ปิด 14 วัน สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ โรงมหรสพ ในภูเก็ต ยับยั้งโควิดระบาด

โพสเมื่อ : Wednesday, March 18th, 2020 : 12.03 am

ปิด 14 วัน สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และ โรงมหรสพ ในภูเก็ต เพื่อเป็นการยับยั้งโควิด -19 ระบาด ภายในประเทศ เริ่ม 18 – 31 มี.ค.นี้

วันนี้ (17 มี.ค.63) ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 5/2563 เพื่อหารือและวางแนวทางในการดำเนินการการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิค-19 ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตลอดจนพิจารณามาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิค-19 ตามที่รัฐบาลกำหนด เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์สาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่าง ๆ ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต เข้าร่วมประชุม โดยไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์แต่อย่างใด

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ให้สัมภาษณ์ ถึงข้อสรุปในการประชุมครั้งนี้ ภายหลังการประชุม ว่า จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ในวันนี้ (17 มี.ค.) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการต่าง ๆ โดยดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และมีมติ ที่เห็นชอบ ซึ่งรวมถึงมติเห็นชอบให้ปิดสถานบริการต่าง ๆ สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในจังหวัดภูเก็ต เช่นเดียวกับกรุงเทพฯและปริมณฑล ในระหว่างวันที่ 18-31 มี.ค. นี้ เป็นการปิดชั่วคราว 14 วัน เพื่อเป็นการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ ทั้งนี้จะมีการส่งประกาศของคณะกรรมการฯ ไปยังผู้ประกอบการต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต ที่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติสถานบริการ และสถานประกอบการที่มีการประกอบการคล้ายสถานบริการ ซึ่งมีจำนวนประมาณ  300 แห่ง

นายภัคพงศ์ ยังได้กล่าวต่อไปถึงมาตรการการเยียวยา ว่า ใน ส่วนของมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตก็จะใช้มาตรการเดียวกันทั่วประเทศตามที่รัฐบาลกำหนด“ หากมีผู้ประกอบการขอให้มีการทบทวนการสั่งปิดดังกล่าว ก็สามารถที่ทบทวนคำสั่งปกครองดังกล่าวได้ แต่ต้องมีเหตุผลความจำเป็นที่คณะกรรมการฯจะพิจารณา เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้ให้อำนาจผู้ว่าฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558”

นายภัคพงศ์ ยังได้กล่าวถึงมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิค-19 นอกเหนือจากการปิดสถานบันเทิงต่าง ๆ ว่า ได้มีการคัดกรองทั้งในส่วนของท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าเทียบเรือต่าง ๆ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่ภาคเอกชน 9 องค์กร ได้มีการเรียกร้องให้สกัดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศติดต่ออันตรายร้ายแรง 4 ประเทศและ 2 เมือง เสี่ยงการแพร่ระบาดเป็นเวลา 30 วันนั้น ในประเด็นนี้ทางรัฐบาลได้มีการออกมาตรการการควบคุมมาแล้ว เช่น การยกเลิก Visa on Arrival และให้ไปยื่นเรื่องที่สถานทูตหรือสถานกงสุล, ต้องมีใบรับรองแพทย์, จะต้องมีประกันสุขภาพไม่น้อยกว่า 100,000 USD เป็นต้น ซึ่งเป็นการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยอยู่แล้ว และเป็นอำนาจของส่วนกลางที่ทำเหมือนกันทั้งหมด ไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อ ฯ เนื่องจากจะต้องไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ส่วนกรณีที่มีการสอบถามเกี่ยวกับการจะปิดเมืองเหมือนกับหลายๆ จังหวัดที่มีการออกมาตรการมาแล้วนั้น นายภัคพงศ์ กล่าวว่า คำว่า ปิดเมืองนั้นหมายถึงว่าเขาทำการคัดกรองตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้ามา ไม่ได้หมายความว่าจะมีการชัตดาวน์โดยที่ทุกคนไม่สามารถเข้าออกได้

ส่วนมาตรการในการเซฟภูเก็ต อยากให้ย้อนไปดูว่านับจากที่มีข่าวเรื่องของสถานการณ์ดังกล่าว ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกๆ ที่มีการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2563 จำนวนผู้ถูกคัดกรองมีตัวเลขชัดเจน หรือการตั้งศูนย์ EOC ภูเก็ตก็มีการจัดตั้งมาก่อนที่จะมีการสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับการตั้งศูนย์ในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า หน่วยงานราชการของจังหวัดภูเก็ตมีความตระหนักในการป้องกันไม่ให้โรคมีการขยายตัว แต่ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการรับผิดชอบดูแลทั้งสุขภาพตัวเองและเฝ้าระวังผู้คนที่อยู่รอบข้าง ครอบรัว แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และฝากทุกท่านในการโพสต์ หรือแชร์ข้อความที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง เพราะจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ทางจังหวัดเปิดเผยข้อมูลตัวเลขของผู้ติดเชื้อ หรือผู้ต้องสงสัยที่จะต้องเฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต นั้น นายภัคพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของผู้ติดเชื้อหรือผู้ต้องสงสัยไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ. ศ. 2558 และเป็นอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข โดยการเปิดเผยข้อมูลไม่ได้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับบทบาทอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

ส่วนกรณีที่มีภาคเอกชนเรียกร้องให้มีการจัดตั้งศูนย์การบริหารจัดการสถานการณ์ในภาวะวิกฤตในเรื่องนี้ยังไม่ได้ดูรายละเอียดเนื่องจากที่ผ่านมาได้เดินทางไปพบคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอเรื่องงบประมาณการก่อสร้างศาลากลางหลังใหม่ แต่หากฟังจากข้อมูลทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามหลักการบริหารราชการแผ่นดิน