มอ.ภูเก็ต นำเสนอผลงานวิจัย การเปลี่ยนผ่านด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

โพสเมื่อ : Sunday, January 12th, 2020 : 12.54 pm

มอ.ภูเก็ต เสนอผลงานการวิจัย การเปลี่ยนผ่านด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีของกลุ่มจังหวัดอันดามัน  Digital Transformation For Andaman Provinces หวังส่งเสริมการท่องเที่ยว

รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นสถาบันที่รวมคณาจารย์ นักวิจัยที่มีความรู้ การเรียนการสอนและสร้างสรรค์ศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี โดยเปิดสอน หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ)  หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

โดยศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสามารถนำไปประยุกต์และพัฒนาร่วมกับศาสตร์ด้านอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง  ยุทธศาสตร์ด้านนี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของประเทศและความเข้มแข็งของพื้นที่ฝั่งอันดามันที่มีธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวในระดับโลก การบริการด้านการแพทย์และสุขภาพในระดับต้น ๆ ของเอเชีย ด้วยความได้เปรียบในเชิงพื้นที่และการมีส่วนร่วมกับชุมชน การนำศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีมาร่วมในการพัฒนา เชื่อว่าสามารถที่จะสร้างงานวิจัยและพัฒนางานและนวัตกรรมด้านดิจิทัลที่เพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่ และพร้อมที่ขยายสู่ระดับนานาชาติ

 

วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคนและการท่องเที่ยวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล วิทยาลัยฯ ได้มีโครงการสำหรับการพัฒนาคนภายใต้โครงการ Smart Education โดยมีความร่วมมือกับโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ตและขยายสู่โรงเรียนอื่นในภาคใต้ และโครงการการบริการข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยว โดยรวมแหล่งข้อมูลการท่องเที่ยว และให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และการวิเคราะห์ข้อมูล สำหับภาครัฐในการกำหนดนโยบายและการวิเคราะห์ปัญหา ให้กับภาคเอกชนเพื่อการตลาดและบริการมูลค่าเพิ่ม โดยการเปลี่ยนผ่านด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีของกลุ่มจังหวัดอันดามัน ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมของศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (AI-TaSi) โดยมีคณาจารย์จากวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์และคณะการบริการและการท่องเที่ยว เป็นนักวิจัยที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการ

ดร.กฤตศิลป์ ศิลานนท์ ผู้จัดทำโครงการ Smart Education กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) หมายถึง การที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ถูกเชื่อมโยงสู่อินเทอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ ความสามารถเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการบริการแบบอัจฉริยะรูปแบบใหม่ ๆ อีกมากมายในอนาคต รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ เช่น IBM, Microsoft, Google, Cisco หรืออื่น ๆ หันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยี IoT

จึงทำให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก การจะเข้าใจในเทคโนโลยี IoT จะต้องมีพื้นฐานความสามารถในด้านการเขียนโปรแกรมซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ยากไปสำหรับผู้เริ่มต้น วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสถาบันทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในท้องถิ่นได้เข้าใจถึงเทคโนโลยีทางด้าน IoT จึงได้จัดทำสื่อการเรียนการสอนทางด้าน IoT ที่ราคาถูกและง่ายต่อการเรียนรู้ โดยจัดทำให้อยู่รูปแบบของ Block Programming ซึ่งเป็นการพัฒนาโปรแกรมโดยใช้สัญลักษณ์ภาพแบบตัวต่อที่สามารถนำมาเรียงต่อกันตามลำดับการทำงานแทนการเขียนโปรแกรมด้วยรหัสคำสั่ง การเขียนโปแกรมในลักษณะนี้จะทำให้ผู้เรียนสนุก ไม่เบื่อหน่าย เรียนรู้ได้เร็ว และมีแนวโน้มที่นักเรียนต้องการศึกษาเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น

สื่อการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมายังสามารถที่จะทำการแปลคำสั่งออกมาในรูปแบบของโปรแกรมภาษาซี (C Programming Language) ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจในโครงสร้างของการเขียนโปรแกรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเขียนโปรแกรมให้สามารถนำไปต่อยอดศึกษาในระดับสูงต่อไปได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ควบคู่กับรายวิชา วิทยาการคำนวณ (Computing Science) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ให้นักเรียนเริ่มเรียนภายในปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวิชาที่มีความจำเป็นในการเสริมสร้างทักษะพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ และแบบเรียนที่พัฒนาขึ้นได้เน้นเสริมสร้างกระบวนการคิดเชิงตรรกะร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงจากชุดทดลองเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ ทำให้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะใช้ตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนและสอดคล้องกับนโยบายภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ (Phuket Smart City) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะรองรับแผนพัฒนาตามแนวทางการเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้น

นอกจากจัดทำชุดการเรียนการสอนทางด้านอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง และจัดอบรมให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ โรงเรียนสตรีภูเก็ต โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทำความร่วมมือกับวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ทางด้านวิชาการ การสอน การจัดค่ายกิจกรรม และการเป็นที่ปรึกษาการทำโครงการให้กับนักเรียนอีกด้วย ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการกับสถานศึกษาในกลุ่มจังหวัดอันดามันเพื่อการพัฒนาเยาวชนและสร้างบุคลากรที่สำคัญของชุมชนในพื้นที่อันดามันต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อชีส นันทอมรพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย บัณฑิตศึกษาและบริการวิชาการ หัวหน้าโครงการศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน ได้ให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวว่า เป็นที่ทราบดีว่าเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมการบริการ ท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นหลัก รวมถึงประเทศไทยได้มีนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการให้บริการเชิงสุขภาพมานานกว่า 10 ปี และปรับปรุงตลอดมา

โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งเน้นการการพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและบริการมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะด้าน โดยมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งในผู้นำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับภูมิภาค ซึ่งสามารถสร้างรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงหลายกลุ่ม อาทิ นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ  (Senior Travelers) นักท่องเที่ยวแบบครอบครัว (Family Travelers) นักท่องเที่ยวแบบประหยัด (Backpacking Travelers)  นักท่องเที่ยวแบบอิสระ (Independent Travelers)  นักท่องเที่ยวกลุ่มกีฬา (Sport Tourist) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และคณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว เพื่อนำผลจากการศึกษาที่ได้มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยว และการบริการในกลุ่มจังหวัดอันดามันเช่น ข้อมูลการรีวิวการใช้บริการที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ ข้อมูลการสำรวจเชิงพื้นที่ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยว ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยข้อมูลเหล่านี้จะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำขึ้น และนำไปพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการบริการ เช่น Forecasting system (ระบบการพยากรณ์) Logistic planning system (ระบบการวางแผนโลจิสติกส์) Travel planning system (ระบบการวางแผนการเดินทาง) จำเป็นต้องอาศัยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) วิทยาการข้อมูล (Data Science) วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) รวมถึงศาสตร์ทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Industry) จึงจัดตั้งศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ฯ มีดังนี้ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านท่องเที่ยวและการบริการฝั่งอันดามัน เพื่อบริการแก่หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ ชุมชน และนักท่องเที่ยว ให้คำปรึกษา คำแนะนำและการฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับข้อมูลและสารสนเทศด้านการท่องเที่ยวและการบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการและการวางแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดอันดามันสำหรับภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชน ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวและการบริการให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการและชุมชน เพื่อเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ และเพิ่มพูนศักยภาพของนักวิจัยเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและการบริการ สำหรับตัวอย่างโครงการที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์ฯ ได้แก่ Phuket Smart Tourism และการพัฒนาช่องทางทางการตลาดของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ ในพื้นที่ภาคใต้สู่ระดับสากล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อชีส นันทอมรพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย บัณฑิตศึกษาและบริการวิชาการ  กล่าวต่อว่า ธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพเป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวและพักผ่อนที่ผนวกกิจกรรมด้านการดูแลสุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่องคณะผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในตลาดธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้โดยการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของสปาเพื่อสุขภาพในภาคใต้ภายใต้แพลตฟอร์มที่ชื่อ Spa Business Information Management System (SPA-BIM)

