ม.อ.ผุดศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ทำรายได้ให้ภูเก็ต ปีละ 62,000 ล้าน

โพสเมื่อ : Friday, October 16th, 2020 : 2.42 pm

ม.อ. เตรียมชง ครม.ผุดโครงการสร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Medical Hub คาดใช้งบ กว่า 5,100 ล้านบาท สร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวเพิ่มจากปี 62 ไม่น้อยกว่า 62,000 ล้านบาท พร้อมสร้างงานสร้างคน ลดการเดินทางไปรักษาที่อื่น

วันนี้ ( 16 ต.ค.) ที่โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต รองศาสตราจารย์ ดร. พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น การสร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในกลุ่มอันดามัน ทั้งจากหน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานราชการ หอการค้าจังหวัด องค์กรเอกชน ธุรกิจท่องเที่ยว และประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต

สำหรับโครงการดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีแผนจะดำเนินการสร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในกลุ่มอันดามันได้รับบริการรักษาโรคซับซ้อนต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งสถานพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการส่งตัวไปรักษาโรคซับซ้อนนอกพื้นที่

นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระดับ Premium ให้เข้ามาท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ  รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมการรองรับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความพร้อมอย่างมากทั้งบุคลากร เครื่องมือ ความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ โดยได้มีการบรรจุโครงการดังกล่าวในแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2561-2565

สำหรับการจัดประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มอบหมายให้ศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ (MIDC) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินแผนงานศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดภูเก็ต เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการต่อไป โดยผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการสร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตดังกล่าว

ทั้งนี้โครงสร้างการดำเนินงานของศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ประกอบด้วย 4 ภารกิจหลัก ได้แก่ (1) โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ภูเก็ต สถานที่ตั้งในวิทยาเขตภูเก็ต เน้นการบริการ Tertiary Care การแพทย์แม่นยำ การแพทย์ทางไกล การบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับ Premium การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างภูเก็ต-หาดใหญ่ (2) โรงพยาบาลทันตกรรมสงขลานครินทร์ภูเก็ต สถานที่ตั้งบริเวณสะพานหิน เน้นบริการทันตกรรมครบวงจร และ การบริการทันตกรรมแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

(3) Wellness Center สถานที่ตั้งในศูนย์กีฬาและที่พักในวิทยาเขตภูเก็ต เน้นการดูแลผู้สูงอายุ การใช้กีฬาบำบัด การใช้แพทย์แผนไทย และ (4) วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ ประกอบด้วย การสร้างบุคลากรวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช พยาบาล แพทย์แผนไทย เทคนิคการแพทย์ โดยการเรียนพื้นฐานใช้ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ การฝึกปฏิบัติงานระยะแรกใช้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชนในภูเก็ต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก้าวเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ 1 ใน 5 ของอาเซียนสู่ “มหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม” โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีด้วยกัน 5 วิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตหาดใหญ่ วิทยาเขตภูเก็ต วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และวิทยาเขตตรัง และ จากยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยที่ต้องการมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในปี พ.ศ. 2560-2569

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงมีแผนที่จะดำเนินการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้วยการสร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในกลุ่มอันดามันได้รับบริการรักษาโรคซับซ้อนต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งสถานพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้จึงต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า หนึ่งในนั้น คือ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ทำให้ประชาชนในจังหวัดกลุ่มอันดามันเสียโอกาสในการดูแลสุขภาพที่เกิดจากการขาดความพร้อมของระบบสาธารณสุขในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งประชาชนในจังหวัดชายฝั่งอันดามันมีปัญหาการเข้าถึงระบบการให้บริการด้านสุขภาพในโรคที่มีความซับซ้อน โดยพบว่าปี 2562 มีผู้ป่วย ในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ที่ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลระดับสูงในพื้นที่อื่น ๆ จำนวน 9,036 คน คิดเป็น 13,542 ครั้ง และ เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากของประชาชน นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจต่าง ๆ หลังสถานการณ์ Covid-19 ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระดับ Premium ให้เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันมีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่หนาแน่นมากของประเทศ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมการรองรับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะประเทศไทยเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมผู้สูงวัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และคาดการณ์ว่าใน ปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 19.45 และจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ. 2593 จากการคาดการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการทางด้านสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

ส่วนงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้นจะเสนอของบประมาณผ่านไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งในการประชุม ครม. สัญจรทาง มอ.ก็จะนำเสนอแผนงานโครงการดังกล่าว โดยจะใช้งบในการดำเนินโครงการเต็มรูปแบบประมาณ 5,100 ล้านบาท ถ้าหากโครงการนี้เกิดขึ้นจะเกิดประโยชน์ในด้านต่างๆมาหาศาลกับจังหวัดภูเก็ตและฝั่งอันดามัน เช่น ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ ในการเดินทางไปรักษาโรคซับซ้อน รวมทั้งสามารถให้บริการผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่ไม่สามารถรักษาได้  มีรายได้จากการรักษาผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางมารักษาที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ 1,080,000,000 บาทต่อปี

 และจะทำให้อันดามันมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 10 % จากตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2562 หรือ ประมาณ 62,000 ล้านบาท สามารถผลิตบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จังหวัดภูเก็ตทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ใน 6 สาขา จำนวน194 คนต่อปี ประกอบด้วยแพทย์ 24 คน ทันตแพทย์ 30 คน พยาบาล 30 คนเภสัช 30 คนแพทย์แผนไทย 30 คน และเทคนิคการแพทย์  50 คน