ภาคเอกชนด้านท่องเที่ยว เสนอสกัดกั้นนักท่องเที่ยวประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าภูเก็ต 30 วัน เผย 2 เดือนรายได้หดกว่า 5 หมื่นล้าน

โพสเมื่อ : Monday, March 16th, 2020 : 12.20 pm

 

องค์กรเอกชนภูเก็ต ออกแถลงการณ์ผลกระทบจากโควิด -19 แค่เดือนกุมภาพันธ์สูญรายได้ 24,000 ล้าน คาดว่ามีนาคมจะกระทบหนักกว่าประเมินรายได้หายไปเกือบ 30,000 ล้าน ไม่รวมจากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จากนักท่องเที่ยวหาย 50% เสนอรัฐตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน Covid 19 ภูเก็ตพร้อมของบ 100 ล้าน ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาด เสนอให้ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงเข้าภูเก็ตเป็นเวลา 30 วัน โดยยอมสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวเพื่อลดโอกาสเชื้อที่จะแพร่สู่ชาวภูเก็ต

 

ภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต 9 องค์กร ซึ่งประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง สมาคมโรงแรมหาดกะตะกะรน และ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ สรุปภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2563 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของภูเก็ต ปัญหาอุปสรรคในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รวมไปถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ และข้อเสนอของภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต

 

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุ ว่า การแพร่ระบาดของไวรัส Covid 19 ได้ขยายวงสู่หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวการเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ลุกลามไปยังหลายประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต

 

ตัวเลขผู้โดยสารในเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันโดยเฉลี่ยที่ 42% โดยเป็นการอ้างอิงจากจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาทางท่าอากาศยานภูเก็ต ที่สามารถแบ่งเป็นผู้โดยสารชาวต่างชาติจากเที่ยวบินที่เดินทางมาจากต่างประเทศลดลงประมาณ 48% และผู้โดยสารที่เดินทางผ่านเที่ยวบินภายในประเทศที่ลดลงประมาณ 36%  

 

ตัวเลขผู้โดยสารระหว่างวันที่ 1-10 มีนาคม 2563 มีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันโดยเฉลี่ยที่ 52% โดยเป็นการอ้างอิงจากจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาทางท่าอากาศยานภูเก็ต ที่สามารถแบ่งเป็นผู้โดยสารชาวต่างชาติจากเที่ยวบินที่เดินทางมาจากต่างประเทศลดลงประมาณ 64% และผู้โดยสารที่เดินทางผ่านเที่ยวบินภายในประเทศที่ลดลงประมาณ 38%

 

ผู้โดยสารจากเที่ยวบินจากต่างประเทศที่มีการลดลงอย่างชัดเจนคือ จากประเทศจีน, เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และประเทศเกาหลีใต้ ในขณะที่ผู้โดยสารชาวอินเดียเริ่มได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินตรงจากประเทศอินเดียของสายการบินของประเทศอินเดีย รวมถึงการลดจำนวนเที่ยวบินของสายการบินภายในประเทศที่ให้บริการเชื่อมต่อเที่ยวบินจากต่างประทศที่ผ่านท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

การปิดประเทศของประเทศอิตาลี และจากการประกาศปิดประเทศห้ามเดินทางของรัฐบาลในหลายประเทศในยุโรป ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ซึ่งในบางประเทศนิยมเดินทางมาจังหวัดภูเก็ตในช่วงฤดูร้อน เช่น เบลเยี่ยม เนเธอแลนด์ และฝรั่งเศส ทั้งนี้ทางสมาคมฯ ได้รับข้อมูลการจองล่วงหน้าของสายการบินต่างประเทศบางสาย และพบว่าอัตราการจองลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม รวมถึงการเข้าสู่ปลายฤดูกาลท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวยุโรป ที่เที่ยวบินเช่าเหลาลำจากประเทศรัสเซีย ฟินแลนด์และ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนกำลังจะหมดฤดูกาลในกลางเดือนเมษายน 2563

 

สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้ประเมินตัวเลขการสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยใช้สมมติฐานตัวเลขเปรียบเทียบจากจำนวนนักท่องเที่ยวรวมที่เกิดขึ้นในปี 2562 สามารถประเมินได้ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรงอย่างน้อยประมาณ 24,500 ล้านบาท และส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบอีกอย่างน้อย 18,960 ล้านบาท (โดยไม่ได้นับรวมการสูญเสียจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์)

 

การสูญเสียทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2563 น่าจะสูงกว่าประมาณการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ขยายไปจนทั่วทวีปยุโรป และจำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และอย่างรวดเร็ว โดยทางสมาคมฯ​ ประเมินว่าจะเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรงอย่างน้อยประมาณ 29,700 ล้านบาท และส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบอีกอย่างน้อย 20,960 ล้านบาท (โดยไม่ได้นับรวมการสูญเสียจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์)

 

ภาคเอกชนได้ประเมินว่า หากปริมาณผู้ติดเชื้อในประเทศจีนลดลง และสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางกลับมาในปลายเดือนกรกฎาคม โดยคาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางร้อยละ 50 ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และน่าจะเริ่มเดินทางอย่างเป็นปกติในช่วงวันชาติจีนในเดือนตุลาคมนี้

 

ส่วนนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน น่าจะเห็นสัญญานการฟื้นตัวในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

 

ประเด็นที่ท้าทายของแนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคต ไม่ใช่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาในช่วงเวลาใด หากเป็นประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดในประเทศให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดได้หรือไม่ เพราะต่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพร้อมจะเดินทางกลับมา แต่เกิดการระบาดภายในประเทศไทย ย่อมไม่มีนักท่องเที่ยวชาติไหนจะเดินทางเข้ามา และผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของประเทศจะต้องอาศัยเวลาและทรัพยากรในการแก้ไขมากกว่าการระงับไม่ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในช่วงนี้

 

นอกจากนี้แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า จากมติของคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 มีนาคม 2563 เรื่องการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ Covid 19 นั้น นับเป็นเรื่องที่ดีและแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในการออกมาตรการที่ตอบสนองทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเด็นปัญหาสำคัญคือความรวดเร็วในการพิจารณาอนุมัติการใช้มาตรการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม เพราะทุกหน่วยงานมักอ้างเรื่องกระบวนการและงานเอกสาร ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำมาตรการที่ดีเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างทันท่วงที

 

จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย และได้สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างมากให้กับประเทศมาโดยตลอด แต่จากการบริหารราชการแผ่นดินในระบบบริหารราชการปัจจุบันมิได้ทำให้ภูเก็ตมีภูมิคุ้มกันจากข้อแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกแต่อย่างใด

 

การระบาดของ Covid 19 แสดงให้เห็นว่า ระบบการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน มีความเปราะบางและไร้กลไกการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบงบประมาณที่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน ในการที่สามารถจะสนับสนุนกิจกรรมสำคัญตามความจำเป็นได้ ทำให้มาตรการในการควบคุมการระบาดในจังหวัดภูเก็ตเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ และงบประมาณในการสนับสนุนปฏิบัติการณ์หลายอย่างเป็นการระดมทุนมาจากภาคเอกชน เพราะไม่สามารถรองบประมาณจากภาครัฐได้

 

ความสับสนในการปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2563 โดยได้ระบุท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายถึงวิธีการปฏิบัติ รวมไปถึงวิธีในการควบคุมให้นักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้งหลายได้ทำการกักกันตัว รวมถึงระบบติดตามตัวที่ก่อให้เกิดคำถามเรื่องประสิทธิภาพในการติดตามและทำได้จริง โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของการเริ่มบังคับใช้ประกาศที่ทุกวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสถานที่กักตัว 14 วันของนักท่องเที่ยวที่มาจาก 4 กลุ่มประเทศร้ายแรง แม้ทางภาคเอกชนได้ทำหนังสือขอความชัดเจนไป แต่ก็ยังไม่ได้รับการชี้แจงแต่อย่างใดจากกระทรวงสาธารณสุข

 

ความไม่มีเสถียรภาพในการทำงานและการขาดการบูรณาการของหน่วยงานในกระบวนการคัดกรองที่ท่าอากาศยานภูเก็ต โดยเฉพาะการมีประกาศจากหลายกรม หลายกระทรวงที่ขัดแย้งกัน ส่งผลให้ฝ่ายปฏิบัติงานสับสน และในที่สุดคือไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

 

เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermoscan) ซึ่งควรจะมีติดตั้งประจำจุดที่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต และจุดขึ้นลงของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทางเรือให้ทั่วถึงนั้น พบว่านับ ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์จนวันนี้มีเครื่องตรวจวัดประจำอยู่ 1 เครื่องที่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต ในพื้นที่ส่วนอื่นได้ใช้กระบวนการคัดกรองจากเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิแบบมือถือซึ่งลดระดับความแม่นยำ และจำเป็นต้องใช้กำลังคนสูงมาก

 

ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งงบประมาณพิเศษในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิจำนวน 4 เครื่อง และกำลังอยู่ในขั้นตอนการอนุมัติ ซึ่งไม่ทราบได้ว่าจะได้นำเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิประจำท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตมาใช้ได้เมื่อใด

 

ส่วนเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่ผ่านมติพิเศษของคณะกรรมการบริหาร บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยในการจัดซื้อให้ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตนั้น ปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น

 

ส่วนข้อเสนอจากภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตนั้น ระบุว่า ทางองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ตจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน Covid 19 ประจำจังหวัดภูเก็ต (Phuket COVID -19 Crisis Management Command Center) โดยไม่ยึดกรอบอำนาจการบริหารราชการในภาวะปกติ เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานให้สามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับการเข้าสู่การระบาดในระยะที่สาม และสามารถเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานเดียวที่สั่งการ ควบคุมและกำกับ ดูแลมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเป็นการจัดเตรียมโครงสร้างในการรองรับการระบาดในฉากทัศน์ (scenario) ที่มีความรุนแรงสูงสุด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่เหตุการณ์จริง

 

ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 100 ล้านบาทเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน Covid 19 ประจำจังหวัดภูเก็ต โดยเน้นไปที่การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น การสร้างระบบเทคโนโลยีในการค้นหา และติดตามการกักกันตัวในที่พำนัก รวมถึงการจัดเตรียมสถานที่กรณีมีความจำเป็นต้องใช้เป็นโรงพยาบาลสนามสำรองเป็นการล่วงหน้า และเป็นงบประมาณที่สามารถดำเนินงานสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที

 

ภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ขอเสนอให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการด้านการบริหารในภาวะวิกฤตมาเป็นประธานดำเนินงานศูนย์ ที่มิใช่ข้าราชการประจำทั้งจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพราะการดำเนินมาตรการที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จำกัดในการจัดการภูเก็ตในภาวะวิกฤตของทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต

 

ประการสุดท้ายที่สำคัญคือ แม้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต แต่ในห้วงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างการสร้างภูเก็ตให้เป็นชุมชนที่แข็งแรง และพร้อมที่จะกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกในระยะเวลาข้างหน้า หรือ การยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยว และปล่อยให้ประชาชนชาวภูเก็ตไปเสี่ยงกับการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว และทำให้สุขภาพโดยรวมของประชาชนเสื่อมลง

 

ทางองค์กรเอกชนภูเก็ตขอยืนยันที่จะให้มีมาตรการสกัดนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยเด็ดขาดเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน โดยเน้นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และไม่จำกัดเฉพาะประเทศที่ได้รับการประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดทอนโอกาสการแพร่ระบาดของ Covid 19 ในหมู่ประชาชนชาวภูเก็ต บนตรรกะว่า การยอมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในระยะสั้นจากการสกัดนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีโอกาสที่จะทำให้ภูเก็ตสามารถกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับโลกได้ในเวลาอีกไม่นาน และมีข้อได้เปรียบมากกว่าการปล่อยให้จังหวัดภูเก็ตมีประชาชนชาวภูเก็ตติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และมีภาพลักษณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้ติดเชื้อมา อันจะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ตในระยะยาว