มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และ สังคม จับมือ สถาบันการศึกษา สัมมนาหัวข้อ Phuket Outlook 2022:

โพสเมื่อ : Sunday, December 19th, 2021 : 6.14 pm

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และ สังคม จับมือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดการประชุมสัมมนาวิชาการหัวข้อ Phuket Outlook 2022: โอกาสและความท้าทายท่ามกลางความความผันผวนของโลก

วันนี้ ( 19 ธ.ค.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมจัดการประชุมสัมมนาวิชาการหัวข้อ Phuket Outlook 2022: โอกาสและความท้าทายท่ามกลางความความผันผวนของโลก (OPPORTUNITIES AND CHALLENGES AMIDST THE GLOBAL HEADWIND) .ณ. โรงแรมภูเก็ตโรยัลซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิด สำหรับการจัดประชุมฯในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

ดร. อาแซ สะยาคะ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนาวิชาการในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองในการแสวงหาโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตและมองไปข้างหน้าว่าปี 2565 จังหวัดภูเก็ตควรที่จะมีทิศทางการพัฒนาไปในทางใด โดยมีทั้งนักปกครอง นักวิชาการ และ ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าจังหวัดภูเก็ต ผศ. ดร. ชยานนท์ ภู่เจริญ นักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายเกียรติ สิทธีอมร ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้มีผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตอย่าง นายนิพนธ์ เอกวานิช ประธาน กก บริหาร บจ ภูเก็ตพัฒนาเมือง นายภูมิกิตต์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต และนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตร่วมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนการพัฒนาภูเก็ตให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอย่างยั่งยืนนานาชาติ

นอกจากผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศไทยแล้ว ในภาคบ่าย ได้มีการจัดเสวนาผ่านระบบออนไลน์หัวข้อ Re-building Phuket Tourism for the Future โดยมี Dato’ Dr. Mohmed Razip Hj. Hasan เลขาธิการ ศูนย์การท่องเที่ยวอิสลาม ประเทศมาเลเซีย นำเสนอโอกาสและความท้าทายของการท่องเที่ยวฮาลาล และมีนางสาวปิยรัตน์ ณ. สงขลา รองนายกสามคมไกด์ภูเก็ตร่วมแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในอนาคต สุดท้ายมี Mr. Mohammad Kamal จากประเทศสิงคโปร์ ร่วมแลกเปลี่ยนจากการเป็น Chef มืออาชีพระดับโลกร่วมแลกเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่ออนาคตสำหรับจังหวัดภูเก็ต

สุดท้าย ดร. อาแซ ยังได้กล่าวถึง การจัดการประชุมสัมมนาวิชาการ Phuket Dialogue ในปี 2565 ว่า ได้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18-22 มีนาคม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น แนวทางในการแก้ไข และสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้เกี่ยวข้องระดับท้องถิ่นและระดับโลกในการสร้างอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มุ่งเน้นเพื่อนำวันแห่งความรุ่งโรจน์กลับคืนสู่ภูเก็ต( Bring Back the Glory Days to Phuket) คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,200 คนจากทั่วโลกทั้ง นักวิชาการ นักนโยบาย ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ/นักธุรกิจ นักลงทุน องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชุมชน นักศึกษาและบุคคลทั่วไป

โอกาสนี้ ดร. อาแซ ได้เชิญชวนชาวภูเก็ตร่วมเป็นเจ้าภาพในการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมภูเก็ตในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ และขอเชิญชวนองค์กรและหน่วยงานต่างๆที่สนใจร่วมเป็นหุ้นส่วนและสนับสนุนในการจัดงานนี้