จนท.เร่งแกะรอยหาที่มา ด้าน ดร.ดัง วอนจับมือดูแลให้ดี ขณะโซเชียลยันมีไอ้เข้ที่ภูเก็ต

โพสเมื่อ : Monday, September 4th, 2017 : 4.41 pm

เจ้าหน้าที่ลุย แกะรอย “เจ้าเลพัง” จระเข้น้ำเค็มที่ถูกจับได้ เพื่อหาที่แหล่งมาให้ชัดเจน มีต้นกำเนิดจากคนเลี้ยง หรือ แหล่งธรรมชาติ  ล่าสุดตรวจฟาร์ม-สวนสัตว์ พบยังอยู่ครบ ด้าน ดร.ธรณ์ โพสต์เฟซ ฯ ส่วนตัว แนะทุกภาคส่วนร่วมหาข้อมูลให้รอบด้านเพื่อหาคำตอบจะจัดการอย่างไรกับเจ้าเลพัง วอนจับมือดูแลให้ดีที่สุด  กลุ่มโซเชียล ยันเคยพบจระเข้ในทะเลที่ภูเก็ต ด้านหน่วยงานรัฐเตรียมประสานขอข้อมูล

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ จับจระเข้ น้ำเค็มที่เข้ามาหลบ อยู่ในขุมน้ำหน้า หาดเลพัง เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา และนำไปดูแลเบื้องต้นที่  “บ่อพักฟื้นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต)”  บ้านพารา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อรอเวลาในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อไป กับจระเข้ตัวดังกล่าวต่อไป แต่ปรากฏว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวหลายคนซึ่งส่วนใหญ่บอกว่าเป็นคนในพื้นที่ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่มาของจระเข้ กันเป็นจำนวนมาก และให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ว่ามีจระเข้น้ำเค็ม หรือ น้ำกร่อย อาศัยอยู่ในแทบหาดบางเทา เลพัง และลายัน มานานหลายสิบปี ก่อนจะมีการสร้างโรงแรมหรือก่อนจะมีการทำเหมืองแร่

 

บางคนระบุว่า เคยมีการจับและเจอจระเข้ในขุมเหมืองด้วย แต่ชาวบ้านไม่เคยแจ้งหน่วยงานราชการ หรือผู้นำท้องถิ่นให้ตรวจสอบ คิดว่าคงเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งมีการระบุว่าเคยเห็นจระเข้ว่ายน้ำอยู่แถวหาดไม้ขาว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2556 และอีกหลายๆความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันว่าเคยมีการพบเห็นจระเข้ก่อนหน้านี้ ในระยะหลายปีที่ผ่านมา บางรายก็เป็นเวลานับ 10 ปีที่ผ่าน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต และ ผู้นำท้องถิ่น หลังจากได้รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้ตรวจสอบและหาต้นกำเนิดของจระเข้น้ำเค็มตัวดังกล่าว ว่า มีที่มาอย่างไร เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือคนเลี้ยง ต่างก็รีบลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล เพื่อหาร่องรอย ซึ่งจากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้าน หลายๆราย ต่างก็ยืนยันว่าไม่เคยพบจระเข้ในธรรมชาติมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมขอข้อมูลจากคนโพสต์เฟซฯที่ระบุว่าเคยพบจระเข้ในทะเลภูเก็ต

 

ล่าสุดวันนี้ ( 4 ก.ย.) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ จำนวนจระเข้น้ำเค็ม ที่แจ้งขอเลี้ยงในฟาร์ม และสถานที่จัดแสดง รวมทั้งสวนสัตว์ภูเก็ต จำนวน 3 แห่ง ของจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะที่สวนสัตว์ภูเก็ต ซึ่งแจ้งขอเลี้ยงไว้กว่า 100 ตัว จากการตรวจสอบพบว่าจำนวนจระเข้ในสวนสัตว์ยังอยู่ครบทุกตัว นอกจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ยังต้องติดตามหาข่าวกรณีการลักลอบเลี้ยงจระเข้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่ามีใคร ลักลอบเลี้ยงหรือไม่  รวมทั้งการติดตามหาที่มาในธรรมชาติก็ยังเดินหน้าต่อ

ขณะที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง ได้โพสต์ข้อความกรณีจระเข้ที่จับได้ในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ตอีกครั้งถึงการแนวทางในการดูแลและหาที่มาของจระเข้ตัวดังกล่าว พร้อมตั้งชื่อเรียกขาน ว่า “เลพัง”  โดยข้อความระบุว่า  ในกรณีของจระเข้ #เลพัง (มีชื่อแล้วครับ) ผมทราบดีว่าพวกเราเป็นห่วง กลัวว่าจะเป็นอะไรไป จึงขอเขียนอีกครั้ง ตามที่เคยโพสต์ไป แต่จะลงรายละเอียดเพิ่มเติมครับ จระเข้ “เลพัง” อยู่ในการดูแลของจังหวัด ซึ่งกำลังขอความร่วมมือไปทางกรมประมง

 

