ป.ป.ช.ภาค 9 สงขลา จับมือเพื่อนบ้าน ร่วมป้องกันและปราบปรามการทุจริต พื้นที่เสี่ยง

โพสเมื่อ : Thursday, September 20th, 2018 : 9.46 am

ป.ป.ช.ภาค 9 สงขลา จับมือเพื่อนบ้าน ร่วมป้องกันและปราบปรามการทุจริต พื้นที่เสี่ยง พรมแดนไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 4 พร้อมระบุการแก้ปัญหาให้ได้ผลทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำ

ระหว่างวันที่ 19 -20 ก.ย. นี้ ที่ห้องประชุมโรงแรมดวงจิตต์รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 รวม 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสำนักการต่างประเทศ จัดการประชุมคณะทำงานความร่วมมือการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บริเวณพื้นที่เสี่ยงพรมแดนไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 4 ขึ้น

โดยมี พล.ต.อ วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานเปิด และได้รับเกียรติจากนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ พร้อมการกล่าวสุนทรพจน์โดย Dato Sri Ahmad Khusairi Bin Yahaya (ดาโต๊ะศรี อาหมัด คูซายรี บิน ยะหะมา) ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรอง MACC นอกจากนี้ยังมีนายศักดิ์ชัย เมทินีพิศาลกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. , สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชายแดนใต้ และ หน่วยงาน MACC ของประเทศมาเลเซีย ,คณะผู้นำคณะพร้อมผู้แทนจากสำนักงาน ป.ป.ช. จากรัฐกลันตัน รัฐเประ รัฐเปอริส และรัฐเคดะห์ เข้าร่วม

สำหรับการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เสริมสร้างความสัมพันธ์และสร้างความคุ้นเคยระหว่างบุคลากรของการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง, เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการประสานความช่วยเหลือทางคดีทุจริตและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ที่มีเขตแดนติดกับประเทศมาเลเซียได้รับทราบช่องทางในการร้องเรียน แจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริต และเกิดสำนึกร่วมกันในการต่อต้านทุจริตต่อไป

พล.ต.อ วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ได้มอบหมายให้สำนักงานป.ป.ช. ภาค 9 เป็นผู้ดำเนินการในการจัดการประชุมความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตบริเวณพื้นที่เสี่ยงพรมแดนไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 4 ขึ้น โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อหารือลงลึกไปสู่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริง เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ซึ่งปัญหาการทุจริตในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไม่จำกัดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง

แต่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และเสถียรภาพความมั่นคงของชาติ ความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ได้ก่อให้เกิดความพยายามในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในมิติความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือของต่อต้านการทุจริตในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนหรือ SEA-PAC (South-East Asian Parties Against Corruption) เพื่อตรวจสอบการปราบปรามการทุจริตของประเทศ ภูมิภาคอาเซียนและการประชุมดังกล่าวจะมีการต่อยอดไปยังระดับทวิภาคี ซึ่งในส่วนของประเทศไทยและมาเลเซีย ได้มีความร่วมมือที่อยู่ในระดับที่เข้มแข็งมากในการร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต

สำหรับปัญหาการทุจริตในแนวชายแนว ก็จะเป็นปัญหาทั่วๆ ไป เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่แต่ละประเทศต้องการเห็น คือ การไปมาหาสู่กันและการค้าระหว่างกันที่เป็นไปอย่างโปร่งใสและสุจริต ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจว่าสามารถค้าขายกันได้โดยเสรีและถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการทุจริตคอรัปชั่นจะเกี่ยวโยงกับปัญหาต่างๆ ทุกเรื่อง หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมาย เหล่านี้ก็จะเบาบางลง จึงเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ทั้งมาเลเซียและไทยที่จะต้องลดปัญหาดังกล่าวโดยมีการทำงานร่วมกัน

เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาข้ามชาติทั้งหมด หากได้มีการรู้จักและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน รวมถึงให้ความรู้ในการป้องกันและป้องปรามก็จะได้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้เรื่องสินบนข้ามชาติที่ ป.ป.ช.ทำอยู่ 30 กว่าเรื่องนั้น ต้องอาศัยข้อมูลจากต่างประเทศมาใช้ เช่น อินโดนีเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นหัวใจสำคัญ เพราะนอกจากการจับกุมผู้ประกระทำผิดแล้ว จะต้องติดตามเอาทรัพย์สินคืนมาด้วย”

พล.ต.อ วัชรพล ยังได้กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันความรุนแรงของปัญหามีไม่มากนัก ซึ่งต้องขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่มีความเข้มแข็งในการช่วยแจ้งเบาะแส ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสามารถเข้าไปสกัดกั้นหรือคลี่คลายปัญหาได้เร็วขึ้น ต่างจากในอดีตที่ค่อนข้างช้าและทำงานยาก ประกอบกับกฎหมายของ ป.ป.ช.ข้อหนึ่งระบุว่าให้ถือรายชื่อผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับสูงสุดและห้ามเปิดเผยชื่อโดยเด็กขาด หากมีเจ้าหน้าที่คนใดเปิดเผยชื่อก็จะโดนคดีอาญา

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตนั้น มักจะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ให้คุณให้โทษได้หรือเป็นผู้ที่กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้หากจะมีการทุจริต แต่ว่าจากความเอาใจและความตื่นตัวต่างๆ ทำให้ไม่เป็นเหมือนในอดีตแม้ปัญหาจะไม่รุนแรงแต่เราก็ไม่ต้องการที่จะให้เกิดขึ้นเลย จึงทำอย่างไรให้ภาพพจน์ของเราในสายตานานาชาติมีคะแนนมากกว่า 37 โดยทาง สำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งเป้าว่าจะได้ 50 ภายในปี 2564 ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย เพราะมาเลเซียปัจจุบันได้ถึง 50 “

พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวต่อไปถึงการร้องเรียนเรื่องของการทุจริตของไทย ว่า ปัจจุบันมีค้างอยู่ประมาณ 17,000 เรื่อง ในจำนวนดังกล่าวมีมูลเพียงพอที่จะต้องไต่สวนประมาณ 2,700 เรื่อง และจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี ซึ่งในเรื่องที่มีมูล 2,700 กว่าเรื่อง พบว่า 50 % เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นจัดซื้อจัดจ้างในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 60% แต่ปัจจุบันมีการปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กับสำนักงานทุจริต มาอยู่ตามภูมิภาค ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องอื่นๆ ซึ่งจะหลากหลายกันไป และอยู่ระหว่างการจัดลำดับความสำคัญ ว่า เรื่องใดมีผลกระทบหรือความเสียหายค่อนข้างมากจะเร่งดำเนินการก่อน แต่ก็มีมิติในความยาก ข้อมูล และความร่วมมือของพยานหลักฐานต่างๆ

จึงทำให้งานจะยากและล่าช้า เพราะงานของ ป.ป.ช. เป็นลักษณะของการไต่สวน เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ให้โอกาสผู้ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหานำพยานมาพิสูจน์ แต่ปัจจุบันก็มีความรวดเร็วมากขึ้น จากความร่วมมือของภาคเอกชนที่ให้ข้อมูลเบาะแสต่างๆ ทำให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น