ชาวบ้านร้องขอทางลงหาดแหลมสิงห์“ดุษฎี” ลงภูเก็ตตรวจสอบ

โพสเมื่อ : Thursday, March 23rd, 2017 : 3.55 pm

รองปลัดกระทรวงยุติธรรมลงพื้นที่ ต.กมลา จ.ภูเก็ต ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีชาวบ้านเรียกร้องขอคืนเส้นทางสาธารณะลงหาดแหลมสิง จากบริษัทผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ขณะที่ตัวแทนบริษัทยืนยันเอกสารสิทธิ์ได้มาถูกต้องและในเอกสารไม่ระบุว่าที่ดินมีลำรางสาธารณะหรือถนนสาธารณะมาก่อน ที่ผ่านมาอนุญาตให้ชาวบ้านผ่านมาโดยตลอด

วันนี้ (23 มี.ค.) เจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรม นำโดย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุฒิ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางลงพื้นที่ ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับผู้ถือครองโฉนดที่ดินบริเวณหาดแหลมสิง (บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด) กรณีกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าริมชายหาดซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ต.กมลา เรียกร้องขอคืนเส้นทางสาธารณะ และลำรางสาธารณะ จากเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางเดินเพื่อไปประกอบอาชีพร่มเตียงชายหาดและเป็นเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อลงไปพักผ่อนบริเวณชายหาดแหลมสิงห์ แต่ปัจจุบันผู้ถือครองโฉนดได้มีการจัดเก็บค่าผ่านทางลงไปยังชายหาดแหลมสิงห์จากนักท่องเที่ยวในอัตรา 100 บาท ต่อคนต่อครั้ง ประกอบกับในเดือนเมษายนนี้ จะปิดพื้นที่เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตามภายหลังลงพื้นที่พบกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าริมชายหาด บริเวณพื้นที่ที่มีการร้องเรียน รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เชิญตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการฯ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี นายสายัณห์ ชนะชัยวงศ์ นายอำเภอกะทู้ เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอกะทู้ และ นาย ไพโรจน์ ธนากุลวินิจ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุจำกัด มาประชุมพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังการประชุม ว่า กระทรวงยุติธรรมมีความจำเป็นจะต้องดูแลเรื่องของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเรื่องของผู้มีอิทธิพล และที่กระทรวงยุติธรรมลงพื้นที่วันนี้ เนื่องจากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพอยู่บริเวณหาดแหลมสิงห์ มีการร้องเรียนเข้ามากรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับความเดือดร้อนจากการเข้ามาของกลุ่มประกอบกับเป็นเรื่องของทางสาธารณะที่มีข้อขัดแย้งกัน เรื่องนี้ กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ และโดยเฉพาะตนเอง ได้รับเรื่องมา 2-3 ครั้งแล้ว ได้ตรวจสอบเบื้องต้นไว้เรียบร้อย และทราบว่าในเรื่องนี้ได้มีหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบแล้ว ในชั้นนี้ตนขออนุญาตไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องผลการตรวจสอบและแนวโน้มผลของการตรวจสอบว่าเป็นอย่างไรเพราะว่าเป็นส่วนได้เสียระหว่างชาวบ้านและผู้ถือครองที่ดิน ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ ขอชี้แจงว่าเราตรวจสอบพบแม้กระทั่งว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บางส่วนถูกไล่ออกจากราชการ บางคนก็ถึงแก่ความตายคือนายธวัชชัย อนุกุล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินฯ เพราะฉะนั้นยังต้องตรวจสอบให้ละเอียด

ผลของการตรวจสอบแต่ละหน่วยงาน คืบหน้าไปมาก มีทั้งการตรวจสอบถึงใบจอง สค.1 นส. 3 แปลภาพถ่ายทางอากาศ เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามว่ามีอะไรที่ทางส่วนราชการไม่ได้ทำบ้าง แต่ระยะเวลานี้ ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าตรงไหนเป็นที่สาธารณะ เอกสารสิทธิ์เป็นอย่างไร ที่ชาวบ้านสงสัยว่าถูกต้องหรือไม่ อยากจะให้ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ร่วมกันโดยที่ไม่มีข้อพิพาทขัดแย้ง จึงขอให้ทางอำเภอ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ยุติธรรมจังหวัด รับข้อมูลเพิ่มเติมทั้งหมด และทางนายอำเภอกะทู้ ก็ยินดีที่จะนำปัญหาทั้งหมดเข้าสู่คณะกรรมการจังหวัดพิจารณาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพราะทางกระทรวงยุติธรรมได้เสนอแล้วว่าควรจะมีส่วนร่วมของชาวบ้านในเรื่องความคิดเห็นไม่อยากจะให้ข้ามไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย และการเยียวยา อยากจะให้แก้ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้านเป็นหลัก

ส่วนกรณีความกังวลของชาวบ้าน ซึ่งจะต้องย้ายออกไปจากบริเวณหาดแหลมสิงห์ภายในวันที่ 17 เม.ย.60 นี้ พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า วันนี้เป็นการรับทราบปัญหาของแต่ละฝ่าย เข้าใจว่าหลังจากนี้ทางนายอำเภอกะทู้จะมีการจัดประชุมระหว่างตัวแทนของแต่ละกลุ่มเพื่อให้อยู่ร่วมกันโดยไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น

ด้าน นายไพโรจน์ ธนากุลวินิจ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุจำกัด ยืนยันว่า เอกสารสิทธิ์ที่ถือครองอยู่นั้นทางบริษัทได้มาอย่างถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย โดยได้ซื้อมาเมื่อปี 2529 มีเนื้อที่ทั้งหมด 65 ไร่ และไม่มีการระบุว่ามีลำรางหรือเส้นทางสาธารณะอยู่ในโฉนดแปลงที่ถือครอง ในขณะนั้นทางบริษัทได้อนุโลมให้ชาวบ้าน สามารถเข้าออกพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพได้ จนถึงปัจจุบัน รวมเวลากว่า 31 ปี โดยไม่เคยเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านที่ลงไปใช้พื้นที่ จนกระทั่งเมื่อปี 2558 ที่ รัฐบาล คสช.มีประกาศจัดระเบียบพื้นที่ชายหาดทั่วเกาะภูเก็ต และจังหวัดภูเก็ตประกาศให้พื้นที่ชายหาดแหลมสิงห์เป็นหาดอนุรักษ์ ทำให้ทางบริษัทมีแผนเตรียมเข้ามาพัฒนาพื้นที่ แต่ชาวบ้านได้เข้ามาขอไกล่เกลี่ยเพื่อขอยืดระยะเวลา ทางบริษัทจึงทำข้อตกลง กับชาวบ้านเพื่อยืดเวลาออกไปให้เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน และจะครบกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ยืนยันว่าทางบริษัทผู้ฯ ยินดีให้ตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากมั่นใจว่า ได้มาอย่างถูกต้อง และถ้าไม่มีลำรางสาธารณะอยู่ในที่ดินจริง ก็ขอความเป็นธรรมให้กับทางบริษัทฯ ด้วย

“ในส่วนประเด็นที่ต้องเก็บค่าผ่านทางจำนวน 100 บาท เพื่อลงไปยังชายหาดแหลมสิงห์นั้น เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่วนชาวบ้าน และคนในพื้นที่ทางบริษัทไม่เคยมีการเรียกเก็บ โดยค่าธรรมเนียมที่เก็บได้เพื่อนำไปใช้จ้าง รปภ.เข้ามาดูแลพื้นที่เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีกรณีการตรวจสอบพบว่ามีการนำยาเสพติดเข้าไปในพื้นที่ด้วย”นายไพโรจน์กล่าว

ขณะที่ นายสายัณห์ ชนะชัยวงศ์ นายอำเภอกะทู้ ระบุว่า ปัจจุบันชายหาดแหลมสิงห์เป็นหาดอนุรักษ์ ที่ออกประกาศโดยจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2558 ตามนโยบายการจัดระเบียบชายหาดของ คสช. ทำให้ไม่สามารถอนุญาตให้มีการค้าขายบนชายหาดได้ แต่ทางอำเภอได้แก้ปัญหานี้โดยจัดพื้นที่บริเวณชายหาดกมลา ที่อยู่ใกล้กัน และเป็นชายหาดที่ผ่อนผันให้สามารถค้าขายได้ ส่วนประเด็นที่ว่าชาวบ้านต้องการให้ยกเลิกให้หาดแหลมสิงห์พ้นจากหาดอนุรักษ์ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพค้าขายบนชายหาดดังกล่าวได้ต่อไป นั้น จะต้องมีการประชุมหาข้อสรุปกับทางจังหวัดต่อไป