ทัพเรือภาค 3 ประชุม พมพ.พิจารณาแผนส่งเสริมความมั่นคงฝั่งทะเลอันดามัน

โพสเมื่อ : Tuesday, January 30th, 2018 : 3.41 pm

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ ( 30 ม.ค.) พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 3 ( พมพ.ทรภ.3) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการ พมพ.ทรภ.3 ครั้งที่ 1 /2561 โดยมี พลเรือตรี อาคม แตงอ่อน รอง ผบ.ทรภ.3 นาวาเอกธงชัย คุ้มกัน รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล เข้าร่วม ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

 

การประชุมคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 3 ในครั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของ พมพ.ทรภ.3 พิจารณาให้คำแนะนำ และเห็นชอบในร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติในระดับพื้นที่ในเขตทัพเรือภาคที่ 3 (พ.ศ.2561 – 2564) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันต่อไป

 

พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( พมพ.) มีหน้าที่หลักคือดูแลความมั่นคงทางทะเล เพื่อพัฒนาพื้นที่ตามชายแดนและเกาะต่าง ๆ ภายใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และอำเภอที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ซึ่งในการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2561 เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานของปีที่ผ่านมา และให้ทางจังหวัดต่าง ๆ ได้ชี้แจ้งรายละเอียดของเกี่ยวกับแผนงาน/โครงการ และงบประมาณที่แต่ละจังหวัดจัดสรรขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมให้สอดคล้องกับโครงการของ พมพ. รวมถึงการปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้รับความร่วมจากภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี

 

ส่วนการลักลอบกระทำความผิดทางกฎหมายในทะเลเขตรับผิดชอบของ พมพ.ทรภ.3 นั้น ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ระบุว่า ขณะนี้การลักลอบทำผิดกฎหมายในทะเลนั้นมีน้อยมาก ทั้งนี้สืบเนื่องจากทุกคนให้ความสำคัญกับกฎหมาย และกฎหมายมีบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้การกระทำผิดเกิดขึ้นน้อยจนแทบจะไม่มีเลย เช่น การลักลอบใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในเรือประมงหากถูกจับกุมได้จะต้องเสียค่าปรับที่สูงเป็นหลักแสนบาท ไม่คุ้มกับความเสี่ยง แต่ก็อาจจะมีบ้างในส่วนที่กระทำความผิดที่เกิดความไม่เข้าใจในกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี