นักวิชาการลงตรวจข้อมูลกายภาพ จระเข้ยะนุ้ย หาสายพันธุ์ชัดเจน

โพสเมื่อ : Thursday, August 9th, 2018 : 2.41 pm

 

นักวิชาการประมงลงตรวจข้อมูลกายภาพ จระเข้ยะนุ้ย เพื่อหาแหล่งที่มา /สายพันธุ์ที่ชัดเจน ก่อนนำไปไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม เบื้องต้นอาจจะเป็นลูกผสม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่บ่อพักฟื้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ สถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเล จ.ระนอง กรมประมง พร้อมด้วย นายไพศาล สุขปุณพันธ์ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต  และ เจ้าหน้าที่บริษัท ภูเก็ต คร็อกโคไดล์เวิร์ค จำกัด ร่วมกับทำการตรวจสอบและเก็บข้อมูลทางกายภาพเบื้องต้นของ “จระเข้ยะนุ้ย” เพื่อหาที่มา สายพันธ์ที่ชัดเจนของจระเข้ดังกล่าว

สำหรับจระเข้ยะนุ้ย เป็นจระเข้เพศเมีย อายุ 6 – 7 ปี ความยาว 2.50 เมตร ชาวบ้านพบครั้งแรกว่ายน้ำอยู่ในทะเลบริเวณหน้าชายหาดยะนุ้ย ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นทางเหน้าที่พยายามจับออกจากทะเล แต่จระเข้ก็ว่ายน้ำไปตามชายหาดต่างๆ จนกระทั้งสามารถจับตัวได้ที่บริเวณปากคลองลายัน (คลองเสน่ห์โพธิ์) ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาและได้นำมาพักฟื้นรอการเก็บตัวอย่างเลือดและดีเอ็นเอ เพื่อหาสายพันธ์ที่ชัดเจน ก่อนที่มีการนำไปไว้ยังพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ สถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเล จ.ระนอง กล่าวภายหลังการเก็บข้อมูลทางกายภาพของจระเข้น้องยะนุ้ย ว่า เป็นการตรวจภายนอก เพื่อดูว่าเป็นจระเข้ชนิดใด เบื้องต้นจากการตรวจสอบบริเวณจะงอยปาก พบว่าค่อนข้างแคบ มีเกล็ดขนาดใหญ่บริเวณท้ายทอย และเกล็ดข้างลำตัวมีขนาดเล็ก แต่มีเกล็ดขนาดใหญ่กว่าปกติแต่ไม่ได้เด่นชัดขึ้นมาแซมบางส่วน  จึงทำให้สงสัยได้ว่า  อาจจะเป็นจระเข้ผสม ซึ่งในภาพรวมของจระเข้ตัวนี้ค่อนไปทางจระเข้น้ำเค็มมาก

“เท่าที่ดูการเคลื่อนไหวพบว่าค่อนข้างแข็งแรงมาก มีการตอบสนองตลอดเวลา แต่อาจจะมีบาดแผลเล็กน้อยจากการถูกจับจากทะเล และการจับเพื่อตรวจสภาพในจังหวะที่เขาดิ้นรนและไปกระแทกกับพื้นของบ่อพักฟื้นซึ่งเป็นปูน และเป็นที่น่าสังเกตกว่าบริเวณลำตัวจระเข้ตัวนี้จะมีตะไคร้ขึ้นตามตัวค่อนข้างมาก เป็นการบางบอกได้ว่าจระเข้ตัวนี้เคยผ่านการถูกกักขังในน้ำนิ่งมาเป็นระยะเวลานานมาก่อน”

นายมนตรี ยังกล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินการกับจระเข้ตัวดังกล่าว หลังจากที่มีการตรวจพิสูจน์ต่างๆ เรียบร้อย  หากเป็นจระเข้ที่ไม่ผ่านการเลี้ยงมาก่อนจะต้องนำไปปล่อยในแหล่งธรรมชาติที่เหมาะสม แต่หากเป็นลูกผสมก็อาจจะใช้แนวทางเดียวกับจระเข้เลพัง ซึ่งมีการจับได้เมื่อปลายปี 2560 โดยเอาไปฝากไว้ที่สวนสัตว์

แต่สำหรับตัวนี้จากการตรวจสอบทางกายภาพเบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะเป็นจระเข้ผสมมากกว่าจระเข้แท้ แต่ไม่ยืนยัน  เพราะลักษณะของจระเข้น้ำเค็มจะมีความผันแปรอยู่เล็กๆ น้อยๆ  และต้องรอผลการตรวจดีเอ็นเออีกครั้ง