ซึ่งระบบดังกล่าวนี้จะช่วยรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้ในอนาคตผู้วิจัยคาดว่าจะพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารสารสนเทศ Spa – BIM System โดยจะรวบรวมข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เข้าชมเว็ปไซต์ ผู้เข้าใช้แอปพลิเคชัน ข้อมูลการตอบโต้ทางโทรศัพท์ ข้อมูลการสนทนาผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยในการปรับปรุงการสื่อสารกับลูกค้า และเพิ่มมูลค่าให้ได้มากที่สุดด้วยการส่งข้อเสนอสุดพิเศษให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และยังช่วยแก้ปัญหาที่เกิดกับลูกค้าที่เป็นการแก้ปัญหาเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้วิจัยจะดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถช่วยสนับสนุนความต้องการเฉพาะของผู้บริหารแต่ละคน  และรูปแบบของผลลัพธ์อาจจะอยู่ในรูปแบบของรายงานเฉพาะกิจหรือรายงานการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจ การคาดการณ์ทางการตลาด ซึ่งสามารถดูข้อมูลได้จาก http://southernspa.info/

ดร.กาญจนา เหล่าเส็น ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับด้านการท่องเที่ยว ในฐานะผู้จัดทำโครงการ Phuket Smart Tourism  ด้วยจำนวนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นที่สะท้อนถึงทัศนคติ ความชอบ และความสนใจและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์แต่จำเป็นต้องมีการจัดเก็บและรวบรวมที่ดีสำหรับพร้อมใช้งาน และเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและชุมชน นำไปสู่การท่องเที่ยวแบบชาญฉลาดเพื่อยกระดับจังหวัดภูเก็ตในด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ระบบอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญและจำเป็นทั้งการจัดเก็บ การวิเคราะห์และการนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การใช้งานที่หลากหลาย เช่น  Forecasting System (ระบบการพยากรณ์) Travel Planning System (ระบบการวางแผนการเดินทาง) ในการนำวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) วิทยาการข้อมูล (Data Science)  รวมถึงศาสตร์ทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Domain) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะสั้น เก็บข้อมูลขนาดใหญ่จากสื่อสังคมออนไลน์เพื่อพัฒนาโครงสร้างการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลความสนใจของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม โดยรวบรวมข้อความจากกระดานสนทนาออนไลน์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเช่น TripAdvisor และ Booking.com ในช่วง 5 ปีแรก และวิเคราะห์หาแนวโน้มของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มและหาความสัมพันธ์ของข้อมูลความสนใจของนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต

ระยะกลาง เก็บข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ช่วง 5 ปีหลัง และวิเคระห์หาความสัมพันธ์ของข้อมูล เช่น พัฒนาระบบที่จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำผลการวิเคราะห์มาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสนับสนุนการวางแผนที่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ ภาครัฐและเอกชน

ระยะยาว เก็บข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องและพัฒนาระบบอัจฉริยะเพื่อรองรับพื้นที่จังหวัดในอันดามันซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวอย่างมีคุณภาพสามารถมีข้อมูลในการตัดสินใจและการวางแผนการเดินทาง ตลอดจนเป็นแนวทางในการปรับปรุงสินค้าและบริการเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดในอันดามัน

ซึ่งระบบสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับทุกส่วนในจังหวัดภูเก็ตดังนี้ 1) นักท่องเที่ยว ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว แหล่งที่พัก การเดินทาง การวางแผนการเดินทาง การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวผ่านแอพพลิเคชันซึ่งนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพตรงตามความสนใจของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม 2) ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยว สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ด้านพยากรณ์การตลาด สนับสนุนการวางแผนด้านการตลาด พยากรณ์ความต้องการและความสนใจของนักท่องเที่ยว กำหนดกลยุทธ์การตลาดด้านการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์

รวมถึงสามารถออกแบบหรือปรับปรุงสินค้าและบริการ ให้ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวให้ตรงตามความสนใจของลูกค้าแต่ละกลุ่มโดยอยู่บนพื้นฐานบนพื้นฐานขีดความสามารถของตนเองและทรัพยากรได้ และยังก่อให้เกิดการกระจายรายได้ทั่วถึง   3) ภาครัฐ นำผลการวิเคราะห์ไปพิจารณาออกแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัดและประเทศที่ตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมถึงการการวางแผนและจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการต่างๆ และ 4) ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ช่วยปรับพื้นที่ เส้นทาง การให้ข้อมูล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตามขึดความสามารถในแต่ละพื้นที่ และส่งผลให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ 5) รัฐวิสาหกิจเ ช่น การท่าอากาศยานภูเก็ต สามารถวางแผนการรองรับนักท่องเที่ยว สามารถขยายขีดความสามารถในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้ในอนาคต

โดยผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ของศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน ได้ที่ www.ai-tasi.org