นายกเล็กเมืองป่าตอง ฝันพัฒนาคลองปากบางให้เหมือน “คลองชองกเยชอน”  หวังดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว – แก้น้ำดำ

โพสเมื่อ : Tuesday, October 29th, 2019 : 3.10 pm

 “เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์” นายกเล็กเมืองป่าตอง ฝันพัฒนาคลองปาก เหมือน “คลองชองกเยชอน”  ประเทศเกาหลี บาง เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาน้ำดำไหลลงทะเล แต่ยังติดปัญหาเรื่องงบประมาณ

นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาคลองปากบาง เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าไหลลงทะเลที่หาดป่าตอง และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ว่า คลองปากบาง ถือเป็นคลองหลักของป่าตอง ซึ่งเป็นคลองสายใหญ่ที่รับน้ำมาจากคลองเล็กๆ หลายแห่งในป่าตอง สุดท้ายก็มารวมกันไว้ที่คลองปากบาง ซึ่งคลองปากบาง ก็จะเชื่อมต่อกับทะเล แต่ในขณะเดียวกันคลองปากบางนอกจากจะรับน้ำจากคลองต่างๆแล้ว ทุกวันนี้ คลองปากบางยังกลายเป็นคลองที่ต้องรับน้ำทิ้งผ่านการบำบัดน้ำเสีย จากระบบบำบัดน้ำเสียจากเทศบาลเมืองป่าตอง และน้ำทิ้งจากบ้านเรือนประชาชน และผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ยอมต่อท่อเข้าระบบบำบัดของรัฐบาล

พื้นที่ของคลองปากบางเป็นพื้นที่ป่าโกงกาง โดยธรรมชาติของป่าโกงกางก็คือพื้นดินบริเวณนั้นก็จะดำ และ มีลักษณะเหมือนดินเลนหรือดินโคลน เวลาฝนแรกของปี และเป็นช่วงที่ฝนลงหนักๆ ก็จะชะเอาดินโคลนเหล่านี้ลงทะเลไปด้วย ทำให้น้ำที่ไหลจากคลองปากบางไปลงทะเลมีสีดำ จนมีการนำภาพไปแชร์กันไปตามโลกโซเซียลต่าง ซึ่งคนที่ไม่ได้อยู่ที่ป่าตองก็จะเกิดความตกใจกับสิ่งที่เห็นคิดว่าน้ำเน่าไหลลงทะเล ซึ่งภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นทุกปี ที่ผ่านมาทางเทศบาลบาลได้แก้ไขปัญหามาโดยตลอด โดยการจัดสรรงบประมาณในการขุดลอกคลองเพื่อเอาดินโคลนออกจากท้องคลอง ซึ่งในแต่ละปีก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการขุดลอกทั้งเส้น ต้องสลับกันไปในแต่ละปี เพื่อลดความดำของโคลนเลน ที่ถูกชะลงทะเล แต่สุดท้ายโคนสีดำก็ยังไหลลงทะเลอยู่เพราะไม่สามารถขุดลอกได้พร้อมกันทั้งสาย

นางสาวเฉลิมลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ก็ได้มีการหารือกับทีมบริหารรวมถึงชาวบ้านแล้ว ว่า การขุดลอกทุกๆปี ที่ทำกันอยู่นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ยั่งยืน และไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาดินโคลนดำได้ เพราะตามธรรมชาติดินบริเวณคลองปากบางอย่างไรก็จะมีความดำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ลอกดินตรงนี้ไป ดินข้างๆก็ไหลลงมาทับจุดเดิมอีก กลายเป็นการใช้เงินลงทุนไปทุกปีๆ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาดินดำไม่ได้ ทุกปีก็จะมีปัญหาน้ำดำไหลลงทะเลอยู่ดี

จึงได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาคลองปากบาง โดยเปลี่ยนจากการขุดลอกคลองปากบาง มาเป็นการดาดท้องคลองแทน ด้วยการทำกำแพงกันดินและ เทปูนซีเมนต์ลงไปในท้องคลอง เพื่อที่จะตัดปัญหาเรื่องดินดำไหลลงทะเล ซึ่งแนวคิดนี้ก็มีนำเสนอไปยังสมาคมผังเมือง ซึ่งทำเรื่องการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด ซึ่งจากการพูดคุยกันถึงแนวทางการพัฒนาเมืองเมืองป่าตองให้เป็นเมืองที่ฉลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ของถนนหนทาง การสร้างอาคาร รวมมาถึงเรื่องการพัฒนาคลองปากบาง ก็ได้รับข้อเสนอ ว่า จริงๆแล้วคลองปากบางน่าจะเป็นได้มากกว่าคลองสำหรับระบายน้ำลงสู่ทะเลเพียงอย่างเดียว คลองปากบางอาจจะกลายเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองป่าตองก็ได้ถ้ามีการพัฒนาให้ถูกทางเหมือนเมืองท่องเที่ยวที่ต่างประเทศ อย่างเช่น คลองชองกเยชอน ประเทศเกาหลี ที่พัฒนาคลองน้ำเสียกลางเมืองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสวยงาม ซึ่ง คลองปากบางก็เช่นกัน สามารถพัฒนาให้กลายเป็นแห่งท่องเที่ยวได้

