ภูเก็ตเดินหน้าจัดการความปลอดภัยทางถนนรับระบบตรวจจับยานพาหนะ

โพสเมื่อ : Friday, April 21st, 2017 : 9.02 pm

 

จังหวัดภูเก็ตลงนามบันทึกข้อตกลง รับมอบระบบตรวจจับยานพาหนะกระทำผิดฯ พร้อมป้ายทางข้าม 97 จุด จากมูลนิธิ Safer Roads Foundation สนับสนุนความปลอดภัยทางถนนในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงรับมอบระบบตรวจจับยานพาหนะกระทำผิดฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัติ (Red Light Camera) และป้ายทางข้าม 97 จุด ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิ Safer Roads Foundation มีนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานในพิธี ลงนามร่วมกับ มูลนิธิ Safer Roads Foundation โดย Mr.Michel Woodford ประธานมูลนิธิฯ พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธานคณะทำงานแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด หรือ สอจร. ตลอดจนผู้แทนจากแขวงทางหลวงภูเก็ต แขวงทางหลวงชนบท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธาน สอจร. กล่าวถึงความเป็นมาการทำพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ว่า เนื่องจากมูลนิธิ Safer Roads Foundation โดย Mr.Michel Woodford ได้มีเจตนารมณ์ สำคัญที่จะช่วยประเทศไทย ในกรอบความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2015-2017 ในการที่จะช่วยเหลือจังหวัดต่างๆ เพื่อทำให้เกิดโครงการที่เป็นโครงการนำร่องในการลดอุบัติเหตุ ซึ่งลงมือช่วยจังหวัดใหญ่ๆ หลายจังหวัด อาทิเช่น จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ รวมทั้งจังหวัดภูเก็ตด้วย ในจังหวัดภูเก็ตทางมูลนิธิ Safer Roads Foundation ร่วมกับภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุในจังหวัดภูเก็ต ได้จัดทำโครงการขึ้นไปขอสนับสนุนงบประมาณ ทางมูลนิธิฯ ได้ช่วยเหลือสนับสนุนโครงการในจังหวัดภูเก็ตมาทั้งหมด 9 โครงการ

เริ่มต้นด้วยการมอบเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ภายใต้โครงการเมาไม่ขับ ของตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต จากปัญหาที่มีคนเมาแล้วขับเป็นจำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ผลจากการดำเนินโครงการพบว่าการบาดเจ็บลดลงกว่า 3% การเสียชีวิตลดลงประมาณร้อยละ 8 ในรอบปีที่ผ่านมา

โครงการสร้างวงเวียนสุรินทร์-นริศร หน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเดิมเป็นสี่แยก พบว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้น 30-40 ครั้งต่อปี และมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบริเวณดังกล่าว 5-9 รายต่อปี หลังจากการสร้างวงเวียนเป็นต้นมา ในเดือนมกราคม ของปี พ.ศ.2559 ปรากฏว่าไม่มีผู้เสียชีวิตเลย มีอุบัติเหตุลดลงอย่างชัดเจน

นอกจากนั้นทางมูลนิธิฯ ยังได้สนับสนุนโครงการในการแก้ไขจุดเสี่ยงจังหวัดภูเก็ตอีก 16 จุด ซึ่งดำเนินการหลังเดือนพฤษภาคม 2559 พบว่าการเกิดอุบัติเหตุลดลง 60 กว่าราย การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุลดลง 50 กว่าราย ขณะที่การเสียชีวิตใน 16 จุดดังกล่าวลดลง 8 ราย

นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากการแก้ไขจุดเสี่ยงแล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังได้มอบอุปกรณ์ตรวจจับความเร็วเพื่อให้ตำรวจใช้ ขณะนี้ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิฯ รวมกับงบประมาณของจังหวัดในรอบที่แล้ว ทางตำรวจภูเก็ต มีอุปกรณ์ตรวจจับความเร็วทั้งหมด 4 เครื่อง

ภูเก็ตมีปัญหารถบัสหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ตกเขา เนื่องจากว่าบรรทุกเกิน ทาง Safer Roads ก็มอบเครื่องชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่เร็วให้จังหวัดภูเก็ต เช่นเดียวกัน ซึ่งทางตำรวจดำเนินการบังคับใช้ในการตรวจไม่ให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินขึ้นเขา ขณะนี้ ตั้งแต่มีการมอบเครื่องมือนี้ดังกล่าว ก็ยังไม่มีรถตกเขา

เรื่องของ Red Light Camera เรามีปัญหาเรื่องการฝ่าไฟแดง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญ ทางมูลนิธิฯ จึงได้มอบอุปกรณ์ในการตรวจจับการฝ่าไฟแดงให้เราทั้งหมด 5 จุดใน 3 อำเภอ ในระบบนี้ สามารถตรวจจับในเรื่องการไม่สวมหมวกนิรภัย การตรวจจับความเร็ว การตรวจ License การตรวจนับรถที่ผ่านทางแยกด้วย ซึ่งตรงส่วนนี้ Phuket Smart City ก็ได้มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นเราจะมีระบบตรวจจับแบบอีก 8 จุดในจังหวัดภูเก็ต

เนื่องจากว่าการติดตั้งป้ายก็ค่อนข้างยากลำบาก ทาง Safer Roads ได้ประเมินดูแล้วก็สนับสนุนงบเพิ่มอีกล้านกว่าบาทในการติดตั้งป้ายเตือนเพิ่มขึ้นใน 5 ทางแยก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ เรื่องของการมีอุบัติเหตุสำหรับคนเดินถนน พบว่าในปีที่แล้ว มีอุบัติเหตุ 200 กว่าราย เสียชีวิต 6 ราย ด้วยการที่ป้ายทางข้ามอาจจะไม่ชัดเจนพอเพราะฉะนั้น ทาง Safer Roads ก็สนับสนุนเรื่องป้ายทางข้าม ก็อยู่ระหว่างการติดตั้ง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเร็วๆ นี้

การลดอุบัติเหตุจาก 200 กว่ารายต่อปี ขณะนี้ลดลงเหลือ 100 กว่ารายต่อปี จากนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่จะลดการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 50 รายต่อปี ด้วยการดำเนินการที่แข็งขัน หวังว่าตรงนี้จะช่วยชีวิต ประชาชนได้อีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ราย เพื่อให้สู่ vision fifty

ด้านนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่องค์กรเอกชนจากต่างประเทศเห็นการทำงานของภาคีเครือข่าย ซึ่งทำงานอย่างทุ่มเท ต้องยอมรับว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดการท่องเที่ยว จุดแข็งของจังหวัด คือการก้าวไปสู่การท่องเที่ยวนานาชาติ ซึ่งการที่จะก้าวไปสู่การท่องเที่ยวนานาชาติ ปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ปัญหาที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ ของจังหวัดภูเก็ต คือเรื่องการจราจร สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือการสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการเคารพต่อระเบียบวินัยด้านการจราจร แต่สิ่งเหล่านี้ลำพังเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือมาช่วยในการแก้ไขปัญหาจราจรในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นนิมิตรหมายที่ดีรัฐบาลปัจจุบันได้เน้นย้ำเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ซึ่งตนเชื่อว่าเครื่องมือที่ได้รับการสนับสนุนจากทางมูลนิธิ Safer Roads จะทำให้คนภูเก็ตมีวินัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น

ขณะที่ Mr.Michel Woodford ประธานมูลนิธิ Safer Roads Foundation กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความแตกต่าง เพราะว่าจิตใจของคนไทยดีงาม เป็นประเทศที่มีรอยยิ้ม แต่ก็น่าเสียดาย บางครั้งรอยยิ้มเหล่านั้นต้องมาเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกคืนมาได้ ตนทำงานในฐานะของมูลนิธิฯ ไปทำในประเทศไทยหลายพื้นที่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และที่จังหวัดกระบี่ เป็นจังหวัดแรกที่ตนเริ่มต้นทำงาน มีความประทับใจกับการทำงานในภาคีเครือข่ายในจังหวัดภูเก็ต ทำงานอย่างเข้มแข็ง และได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในโปรเจ็กที่เริ่มดำเนินการ เป็นการทำให้เห็นว่าหลายๆ เรื่อง ถ้าเราได้ลงมือทำลงมือปฏิบัติหรือว่าการใช้ระบบสามารถที่จะป้องกันชีวิตคนได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการตรวจหมวกนิรภัย หรือเรื่องอื่นๆ ในอนาคตจะได้มีการขยายผลเข้าไปในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป