นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ผุด “ไร่นายหัวหญิง” ชวนชาวบ้านเอาขวดพลาสติดแลกผัก ลดปัญหาขยะ

โพสเมื่อ : Wednesday, January 8th, 2020 : 2.22 pm

นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง รุกต่อนโยบายจัดการขยะ ผุด “ไร่นายหัวหญิง” ปลูกผักปลอดสารพิษ มุ่งรณรงค์การคัดแยก ลดปริมาณขยะอินทรีย์ ทดลองทำปุ๋ยคอมโพส แจกชาวบ้าน ชวนคนป่าตองนำขวดพลาสติกแลกผัก

ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จะรู้จักป่าตองในนามของเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่มีหาดทรายชายหาดที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่ชวนหลงไหล ล่าสุด นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง นำคณะสื่อมวลชนภูเก็ตลงพื้นที่แปลงผักสวนครัวเพื่อสุขภาพ โครงการผักปลอดสารพิษของ ไร่นายหัวหญิง ณ ไร่นายหัวหญิง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม “ขยะแลกผัก” ซึ่งประชาชนสามารถนำขยะรีไซเคิลมาแลกเปลี่ยนเป็นผักสดๆ เก็บใหม่จากแปลงกลับไปรับประทานได้

ซึ่งไร่แห่งนี้ ทางนายกเทศมนตรีบอกว่า ทำขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของเทศบาลเมืองป่าตองในการลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของขยะทั้งหมด ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการเก็บขน ทางไร่นายหัวหญิง จึงได้มีการจัดทำแปลงผักดังกล่าวขึ้นมา เพื่อนำขยะอินทรีย์มาหมักทำเป็นปุ๋ยคอมโพสเพื่อใช้ในการปลูกผัก เนื่องจากปัจจุบันเทศบาลเมืองป่าตอง พยายามที่จะลดปริมาณขยะจากการที่ต้องเก็บขนขยะวันหนึ่งประมาณ 100 กว่าตัน ส่งไปยังเตาเผาขยะของเทศบาลนครภูเก็ต และจากการสังเกต พบว่าในแต่ละวัน จะมีขยะอินทรีย์มากกว่าครึ่งหนึ่ง เวลาขนส่งมักจะมีปัญหาน้ำจากขยะไหลออกมาหกเรี่ยราดบนถนน ทำให้การสัญจรของพี่น้องประชาชนมีปัญหาเกิดอุบัติเหตุ

เพราะฉะทางเทศบาลจึงพยายามที่จะลดขยะอินทรีย์ออกจากขยะที่เราต้องขนไปส่งเตาเผาขยะ จึงจัดโครงการคัดแยกขยะประเภทอาหารหมูออกมา โดยให้โรงแรมช่วยคัดแยกแบบไม่มีเศษกระดาษ เศษไม้ปนอยู่เลย ก็จะเก็บเป็นอาหารหมูไปฝังกลบเพื่อที่จะเป็นปุ๋ยด้วยตัวหนึ่ง แล้วก็เศษอาหารอื่น ๆ อย่างเช่น พวกเศษผักผลไม้ที่เหลือจากการทำอาหาร รวมทั้งมะพร้าวอ่อน เนื่องจากเราเป็นเมืองชายทะเล มะพร้าวอ่อนก็จะเป็นผลไม้หรือเครื่องดื่มยอดฮิตที่จะต้องกินกันวันละหลายพันลูก เพราะฉะนั้นเศษอาหารอินทรีย์เหล่านี้ปริมาณมากและเป็นปัญหาในการเก็บขน แล้วก็น้ำหนักเยอะด้วย เวลาส่งเตาเผา ค่าเผาก็จะแพงมาก เพราะฉะนั้นเราก็เอาขยะอินทรีย์เหล่านี้มาแยกทำเป็นปุ๋ยคอมโพสด้วย

หลังจากที่ทดลองทำเป็นปุ๋ยคอมโพส เมื่อทำปุ๋ยสำเร็จก็เลยมาทดลองปลูกผัก ปรากฏว่าผักที่ปลูกเติบโตสมบูรณ์สวยงามมาก เราก็เลยได้แนวคิดว่า ถ้าเราจะลดปริมาณขยะด้วยการทำปุ๋ยคอมโพส เยอะๆ เราก็ต้องใช้ปุ๋ยคอมโพสให้หมดด้วยการนำไปใช้ปลูกผักให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้มีพื้นที่กองปุ๋ยกองใหม่

เพราะฉะนั้นเราจึงหาพื้นที่ปลูกผัก เนื่องจากเทศบาลไม่มีที่ให้ทดลองปลูกผัก จึงได้มาเช่าที่ดินของเอกชน เพื่อที่จะปลูกผัก โดยการเอาปุ๋ยคอมโพสที่เกิดจากการลดขยะของเทศบาลเมืองป่าตองมาใช้ตรงนี้ แต่ติดระเบียบในเรื่องต่าง ๆ ทางเทศบาลไม่สามารถเช่าที่ดินตรงนี้ได้ สุดท้ายเราไม่อยากให้โครงการที่คิดไว้ต้องล่มไป

ทางรองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ซึ่งเป็นคนดูแลกองสาธารณสุขฯ ก็รับมาจัดการเอง ด้วยการจ่ายค่าเช่าเอง จ้างคนมาปลูกผัก รวมถึงทำปุ๋ยคอมโพสเอง เพื่อรองรับกับแปลงผักแปลงนี้ ก็ถือว่าได้ผลดีเพราะว่าผักงอกงาม แล้วก็นอกจากเราลดขยะลงได้แล้วเราก็ยังได้ให้แปลงผักแปลงนี้เป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้คนในพื้นที่ลดขยะอีกทางหนึ่งด้วย คือ เราประกาศให้คนเอาขวดพลาสติกมาแลกผักปลอดสารพิษไปรับประทาน หาดเอกชนให้เช่าที่ต่อไปก็พร้อมที่จะดำเนินการต่อ เพราะนอกจากชาวบ้านได้กินผักปลอดสารพิษ ก็ยังสามารถที่จะลดปริมาณขยะลงได้

จะเห็นว่าตอนนี้คนที่เอาขวดพลาสติกมาแลกก็เยอะ คนที่มาซื้อผักทานเองก็เยอะเหมือนกัน พอเราทำอย่างนี้เราก็อยากต่อยอดให้คนได้มีโอกาสทานผักทานอาหารปลอดภัย ก็เลยได้เปิดเป็นร้านอาหารขึ้นมา ขายข้าวแกง ขายขนมจีน ซึ่งผักส่วนใหญ่จะเอามาจากแปลงนี้ ยกเว้นว่าผักที่แปลงนี้ไม่มีจริง ๆ เขาจึงไปหาซื้อที่ตลาด อย่างไรก็ตาม ขอเรียนเชิญทุกท่านมาดูเป็นแนวคิด ทำให้เรามีกำลังใจไปปลูกผักทานเองที่บ้าน

พื้นที่แปลงผักตรงนี้ใช้เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ ผักที่เพาะปลูกจะมีทั้ง ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักคะน้า ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักปลัง กระเจี๊ยบ มะเขือ ชะอม ผักกาดขาว มะนาว บวบ ผักสลัด ตะไคร้ ฯลฯ และนอกจากนี้มีการเลี้ยงปลา ทั้งปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน ด้วย

นางสาวเฉลิมลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติม ในส่วนของการทำปุ๋ยคอมที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองป่าตองดำเนินการ ก็ยังหมักเหมือนเดิม  แต่รณรงค์ให้ชาวบ้านมาเอาไปใช้ เพื่อปลูกผักกินเอง สำหรับชาวบ้านที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ เพราะปุ๋ยดังกล่าวเป็นส่วนของทางเทศบาลผลิต เพราะฉะนั้นปุ๋ยหมักคอมโพสที่เทศบาลทำชาวบ้านจะเอาไปใช้ได้  ซึ่งเป็นนโยบายของเทศบาล ช่วยให้ชาวบ้านรณรงค์ลดขยะและส่งเสริมให้มีการปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง

นางสาวเฉลิมลักษณ์ กล่าวต่อไป ปริมาณขยะตอนนี้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 150 – 200 ตันต่อวัน ทางเทศบาลยังไม่มีการคัดแยกเนื่องจากไม่มีที่คัดแยก ยกเว้นที่เราไปขอความร่วมมือจากโรงแรม ตอนนี้คนที่แยกให้จริง ๆ คือโรงแรม ซึ่งทางเทศบาลก็ก็กำลังหาวิธีการอยู่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะให้ชาวบ้านคัดแยกขยะจากครัวเรือน เพื่อลดขยะที่จะออกสู่โรงเตาเผาต่อไป