ทัพเรือภาค 3 ส่ง 6 ลูกเรือประมงฟิลิปปินส์กลับ หลังคุมตัวนาน 9 เดือน

โพสเมื่อ : Friday, September 15th, 2017 : 4.19 pm

ทัพเรือภาค 3 ส่งกลับ 6 ลูกเรือประมงชาวฟิลิปปินส์ กลับประเทศแล้ววันนี้ หลังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ภูเก็ต 9 เดือน จากที่เจ้าหน้าที่ของไทยจับกุมเรือประมงอ้างสัญชาติโบลิเบียได้ 7 ลำ พร้อมลูกเรือ 15 คน เมื่อช่วงปลายปี 59 ที่ผ่านมา ที่ขอเข้าฝั่งที่ภูเก็ตเพื่อซ่อมแซมแต่ไม่มีใบแสดงว่าเป็นเรือสัญชาติตามที่แจ้งจริง ส่วนลูกเรือเผยด้วยรอยยิ้มว่า ดีใจมากที่จะได้เดินทางกลับบ้าน และจะทำอาชีพลูกเรือประมงต่อไป ส่วนเรือทั้ง 7 ลำถูกยึดไว้


เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (15 ก.ย.) พลเรือโท สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ได้ส่งตัวลูกเรือประมงชาวฟิลิปปินส์ ของเรือประมงที่กล่าวอ้างสัญชาติโบลิเวีย จำนวน 6 คน ที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่บ้านพักรับรองทัพเรือภาค 3 อ.เมือง จ.ภูเก็ต กลับประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จ และทางการฟิลิปปินส์ทำการตรวจสอบและรับกลับประเทศแล้วเสร็จเช่นกัน โดยลูกเรือทั้ง 6 คน จะเดินทางจากสนามบินภูเก็ตไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศฟิลิปปินส์ในวันนี้ ในการทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้มอบเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางให้กับลูกเรือทั้ง 6 คน ด้วย

พลเรือโท สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวถึงการส่งตัวลูกเรือประมงชาวฟิลิปปินส์ ทั้ง 6 คน กลับประเทศในวันนี้ ว่า เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทำประมง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ รัฐบาลจึงมอบหมายให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ที่มี พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย เข้าทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถปลดล๊อกการได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ( EU )

การบังคับใช้กฎหมายถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้เกิดผล ดังนั้น ศปมผ. จึงได้มีการสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เพิ่มความเข้มงวด และบูรณาการในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันนั้น มอบหมายให้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 ( ศรชล.เขต 3) ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานการปฏิบัติ

ศรชล.เขต 3 โดย พลเรือโท สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ผอ.ศรชล.เขต 3) ได้มีการดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด ทั้งการควบคุมและกำกับดูแลการตรวจเรือประมงในทะเล การปฏิบัติงานของศูนย์รายงานเรือเข้า –ออก (ศูนย์ PIPO) ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 8 ศูนย์ รวมทั้งการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย โดยมีผลการปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นตามเป้าหมายและแนวทางที่กำหนด

จึงสามารถดำเนินการจับกุมและควบคุมเรือประมงที่กล่าวอ้างสัญชาติโบลิเวีย จำนวน 7 ลำ เมื่อ 22 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา โดยได้มีการนำลูกเรือทั้งหมดจำนวน 15 คน โดยเป็นลูกเรือชาวอินโดนีเซีย จำนวน 9 คน และฟิลิปปินส์ จำนวน 6 คน ให้มาอยู่ในความดูแลและอำนวยความสะดวกของ ศรชล.เขต 3 เพื่อดำเนินการสอบสวนขยายผลว่ามีการกระทำที่จะเข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ โดย ศรชล.เขต 3 ได้จัดที่พัก ณ อาคารรับรอง บก.ทรภ.3 พร้อมอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่ 30 ธ.ค.2559 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ในส่วนของลูกเรือชาวอินโดนีเซีย ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและเดินทางกลับประเทศไปแล้ว เมื่อต้นเดือน ก.พ.2560 ส่วนลูกเรือฟิลิปปินส์ได้ดำเนินการทุกอย่างแล้วเสร็จและส่งตัวกลับในวันนี้

การดำเนินการดูแลลูกเรือประมงที่กล่าวอ้างสัญชาติโบลิเวียที่ผ่านมา นั้น ศรชล.เขต 3 ได้ดำเนินการจัดที่พัก อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกเรือทั้งหมดอย่างดีเท่าที่สามารถกระทำได้ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ความเท่าเทียม และความเป็นเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและ ศปมผ.ทั้งนี้ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อที่เร่งรัดส่งลูกเรือได้กลับบ้านเกิดอย่างเต็มขีดความสามารถ และสามารถดำเนินการได้เป็นที่เรียบร้อย ส่วนเรือประมงทั้ง 7 ลำนั้น ขณะนี้ได้ถูดยึดและจอดอยู่ที่บริเวณท่าเรือรัษฎา เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พลเรือโทสุรพล กล่าวในตอนท้ายว่า การปราบปรามการค้ามนุษย์ทางทะเล นั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ทั้งนี้ที่ผ่านมา ศรชล.เขต 3 ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ การปฏิบัติการด้านการข่าว การสุ่มตรวจเรือในทะเล และการตรวจสอบแรงงานของ ศูนย์ PIPO ต่างๆ ทั้งในห้วงการรายงานเข้า-ออก จากท่าเรือ โดยผลการดำเนินการในพื้นที่ที่ผ่านมายังตรวจไม่พบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

ส่วนลูกเรือที่ถูกส่งตัวกลับในวันนี้ บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสเดินทางกลับบ้านในวันนี้ หลังจากที่อยู่ในการควคุมของเจ้าหน้าที่ไทยเป็นเวลานานถึง 9 เดือน จะได้กลับไปหาครอบครัว เพราะคิดถึงลูกชายและหลานมาก และเมื่อกลับไปถึงฟิลิปปินส์แล้วก็ยังคงยึดอาชีพลูกเรือประมงเหมือนเดิม และตลอดเวลาที่อยู่ที่ประเทศไทยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบ