ปชส.ภูเก็ตนำสื่อเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าคลอก

โพสเมื่อ : Tuesday, July 4th, 2017 : 4.11 pm

ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต นำเครือข่ายสื่อมวลชนศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าคลอก ขยายผลสู่การปฏิบัติพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนา

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (4 ก.ค.) นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ได้นำคณะเครือข่ายประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน และสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ไป ศึกษาดูงานชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเอง ตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าคลอก หมู่ที่ 2 ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นการขับเคลื่อนตามโครงการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ เห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนา จึงได้จัดทำโครงการสัมมนาเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้เครือข่ายการประชาสัมพันธ์ได้นำองค์ความรู้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกต้องไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายผลไปสู่ หมู่บ้าน ชุมชน ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กว้างขวางและคลอบคลุมทั่วทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น

โดยกิจกรรมเป็นการลงพื้นที่ชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าคลอก หมู่ที่ 2 ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งมีนายชะลอ การะเกตุ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าคลอก เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้และนำชมฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ได้แก่ ฐานเรียนรู้ปลูกผักในล้อยาง,ฐานเรียนรู้ข้าวในกระถางฐานเรียนรู้ถั่วพูร้อยสาย,ฐานเรียนรู้รู้ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยหมักชีวภาพ/น้ำหมักชีวภาพ,ฐานเรียนรู้การเลี้ยงกบในล้อยาง,การเลี้ยงหมูหลุม,ฐานเรียนรู้การผลิตสารไล่แมลง รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ การจัดการขยะคัดแยกขยะในครัวเรือนขยะเปียกนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น ซึ่ง เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และการพัฒนากลุ่มท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ ตำบลป่าคลอก หมู่ที่ 2 ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีการนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของคนในพื้นที่

นายชะลอ การะเกตุ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าคลอก กล่าวว่า สมาชิกในครอบครัวทุกคนได้ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคของการทำมาหากิน จากเดิมที่ฝากชีวิตไว้กับทะเล แต่เมื่อทะเลเริ่มมีปัญหา สัตว์น้ำหายากขึ้น จึงต้องผันชีวิตมาหากินบนบก เริ่มต้นด้วยการปลูกผักบุ้งจีนบนที่ดินราชพัสดุ หลัง อบต.ป่าคลอก จากไม่กี่แปลงขยายเป็นหลายสิบแปลง ส่งขายตลาดในเมืองทั้งผ่านพ่อค้าคนกลาง และขายด้วยตนเอง สร้างรายได้ให้กับครอบครัววันละประมาณ 2-3 พันบาท ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น

แต่ชีวิตก็เข้าสู่รอยต่ออีกครั้งหนึ่ง เมื่อหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนปุ๋ยและยาเคมีเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมหันมาทำเกษตรอินทรีย์ จำเป็นที่จะต้องทดลองทำ แล้วก็พบว่าได้ผลดีกว่าเกษตรเคมีดังที่ผ่านมา นอกจากผลผลิตที่ดีไม่น้อยหน้ากว่าเคมี และยังทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ด้วย จึงเริ่มลงมือทำปลูกผักบุ้งอินทรีย์ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา

และจากการที่ได้ไปดูงานในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ขึ้น กลับมาลงมือทำตามที่ไปดูมา เริ่มต้นด้วยการทำบัญชีครัวเรือน ดูรายรับรายจ่าย ทำให้รู้สถานะการเงินของตัวเอง แล้วทดลองปลูกพืชทุกอย่างที่เห็นว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวรวมทั้งสามารถพึ่งตนเองได้ เช่น ปลูกข้าวในกระถางไม่กี่เม็ดขายให้โรงแรมฯ กระถางละ 150 บาท เป็นข้าวที่แพงที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ ปลูกผักในกระถาง ในเปลือกมะพร้าว ปลูกยอดหมุยขายร้านขนมจีนในตำบล ถั่วพูร้อยสาย รวมทั้งการรวมตัวเป็นกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรอินทรีย์ หน่วยงานรัฐที่สนับสนุนก็มีความสะดวกมากขึ้น

นายชะลอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้รายได้ลดน้อยลงไปกว่าตอนปลูกผักบุ้งจีนไม่น้อย แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมาทดแทนคือ ความสุขที่มากกว่า และยังได้เป็นคนที่มีคุณค่าในสังคมมากขึ้นจากการมาดูงานของกลุ่มประชาชนต่าง ๆ หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ไม่ขาดสายแต่ละวัน ทั้งที่นัดและไม่นัดหมาย และที่สำคัญได้เข้ารับรางวัลตามโครงการ 84 ตำบลวิถีพอเพียง จากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 ด้วย นับเป็นความภาคภูมิใจของตนเองและสมาชิกทุกคนของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าคลอก และจะเป็นพลังสำคัญในการดำเนินชีวิตตามรอยพระบาท ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาพัฒนาชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชนให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนต่อไป