จากข้อเสนอดังกล่าวมองว่าคลองปากบางน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้  ก็เลยหยุดความคิดในการที่จะดาดท้องคลองเอาไว้ก่อน และเดินหน้าขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของการออกแบบผังเมือง และการการออกแบบพัฒนาเมือง เพื่อให้เข้าช่วย ในการวางแผนพัฒนาคลองปากบาง ว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหนได้บ้าง ทั้งสามารถใช้เป็นคลองระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก และในช่วงฝนแรกก็ไม่ส่งปัญหา แต่ในช่วงที่หมดฝน น้ำไม่หลาก สามารถทำให้กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและแหล่งท่องเที่ยวได้

คลองปากบางยาวประมาณ 3 กม. ถือเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างยาว ซึ่งถ้าเราพัฒนาให้ดีจนน้ำมีความสะอาด ก็สามารถจัดสรรให้เป็นสวนหย่อม สถานที่พักผ่อนที่ร่มรื่น สวยงามได้ โดยพื้นที่ด้านบนก็ยังสามารถพัฒนาให้เป็นทางเท้า ทางเดินได้ ชาวประมงก็สามารถประกอบอาชีพได้ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงการขายปลา สุดท้ายแล้วทุกส่วนจะต้องสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทั้งการท่องเที่ยว ชุมชน และแก้ปัญหาน้ำดำไหลลงทะเล ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือแนวคิดที่คิดร่วมกันอยู่ ซึ่งถ้าได้ผู้ออกแบบมาออกแบบเป็นรูปเป็นร่างเสร็จแล้ว เราก็จะได้นำงบประมาณมาพัฒนาให้คลองปากบางเป็นไปตามที่เราวาดฝันไว้ ต่อไปคลองปากบางจะไม่ใช้แค่เป็นคลองระบายน้ำอย่างเดียว คลองปากบางจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจ

นางสาวเฉลิมลักษณ์ ยังกล่าวต่อไปว่า แนวทางการพัฒนาคลองปากบาง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนใช้ประโยชน์ ได้ และยังเป็นคลองระบายน้ำ ในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่แนวความคิดซึ่งยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ เพราะการเปลี่ยนแนวคิดแล้วจากการดาดท้องคลองเพื่อการระบายน้ำอย่างเดียว มาเป็นการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ก้าวเข้าสู่การพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด เทศบาลจะต้องจ้างผู้ออกแบบ ซึ่งในปีงบประมาณ 62 ไม่สามารถที่จะทำได้ทัน ในการที่จะใช้เงินเหลือจ่ายของปีงบประมาณ 2562 เพราะในการลงมือปฏิบัติจริง ในการจะดึงงบประมาณประมาณออกใช้นั้น จะต้องเขียนข้อกำหนดการจ้าง (TOR) ให้ชัดเจน แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้ เมื่อไม่สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ได้งบประมาณก็ต้องตกไป

เราก็ต้องมามองเรื่องของการใช้เงินงบประมาณ ปี 63 ก็อย่างที่ทราบ ว่า เทศบาลก็เหลือเงินไม่มากนัก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเก็บภาษีใหม่ ทำให้เกิดความกังวลว่า เทศบาลเมืองป่าตองน่าจะจัดเก็บภาษีได้น้อยลงกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งจากการคำนวณฐานการเก็บภาษีแบบใหม่ทำให้ภาษีที่เก็บได้ลดลงแน่นอน ก็ต้องหยุดดูรายได้ของปีงบประมาณนี้ก่อนว่า สุดท้ายแล้วภาษีที่เก็บได้จากระบบการเก็บภาษีรูปแบบใหม่จะมีเข้ามามากน้อยแค่ไหน เมื่อประเมินได้ชัดเจนขึ้นแล้ว เชื่อว่าปีต่อไปหรืออย่างน้อยๆ กลางปีงบประมาณ 2563 จะได้ทำเรื่องของบเพิ่มเติมงบประมาณ ถ้าสภาฯเห็นด้วย ก็จะได้เสนอโครงการที่จะจัดจ้างผู้ออกแบบเมือง วางมาสเตอร์แพลน เพื่อให้การพัฒนาเมืองเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะทุกวันนี้เราไม่ได้มีการจ้างผู้ออกแบบผังเมืองเข้ามาออกแบบวางแผนพัฒนาเมือง ตอนนี้เราทำงานแบบตรงไหนจำเป็นเร่งด่วนก่อน ก็ทำกันไปก่อน มันอาจจะดูแล้วไม่เป็นหนึ่งเดียวหรืออาจจะไม่ได้เมืองที่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ โดยส่วนตัวคิดว่า การพัฒนาเมืองมันมีความจำเป็นมากๆที่เราจะต้องให้ผู้รู้ ผู้ชำนาญการมาออกแบบให้เราจริงๆ

ส่วนการแก้ปัญหาน้ำดำ ดินโคลนจากคลองปากบาง ไหลลงทะเล นางสาวเฉลิมลักษณ์ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาในขณะนี้เทศบาลเมืองป่าตองก็ยังคงจัดสรรงบประมาณในการขุดลอกคลองไปก่อน เพราะถ้าไม่มีการลอกเลย การสะสมจะมากขึ้นๆ จะส่งผลตอนฝนแรกที่ตกลงมาชะหน้าดิน ปริมาณความดำของน้ำก็จะมากไปอีก ก็เลยยังต้องยอมใช้เงินงบประมาณทุกปี ปีละไม่เกิน 5 ล้านบาท เช่นเดียวกันกับปีนี้ ก็ได้ทำการขุดลอกกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อการระบายน้ำที่จะมีความสะดวกมากขึ้น และดินดำก็จะมีปริมาณน้อยลง

แม้ว่ามีเมื่อประมาณปี 2559 ที่ผ่านมา ทางเทศบาลได้ร้องของบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อทำระบบป้องกันน้ำท่วมอย่างถาวร ซึ่งก็รวมถึงการทำท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ เปิดสะพาน เปิดถนนสายผังเมือง ก. เพื่อให้เป็นอุโมงค์น้ำเฉพาะบางช่วงมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อของท่อสกัดกั้นการไหลของน้ำ แล้วบางช่วงจะก็จะบ่อดักทรายในคลองต่างๆ ที่เป็นสายเล็กๆในป่าตองที่จะเข้าสู่สายผังเมือง ก. ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างกำลังเริ่มดำเนินการ และโครงการนี้ล่าช้ามา 3 ปี แล้ว เนื่องจากบริษัทฯผู้รับจ้างที่ทำงานไม่เสร็จ แต่ในส่วนของเทศบาลเมืองป่าตองก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เนื่องจากเป็นงบประมาณของกรมโยธาธิการฯ ทางเทศบาลก็ พยายามเร่งดินตามมาโดยตลอด

ส่วนการลอกท่อ ก็เป็นอีก 1 งานที่อยู่ในโครงการฯ ดังกล่าวด้วย มีอยู่ในช่วงหลังๆ ที่เรามอบพื้นที่ถนน และเจ้าท่าก็ได้มอบพื้นที่คลองให้กับบริษัทรับจ้างแต่ทางบริษัทก็ทำงานไม่ได้ตามเป้า จึงเกิดปัญหาว่าเราไม่สามารถเข้าไปลอกคลองได้ผลที่ตามมาคือน้ำดำไหลลงทะเลจำนวนมาก ทางเทศบาลก็เลยต้องไปขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยเหลือในการขอพื้นที่คลองปากบางให้กับเทศบาลเมืองป่าตองได้ดูแล เพราะว่าบริษัทฯผู้รับจ้างไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าปล่อยไว้ปัญหาจะลุกลามใหญ่โตแน่นอน สุดท้ายก็ได้รับโอนกลับมาให้เทศบาลเมืองป่าตองได้เป็นผู้ดูแลเช่นเดิม ทางเทศบาลจึงได้เดินหน้าขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันต่อไป แล้วค่อยไปหักเงินค่าลอกคลองจากบริษัทฯผู้รับจ้าง ส่วนบริษัทฯก็เหลืองานทำกำแพงกันดิน งานทำประตูน้ำ ฯลฯ ตามสัญญาว่าจ้างที่เหลืออยู่ต่อไป