มท.3 ลงพื้นที่ภูเก็ตติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม

โพสเมื่อ : Thursday, February 20th, 2020 : 6.08 pm

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ติดตามการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต แก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองภูเก็ต

เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (20 ก.พ.) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ (สวนหลวง) ถนนเจ้าฟ้า ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีนายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสมมิตร์ สมบูรณ์ รักษาการโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต นายถาวร จิระพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนในพื้นที่ และนายสุวพงษ์ ภูนาคพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปโครงการ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากเช่นกัน หน่วยงานในพื้นที่ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พร้อมกันนี้รัฐบาลได้เล็งเห็นความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำการศึกษา ออกแบบ และจัดทำโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต อำเภอเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ตอย่างเร่งด่วน ด้วยการจัดสรรงบประมาณกว่า 514 ล้านบาท แก้ปัญหาในระยะที่ 1 ก่อนที่จะดำเนินการต่อในระยะต่อไป

 

โดยการเดินทางมาครั้งนี้ติดตามดูปัญหาอุปสรรคของการดำเนินโครงการและพบปะพี่น้องประชาชน เพื่อให้โครงการเกิดความสัมฤทธิ์ผลในการดำเนินการและการเบิกจ่ายงบประมาณและให้โครงการเสร็จสิ้นตามกรอบระยะเวลา โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ปีละ 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเมืองที่ ผู้คนจากทั่วโลกสนใจเดินทางมาท่องเที่ยว ดังนั้นการลงทุนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตถือว่ามีความคุ้มค่า เพราะการพัฒนาจะทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

 

สำหรับโครงการต่างๆที่ยังคงคั่งค้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกรมโยธาธิการและผังเมือง จะเร่งรัดติดตามให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ในส่วนของผู้รับจ้างบริษัทที่ดำเนินการล่าช้ากรมโยธาธิการและผังเมืองก็จะลงมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามการดำเนินงานทุกโครงการจะต้องมีการสื่อสาร ภาพรวมทั้งจังหวัดทั้งภาครัฐเอกชนและประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนช่วยขับเคลื่อนให้โครงการสำเร็จลุล่วงด้วยดี และในวันพรุ่งนี้ก็จะมีการติดตามเรื่องการแก้ปัญหาน้ำในช่วงฤดูแล้งซึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอาจจะมีปัญหาน้ำแล้งบ้างในบางช่วงเวลา เนื่องจากการประปา ลดแรงดันในการจ่ายน้ำ ในเรื่องนี้ก็จะหาแนวทางแก้ปัญหาทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน

ด้านนายสุวพงษ์ ภูนาคพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต พบว่าสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมมาจากปริมาณน้ำหลากจากภูเขาที่อยู่รอบๆ ชุมชนเมืองภูเก็ต มีปริมาณมากเกินกว่าความสามารถในการระบายน้ำลงคลองบางใหญ่ คลองท่าแครง คลองแสนสุข และคลองร่วมน้ำใจ อีกทั้งสภาพคู คลองบางช่วงมีขนาดแคบ ตื้นเขิน และท่อระบายน้ำเดิมมีขนาดเล็ก ดังนั้นเมื่อฝนตกหนัก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง อีกทั้งปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงทำให้น้ำในคลองต่างๆ เอ่อล้นตลิ่ง หลังจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานในพื้นที่ จึงทำการศึกษา ออกแบบและจัดทำโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 งานปรับปรุงระบบระบายน้ำ ส่วนที่ 2 งานสร้างสถานีสูบน้ำ

 

ส่วนที่ 1 งานปรับปรุงระบบระบายน้ำ จำนวน 10 รายการ ประกอบด้วย (1) คันป้องกันตลิ่ง ริมคลองบางใหญ่ (2) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำสวนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ร.9 (3) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองลัด (คลองบางใหญ่ถึงคลองแสนสุข) (4) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนสุรินทร์–ถนนพังงา–ถนนวีรพงศ์หงส์หยก ลงสู่คลองแสนสุข (5) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองร่วมน้ำใจ จากสะพานถนนอำเภอถึงสะพาน-

ถนนอนุภาษภูเก็ตการ (6) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองร่วมน้ำใจจากสะพานพูนผล 1 ถึงสะพานรัษฎา 1 (7) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนอำเภอจากลำรางของเดิมลงสู่คลองสะพาน-ซอยเสนานิเวศน์ (8) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองบางใหญ่ (สะพานพระอร่าม–หมู่บ้านศุภาลัย) (9) งานก่อสร้างคันป้องกันตลิ่งคลองร่วมน้ำใจ และ (10) งานก่อสร้างระบบระบายน้ำคลองท่าแคลง ส่วนที่ 2 งานสร้างสถานีสูบน้ำ จำนวน 3 รายการ ประกอบด้วย (1) งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองบางใหญ่ (2) งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองแสนสุข และ (3) งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองร่วมน้ำใจ

 

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 – 2564 ปัจจุบันมีความคืบหน้า ร้อยละ 44 และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กำชับให้ผู้รับจ้างเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดการ ซึ่งเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายถาวร จิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ต เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีคลองบางใหญ่เป็นคลองสายหลักที่รองรับน้ำจากอำเภอกะทู้ ไหลผ่านใจกลางเมือง ก่อนระบายลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวสะพานหิน และยังรวมถึงปริมาณน้ำจากพื้นที่รอยต่อประกอบด้วยเขตเทศบาลตำบลรัษฏาและเขตเทศบาลตำบลวิชิตที่ไหลเข้าสู่เขตเทศบาลนครภูเก็ตอีกด้วย เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ต ทำให้ประชาชน อาคารบ้านเรือนและสิ่งสาธารณะประโยชน์ของทางราชการชำรุดเสียหายเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ กระแสความแรงของน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากทำให้ตลิ่งถูกกัดเซาะชำรุดเสียหายเป็นช่วงๆ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาซ้ำซากที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างถาวร

 

เทศบาลนครภูเก็ตได้ตั้งงบประมาณเพื่อแก้ปัญหานี้มาโดยตลอดทุกปี แต่ด้วยงบประมาณที่มีอย่างจำกัดก็ไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ ดังนั้น เทศบาลนครภูเก็ต จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมืองด้วยดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างระบบป้องกัน น้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด อึ้งแซเฮง ในวงเงินค่าก่อสร้าง 455,891,432 บาท (สี่ร้อยห้าสิบห้าล้านแปดแสนเก้าหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อยสามสิบสองบาทถ้วน) หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จก็จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนเมืองได้เป็นอย่างดี

 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมระยะที่ 2 อีก 8 โครงการ ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตได้จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ผ่านทางสำนักงานโยธาธิการและ ผังเมืองจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยในโอกาส ต่อไป  โดยในนามของเทศบาลนครภูเก็ตและประชาชนในจังหวัดภูเก็ต ขอขอบคุณ กรมโยธาธิการและผังเมือง  กระทรวงมหาดไทย ที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ตมาโดยตลอด