พบ โลมาสายพันธุ์หายาก  “ริสโซ” คาดป่วยถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่กระบี่

โพสเมื่อ : Tuesday, February 19th, 2019 : 1.42 pm

 

พบโลมาสายพันธุ์หายาก “ริสโซ” ยาว 3 เมตร ถูกคลื่นซัดกระแทกโขดหิน เกยหาดอ่าวไร่เล ต.อ่าวาง อ.เมือง จ.กระบี่ คาดป่วย เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือ ล่าสุดส่งกลุ่มสัตว์ทะเลหายากที่ภูเก็ตแล้ว

วันนี้ ( 19 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 4 กระบี่ เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้ให้การช่วยเหลือ โลมาริสโซ ซึ่งเป็นโลมาสายพันธุ์หายาก เพศผู้ อายุประมาณ 4 ปี น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม ยาวตั้งแต่ส่วนหัว จดปลายหางประมาณ 3 เมตร หลังจากถูกคลื่นซัด ได้รับบาดเจ็บ และ มีร่างกายอ่อนแรง มาเกยชายหาดอ่าวไร่เล ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เมื่อช่วงเย็นวานนี้

โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ (อ่าวไร่เล)พร้อมด้วยผู้ประกอบการอ่าวไร่เล ได้ช่วยกันนำขึ้นจากชายฝั่งอ่าวไร่เล มามอบให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 4 อนุบาล พร้อมประสานทีมเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เข้าให้การช่วยเหลือ เนื่องจากพบว่าปลาโลมาตัว

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ ได้ให้ยาปฎิชีวนะ ทางสายน้ำเกลือ พร้อมกับเก็บตัวอย่างจากลมหายใจที่พ่นออกมา เพื่อนำไปเพาะเชื้อหาสาเหตุต่อไป นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทดลองให้อาหารซึ่งเป็นลูกปลาตัวเล็กๆ พบว่าปลาโลมาเริ่มกินอาหารที่เจ้าหน้าที่นำมาป้อนให้ ก่อนที่จะนำตัวกลับไปอนุบาลให้แข็งแรงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ต่อไป  

ทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฝั่งอันดามัน บอกว่า สาเหตุที่โลมาริสโซเกยตื้น อาจเกิดจากอาการเจ็บป่วย และ ถูกคลื่นพัดเข้ามา โดยปกติแล้วโลมาริสโซ อยู่ในทะเลลึก เป็นปลาหายาก และไม่พบบ่อยเหมือนกับโลมาปากขวด ซึ่งเป็นโลมาชายฝั่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ในเขตชายฝั่งทะเล ที่มีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์

ด้านนายแสน ศรีงาม ประมงจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดกระบี่ มีการประกาศปิดอ่าวมาอย่างต่อเนื่อง และมีการเข้มงวดการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้ทะเลกระบี่ มีทรัพยากรสัตว์น้ำสมบูรณ์ โดยที่ผ่านมา มีการพบทั้งฉลามวาฬ โลมาปากขวด โลมาสีชมพู และ ปลาหายากอีกหลายชนิด เข้ามาหากินในทะเลกระบี่ ส่วนโลมาริสโซ เป็นโลมาที่อยู่ในทะเลลึก อาจจะเจ็บป่วย และ ผลัดหลงกับฝูง จึงถูกคลื่นซัดมาติดตายชาด ก่อนที่เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันอนุบาล ซึ่งสาเหตุเจ้าหน้าที่ตรวจหาต่อไป

ขณะที่เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เดียวกัน (19 ก.พ.62) เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ศวทม.) และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพฯ อาสาสมัครมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตช่วยกันลำเลียงโลมาริซโซส์ เพศผู้ ที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายมาจากจ.กระบี่ ด้วยรถพยาบาลสัตว์ทะเลหายากเคลื่อนที่ ลงจากรถเพื่อนำไปไว้ในบ่ออนุบาลของศูนย์ฯที่เตรียมไว้ ก่อนให้สัตวแพทย์ทำการรักษาตามอาการ

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นโลมาริสโซส์ วัยเด็ก ความยาวประมาณ 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม สภาพผอมและอ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัว หรือว่ายน้ำได้ นอกจากนี้พบบาดแผลบริเวณโหนกหัวด้านซ้าย ซึ่งเกิดจากการเกยตื้นจำนวนหลายแห่ง เจ้าหน้าที่จึงต้องช่วยพยุงตัว ให้ยา และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยขนย้ายโลมามาจากบ่อเพาะเลี้ยงของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่

น.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เปิดเผยว่า โลมาริซโซส์ เกยตื้นจากอาการป่วย เบื้องต้นพบว่าโลมามีสภาพร่างกายซูบผอม มีบาดแผลหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ต้องดูแลสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยโลมาริซโซส์เป็นโลมาที่ค่อนข้างจะพบเห็นได้ยาก เพราะอาศัยอยู่ในน้ำลึก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เมื่อป่วยจึงแยกตัวออกจากฝูงมาเกยตื้น พบได้ในเขตน้ำลึกนอกฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ที่ จ.ภูเก็ต เคยมีประวัติการพบเกยตื้นเมื่อหลายปีก่อน

สำหรับ โลมาริซโซส์ จะมีขนาดที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของตระกูล เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาด ประมาณ 4 เมตร ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งร่างกายส่วนหน้าจะมีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก ครีบส่วนหน้าจะเป็นครีบที่มีความยาวที่สุดในทุกส่วนของร่างกาย ส่วนหัวจะมีรูปร่างแบบกระเปาะ และ  มีรอยย่นในแนวตรงยาวของพื้นที่ส่วนหน้า สีจะเปลี่ยนไปตามอายุขึ้นเรื่อยๆ และ ในช่วงอายุไม่มากจะมีสีเทาถึงน้ำตาล หลังจากนั้นก็จะมีสีดำ และเริ่มมีสีสว่างขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับการเข้าสู่วัยเจริญเติบโต