มี รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน ส่วนราชการ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการศึกษารูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ กรณีศึกษาตำบลกะรน (Karon Wellness Tourism City) ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง มิถุนายน 2565  ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค ร่วมพัฒนากับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ 1.การทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพในจังหวัดภูเก็ต 2.การศึกษาตลาดส่งเสริมสุขภาพโลก พฤติกรรม และความคาดหวัง 3.การศึกษามาตรการ ข้อบังคับ บทบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนิน ธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาพจังหวัดภูเก็ต

4.การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพแบบบูรณาการของจังหวัดภูเก็ต ภายหลังการเกิดวิกฤติโควิด 19 5.การฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหาร 6.การพัฒนาเขตส่งเสริมสุขภาพตำบลกะรน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภาคการบริการ และพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลการศึกษาที่นักวิจัยและเครือข่ายได้นำเสนอจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพของตำบลกะรน ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับการขับเคลื่อนในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทยในอนาคต

ด้าน นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขอบคุณ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เทศบาลตำบลกะรน  ที่ปกครองตำบลกะรน สมาคมผู้ประกอบการหาดกะตะกะรน วิสาหกิจชุมชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้มีส่วนช่วยในการดำเนินโครงการศึกษารูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ กรณีศึกษาตำบลกะรน (Karon Wellness Tourism City)

โดยในวันนี้มหาวิทยาลัย ฯ ได้จัดการสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าว รวมทั้งมีผู้ประกอบการโรงแรม วิสาหกิจชุมชน และธนาคารแสดงบูธแสดงผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ ผลการศึกษาในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดเครือข่ายและเกิดกลไกการขับเคลื่อน ซึ่งจะสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพของตำบลกะรนในอนาคต  และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตำบลกะรนจะเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม ภายในงานพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับวิสาหกิจชุมชน ภาคธุรกิจ และ หน่วยงานราชการ รวมทั้งมีการออกบูธแสดงผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ อาหารสมุนไพรสร้างสรรค์ ของเครือข่ายที่ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย มีบูธให้คำปรึกษาด้านการเงิน โดยชมรมธนาคารจังหวัดภูเก็ต

นอกจากนี้แล้วได้เปิดเวทีเสวนา “การพัฒนาตำบลกะรนเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ” โดยผศ.ดร.ณารีญา วีระกิจ ผศ.ดร.ภาณุวัตน์ ภักดีอักษร ดร.จักรพันธ์ เชาว์ปรีชา ผศ.ดร.วโรดม วีระพันธ์ นายธรรมรงค์ ราชามุสิกะ และนายธนวัฒน์ วงศ์ลักษณพันธ์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ผู้ร่วมเสวนา และเสวนาประสบการณ์ในการร่วมขับเคลื่อน “ตำบลกะรนเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ” โดย ดร.วนัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรม คุณพรศิริ อินทร์หอม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรท่องเที่ยวพรชนก คุณปฏิมา ขุมพรมเกสรา ผู้ประกอบการ Andaman Wellness คุณบุญโชติ กิตติสิทโธ ประธานชมรมธนาคารจังหวัดภูเก็ต และคุณก้าน ประชุมพรรณ์ เลขาธิการสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขอันดามันและอ่าวไทย เป็นผู้ร่วมเสวนา

สำหรับการจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในการแนวทางการพัฒนาพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน ได้แสดงความคิดเห็นในแนวทางการพัฒนากะรนเป็นเมืองสุขภาพ และเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการบูรณาการ การออกแบบเมือง และแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองสุขภาพ

โครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่ตำบลกะรน สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ เป็นการนำล่องการพัฒนาให้ประเทศไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คนมีคุณภาพ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา และพัฒนาการบริการด้านสุขภาพต่อไปอย่างเข้มข้นให้มีความทันสมัย ด้วยวิธีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพ และพัฒนาเครื่องมือด้านการตลาดควบคู่กันไป