บ้านปู เน็กซ์ เดินหน้านำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดหนุนแผนพัฒนาภูเก็ต บริหารเมืองให้น่าอยู่

โพสเมื่อ : Wednesday, November 11th, 2020 : 7.53 pm

‘บ้านปู เน็กซ์ เดินหน้านำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดหนุนแผนพัฒนาภูเก็ต บริหารจัดการเมืองให้น่าอยู่ รวมถึงการวางระบบสัญจรทางเลือก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวภูเก็ต พร้อมหนุนโครงการมารีน่าชุมชน


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดที่เริ่มนำร่องในโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี (Smart City) ตามนโยบายของรัฐบาล เทศบาลนครภูเก็ต โดยมีเป้าหมาย 7 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ด้านขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ซึ่งบ้านปู เน็กซ์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันสมาร์ทโมบิลิตี (Smart Mobility) เติมเต็มการเดินทางให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยล่าสุด บริษัทฯ ร่วมกับภูเก็ต พัชทรี ทัวร์ นำบ้านปู เน็กซ์ อีเฟอร์รี่ (Banpu NEXT e-Ferry) เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทยมาให้บริการในการเที่ยวทะเลในเส้นทางท่องเที่ยวภูเก็ต-อ่าวพังงาเป็นที่แรกในประเทศไทย เพื่อสร้างการท่องเที่ยวมิติใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติ อีกทั้งพร้อมให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (Integrated Electric Vehicle Fleet Management) ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า ที่มาพร้อมกับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันการใช้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า Car Sharing หรือการใช้บริการรถไฟฟ้าแบบ Car Riding

สำหรับการบริหารจัดการเมืองเรามีสมาร์ทคอมมูนิตีแพลตฟอร์ม (Smart Community Platform) ที่นำมาใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลเมืองผ่านระบบเซ็นเซอร์ และนำมาวิเคราะห์ประมวลผลด้วยการใช้ AI เพื่อช่วยแก้ pain point ของเมืองภูเก็ตได้อย่างตรงจุด เช่น การตรวจวัดคุณภาพอากาศ การตรวจวัดคุณภาพน้ำ กล้องวงจรปิดอัจฉริยะที่สามารถตรวจวัดปริมาณคน คัดกรอง COVID-19 บริหารจุดจอดรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งรวมอยู่ในแอปพลิเคชันของบ้านปูฯ ที่พัฒนาสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบข้อมูล วิเคราะห์ และการแจ้งเตือน เพื่อนำไปสู่การจัดการเมืองอย่างบูรณาการ

“บ้านปู เน็กซ์ จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการศึกษาและประเมินพื้นที่เพื่อออกแบบโซลูชันให้ตรงกับความต้องการของชุนชนภูเก็ต และพัฒนาภูเก็ตสมาร์ทซิตีให้เป็นจริงได้ในอนาคตอันใกล้”

ในขณะเดียวกัน วันนี้ (11 พ.ย.) นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ได้ร่วมพูดคุยกับนายอมร อินทรเจริญ ประธานกรรมการบริหาร ภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ป ถึงแนวทางในการส่งเสริมผลักดันให้เกิดมารีน่าในภูเก็ต โดยประเด็นที่สำคัญที่มีการพูดคุยในครั้งนี้คือการพัฒนาโครงการ Marina ชุมชน Marina for all โครงการยกระดับมาตรฐานท่าเรือชุมชนในอันดามันเพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมทางน้ำให้ได้มาตรฐานสากลตลอดจนส่งเสริมการขนส่งสินค้าประมงเกษตรและสนับสนุนเพิ่มเส้นทางท่องเที่ยวไปพร้อมกันโดยคำนึงถึงความปลอดภัยทางทะเลและความสะดวกของคนทั้งหมดเป็นหลักเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

โดยสาระสำคัญของโครงการMarina ชุมชนจะเป็นการนำท่าเรือของชุมชนที่มีเพียงบันไดขึ้น-ลงซึ่งมีอยู่เดิมนั้นมาพัฒนาเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยความสะดวกแก่คนทั้งมวลคือทางลาดและโป๊ะ(pontoon) และระบบ Smart Pier  เพื่อรองรับเรือประเภทต่างๆให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่โดยมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของเรือประมงพื้นบ้าน เรือขนส่งโดยสาร เรือนำเที่ยวต่างๆรวมถึงเรือใบเรือยอร์ชของนักแล่นเรือทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  เรือกู้ชีพกู้ภัยดับเพลิง

นายอมร อินทรเจริญ ประธานกรรมการบริหาร ภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ป กล่าวว่า การพูดคุยบ้านปูในวันนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดมารีน่าชุมชนในภูเก็ต เพื่อพัฒนาและเสริมศักยภาพของท่าเทียบเรือที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด โดยต้องการให้ทางบ้านปูเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของพลังงานสะอาด เช่น เปลี่ยนจากเรือที่ใช้เครื่องยนต์มาเป็นเรือที่ใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ โดยในส่วนของการผลักดันให้เกิดมารีน่าชุมชนนั้น ที่ผ่านมา ทางเลขาฯ หอการค้าฝั่งอันดามันได้มีการผลักดันเรื่องนี้ผ่านทางองค์กรเอกชนในภูเก็ตและอันดามัน รวมทั้งได้มีการเสนอเรื่องนี้ใน ครม.สัญจรที่ภูเก็ตแล้วด้วย

สำหรับโครงการ Marina ชุมชน กำหนดจะพัฒนานำร่อง 6 ท่าเทียบเรือ ใน 6 จังหวัดกลุ่มอันดามันประกอบด้วย  ท่าเรือบ้านท่าเขาเกาะยาวน้อยจังหวัดพังงา   ท่าเรือปากบาราจังหวัดสตูล   ท่าเรือปากเมงจังหวัดตรัง   ท่าเรือประภาคารจังหวัดระนอง  ท่าเรืออ่าวน้ำเมาจังหวัดกระบี่   ท่าเรือแหลมยามูจังหวัดภูเก็ต (ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอผ่าน กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 2/2563 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และครม.สัญจรภูเก็ตเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563)  ( อย่างไรก็ตามหากโครงการดำเนินได้จริงจะอ้างอิงท่าเรือจากงานศึกษาของสำนักเจ้าท่าภูมิภาค 5 อันดามันกรมเจ้าท่า ปี 2556 ที่ได้ทำไว้ 86 ท่าเทียบเรือใน 6 จังหวัดอันดามัน)

ด้านนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีนโยบายที่จะช่วยเหลือ ประชาชนใน 3 ระดับคือ 1 ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ยังคงมีแรงและมีพลังกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่มีแรง ไม่มีกำลังและกลุ่มที่3คือกลุ่ม ด้อยโอกาสในสังคม ในโอกาสนี้จังหวัดขอขอบคุณบริษัทบ้านปูที่นำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือชาวจังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตามในส่วนของการดำเนินโครงการต่างๆที่ภาคเอกชนร่วมมือการจังหวัดพร้อมให้การสนับสนุนแต่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบ ของความต้องการของประชาชนโดยชุมชนและประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์ร่วมกัน นี้คือสิ่งที่ทางภาครัฐต้องร่วมดู ดังนั้นหากภาคเอกชน ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ที่ดีถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของจังหวัดภูเก็ตที่จะได้มีโอกาสพัฒนาไปสู่ความเป็น smart city ที่ชาวภูเก็ตรอคอยและมุ่งหวัง นอกจากนี้การนำเทคโนโลยี มาใช้พัฒนาศักยภาพในการรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้แก่ นักท่องเที่ยว จะสามารถสร้างมูลค่า ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน