ภูเก็ตติดเชื้อเพิ่มอีก 3 ราย คนไทย 1 ต่างชาติ 2 ราย ไม่แสดงอาการ

โพสเมื่อ : Wednesday, June 16th, 2021 : 10.11 am

 

สสจ.ภูเก็ตเผย วันนี้ ภูเก็ตพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 3 ราย เป็นคนไทย 1 ต่างชาติ 2 ราย เป็นผู้ป่วยไม่แสดงอาการ  เร่งลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยง เน้นย้ำพบผู้ป่วยไม่แสดงอาการแสดงว่าเชื้อกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ขอให้ทุกปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 

นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในรายการ “ผู้ว่าฯพบประชาชน” ทาง สทว.ภูเก็ต เมื่อเวลา 08.00 น.วันนี้ (16 มิ.ย.) ว่า ภูเก็ตมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมแล้วทั้งหมด 684 คน กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 26 คน เสียชีวิต 5 คน และอยู่ในสถานกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 176 คน และตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.มีผู้ป่วยเฉลี่ย 1 คนมาตลอด จนเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาเป็น 4 คน เป็นผู้ป่วยที่มาจากคลัสเตอร์พูนผล และ ตลาดเกษตร ได้เชิญตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 50 คน เข้าสู่สถานกักตัว จนเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 3 คน เป็นแรงงานพม่า 1 คน  คนไทย 1 คน เกี่ยวเนื่องกับคลัสเตอร์พูนผล และชาวอิสราเอล 1 ราย เข้ามาตรวจเพื่อเดินทาง

ส่วนเช้าวันนี้ ได้รับรายงานแล้วว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มอีก 3 ราย เป็นคนไทย 1 ราย พบเชื้อจากการตรวจร่างกายเพื่อทำการผ่าตัด และอีก 2 คน เป็นชาวต่างชาติ ลูกของผู้ป่วยชาวอิสราเอล ที่ทางสสจ.ได้ทำการสวอปหาเชื้อก่อนที่จะเข้าสู่การสถานกักตัว หรือ LQ

 

“ในช่วง 2-3 วันที่ผ่าน เราพบผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ 2 ราย จากการตรวจร่างกายเพื่อเดินทาง ทำให้เห็นว่ายังมีเชื้อกระจายอยู่ในภูเก็ต ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แม้ว่าจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะไม่สูงมากนักในขณะนี้” นายแพทย์กู้ศักดิ์ กล่าวและว่า

 

อย่างไรก็ตามทางสาธารณสุข ได้ร่วมกับ อบจ.ภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขอำเภอ ออกค้นหาป่วยเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง โดยในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการทั้งหมด 23 ครั้ง จำนวน 4,308 ราย พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 11 ราย เดือน มิ.ย. จำนวน 5 ครั้ง สวอปไปทั้งหมด 1,000 กว่าคน วันนี้ได้ลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเฝ้าระวังเชิงรุก ที่ท่าเทียบเรือประมง ทั้งแรงงานไทยและพม่า เพื่อเฝ้าระวัง เพื่อสร้างความมั่นใจในการค้นหาผู้ป่วย เพราะเมื่อค้นหาผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาหารได้เร็ว จะสามารถสกัดการแพร่ระบาดได้เร็วเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ออกค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยติดเชื้ออีกด้วย