พร้อมทุบทำลายเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสมภายในวัดพระนางสร้าง

โพสเมื่อ : Thursday, January 11th, 2018 : 9.48 pm

จังหวัดภูเก็ตประกอบพิธีบวงสรวง ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน ทุบทำลาย เคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสมภายในวัดพระนางสร้าง เพื่อปรับปรุงให้สวยงาม เหมาะสมตามหลักพุทธศาสนา เป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน และเป็นศูนย์รวม ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต

วันนี้ (11 ม.ค.) ที่วัดพระนางสร้าง ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการประกอบพิธีบวงสรวงตามหลักศาสนาและความเชื่อ ทั้งพิธีพราหมณ์ และพิธีสงฆ์ เพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนทำการการปรับภูมิทัศน์ปและทัศนียภาพ เคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในวัดพระนางสร้าง ที่ไม่เหมาะสม โดยมีนายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายทวี หอมหวล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต นายกองโท อดุลย์ ชูทอง นายอำเภอถลาง หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และจิตอาสา เข้าร่วม และมีพระราชสิริมุณี เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระครูพรหมประภัสสร เจ้าคณะอำเภอถลาง รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง และ คณะสงฆ์ เข้าร่วมประกอบพิธี

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดพระนางสร้างจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม ตามหลักศาสนา ทั้งนี้ในส่วนของการรื้อถอนต่างๆจะคำนึงถึงความเหมาะสมความแข็งแรงของสิ่งก่อสร้าง และสิ่งก่อสร้างบางส่วนได้มีผู้แจ้งความประสงค์ที่จะขอเคลื่อนย้ายไปดูแลรักษา สักการะบูชา เช่น รูปปั้นพระพิฆเนศ รูปปั้นพระนางมัสสุหรี องค์เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งทางจังหวัดก็ยินดีให้มีการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม ในส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์ก็จะอยู่ในอำนาจของวัดที่จะดำเนินการโดยมีไวยาวัจกรและคณะกรรมการวัดเป็นผู้รับผิดชอบและพิจารณาร่วมกัน ภายใต้หลักของกรมการศาสนาเพื่อให้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมทางประวัติศาสตร์ ของจังหวัดภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม เมื่อเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนา นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เริ่มต้นทำการปรับภูมิทัศน์และทัศนียภาพ และเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสม ภายในวัดพระนางสร้าง

การปรับปรุงภูมิทัศน์วัดพระนางสร้างในครั้งนี้ สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อสาธารณะถึงสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสมในวัดพระนาง ทางคณะสงฆ์ได้มีการสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าอาวาส และแต่งตั้งเจ้าคณะอำเภอถลาง รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้างจังหวัดภูเก็ต ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาวัดพระนางสร้าง ฝ่ายสงฆ์ มีพระราชสิริมุณี เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายราชการ ได้มีประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาวัดให้คืนสู่สภาพของวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และได้มีมติให้ทุบทำลาย รื้อถอน เคลื่อนย้าย สิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสม ปรับปรุงให้เหมาะสม จำนวน 17 รายการ และได้กำหนดให้มีการ ปรับภูมิทัศน์รื้อถอน และเคลื่อนย้าย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ยังไม่ได้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสม จะมีการทุบทำลายและรื้อถอนตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป และจะเปิดโอกาสให้บุคคลที่ต้องการเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างบางชนิดได้จนถึงวันจันทร์ที่ 15 ม.ค.นี้ จากนั้นในวันที่ 16 ม.ค.นี้จะทำการทุบทิ้งทั้งหมด  เพื่อให้มีการขนย้ายสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลประสงค์จะเคลื่อนย้ายออกไป เช่น องค์เจ้าแม่กวนอิม องค์พระพิฆเนศ เป็นต้น

สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องทำการรื้อถอน ทุบทำลาย และเคลื่อนย้าย จำนวน 17 รายการ ประกอบด้วย รูปปั้นยักษ์ชาย รูปปั้นยักษ์หญิง,รูปปั้นตุ๊กตาจีนและตัวอาคาร,เก๋งจีนสองหลัง,รูปปั้นหลวงพ่อแช่ม,รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม,เจดีย์,รูปปั้นพระนางมัสสุหรี,ซุ้มและที่ประดิษฐานพระประจำวัน,บันไดขึ้นพระนอนให้ทุบออกทั้ง 2 ด้าน และทำบันไดเคลื่อนย้ายได้เพื่อวางพาดขึ้นไปทำความสะอาดเป็นครั้งคราว,ห้องทำงานของคนงาน,รูปปั้นพระนางเลือดขาว-รูปปั้นสัญลักษณ์ ศาสนาอื่นๆ,รูปปั้นพระพิฆเนศ,กำแพงด้านหน้า จำนวน 3 จุด,รูปปั้นพระนั่งบนหลังเสือ,รูปปั้นเรือหงส์หน้าศาลาการเปรียญ (ปรับปรุงให้เหมะสม),ส่วนตราสัญลักษณ์รัชกาลที่ 9 หน้าซุ้มประตู และอาคารเรียนเก่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่นายนิโรจน์ เนาวบุตร ไวยากรวัดพระนางสร้าง กล่าวว่า สิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นภายในวัดเป็นสิ่งที่ทางอดีตเจ้าอาวาสได้ทำก่อสร้างขึ้นเพื่อให้วัดพระนางสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในวัด เช่น หล่อรูปเหมือนหลวงพ่อแช่มใหญ่ที่สุดในโลก รูปปั้นพระนางมัสุหรี หรือพระนางเลือดขาว รูปปั้นพระจีน เจ้าแม่กวนอิ่ม พระประจำวันเกิด พระพิฆเนศ ร่วมไปถึงสัญลักษณ์ ร.๙ ที่ซุ้มประตูทางเข้าวัด และที่มาการปั้นรูปยักษ์ถือปืนก็เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและเป็นหลักทำการสอน ซึ่งหากมองว่าไม่เหมาะสมก็สามารถที่จะปรับปรุงได้

สำหรับการทาสีชมพูทั้งอาคารต่างๆ ภายในวัด เมรุ รวมไปถึงหอระฆัง เจดีย์ นั้นเพราะอดีตเจ้าอาวาสเกิดวันอังคาร ชอบสีชมพู และเห็นว่าสีชมพู่ทำให้มีความสดใส ซึ่งสามารถทำได้เพราะไม่มีบัญญัติไว้ว่าวัดห้ามทาสีชมพู่

นายนิโรจน์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ทางจังหวัดภูเก็ตได้มีมติให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในวัด 17รายการ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปนั้น ทางวัดและชาวบ้านมองว่า สิ่งปลูกสร้างภายในวัดหลายๆอย่างที่สามารถปรับปรุงบูรณะให้สามารถอยู่ภายในวัดได้ จึงได้ขออุทรณ์คำสั่งรื้อถอนไป 4 รายการ คือ ยักษ์เปลี่ยนจากถือปืนเป็นถือกระบองแทน บันไดทางขึ้นพระนอน พระประจำเกิด และตราสัญลักษณ์ในหลวง ร.๙ ที่สร้างไม่ถูกต้องตามแบบจะขอเปลี่ยนเป็นธรรมจักร