การพิสูจน์แหล่งที่มาเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งตามข่าวที่ผมอ่าน ท่านผู้ว่าก็เดินทางไปดูจระเข้ และบอกว่าจะพิสูจน์หาแหล่งที่มา เพราะฉะนั้น ตรงส่วนนี้ทราบแล้วว่าท่านกำลังทำ แหล่งที่มามี 3 ประเด็น ตามข้อมูลที่หากันได้ หากเป็นข้อมูลของหน่วยงานรัฐและทางวิชาการ ไม่มีรายงานการอยู่อาศัยของจระเข้น้ำเค็มตามธรรมชาติในจังหวัดภูเก็ตมาเป็นเวลานานมากแล้ว (ใครหาข้อมูลอ้างอิงแบบวิชาการได้ จะมีประโยชน์มากครับ) ข้อมูลจากชาวบ้าน บอกว่าพบจระเข้อยู่เป็นระยะ และมีภาพข่าวเมื่อปี 56 และปีนี้ เป็นข้อมูลยืนยัน ปัญหาคือเป็นจระเข้ปล่อย/หลุดแล้วอาศัยอยู่แถวนั้น หรือเป็นจระเข้ที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม หากเราจะหาแหล่งที่มาให้ชัดเจน ทางจังหวัดและกรมประมงอาจลองดำเนินการโดยใช้นักวิชาการของหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกับนักวิชาการด้านจระเข้ องค์กรอนุรักษ์ต่างๆ และคนในพื้นที่ มาร่วมกันดูให้ชัดว่าแหล่งที่มาหรือที่อาศัยของจระเข้น้ำเค็มอยู่ตรงไหน มีรังหรือหลักฐานการวางไข่บ้างหรือไม่ ? ฯลฯ

รวมถึงการรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านให้รอบด้าน ใครมีข้อมูลแจ้งมาทางนั้นเลย ในระหว่างนั้น เราอาจดำเนินการพิสูจน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น DNA ฯลฯ หากผลการทำงานทั้ง 2 อย่าง บอกได้ว่ามีแหล่งอาศัยดั้งเดิมตามธรรมชาติจริง และ “เลพัง” เป็นจระเข้ตามธรรมชาติ ทุกฝ่ายยืนยันตรงกัน จะมาถึงคำถามต่อไป “เราควรทำอย่างไรกับเจ้าเลพัง ?” การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ก็คงต้องพิจารณาร่วมกัน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะแฮปปี้ ว่า มีจระเข้อยู่หน้าบ้าน โดยเฉพาะภูเก็ตที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหนาแน่น

 

ผมบอกตามตรง ว่า ผมกลัวเป็นแบบกระบี่ จระเข้ถูกยิงตาย (ตอนไม่เป็นข่าวไม่เท่าไหร่ แต่พอเป็นข่าวแล้ว สถานการณ์มันเปลี่ยนไปครับ) แนวคิดที่บอกว่าเราจะเรียนรู้อยู่ร่วมกันได้ เป็นแนวคิดที่ดีครับ แต่ถ้าเกิดมีปัญหา เราจะบอกเพียงว่า โอ้…เสียดายจัง บางคนไม่มีจิตสำนึก แค่นั้นคงไม่พอมั้งครับ ผมจึงเสนอให้รีบจับเป็นมาก่อน เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัด เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน

หากจะนำไปปล่อยที่เดิม ก็ต้องเอาให้ชัวร์ว่าจระเข้จะรอดแน่ และหากมีปัญหาใดๆ ขึ้นมา จะมีผู้รับผิดชอบ จะปล่อยให้ท่านผู้ว่า หรือ ท่านอธิบดีกรมประมง แอ่นอกรับอยู่เพียงลำพัง คงไม่เป็นธรรมต่อท่านแน่นอน หากจะนำไปปล่อยในธรรมชาติที่อื่น ก็ต้องคุยกับหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจนว่าเขายินดีจะดูแลไหม และคุยกับคนในพื้นที่ว่ายินดีไหม การติดเครื่องติดตามสัตว์ทะเล ทำได้ยากมากและมีระยะเวลาจำกัด ไม่ใช่เป็นปีหรือหลายปีครับ หากจำเป็นต้องเลี้ยงไว้ ก็ต้องดูแล “เลพัง” ให้ดีที่สุด

 

แน่นอนว่ากระบวนการต่างๆ ใช้เวลาแน่ และ ระหว่างนั้น ผู้รับผิดชอบก็คงต้องหาทางดูแล “เลพัง” ให้ดีมาก ซึ่งผมเข้าใจว่ากรมประมงคงพอจะหาทางออกในเรื่องนี้ได้ และผู้คนหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นห่วงจระเข้ ก็คงต้องยื่นมือเข้าไปช่วยในการดูแล “เลพัง” และพิจารณาหาทางออกร่วมกัน ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ผมคิดออกและอยากนำเสนอไว้ โดยทราบดีว่าขั้นตอนในการพิจารณาของจังหวัดและของกรมประมงมันไม่ง่าย และเราจะปล่อยให้หน่วยงานรัฐทำไปแล้วเราคอยโวยวาย มันคงไม่เกิดผลดีแน่

 

เราก็คงต้องยื่นมือเข้าไปช่วย ไปพูดคุยกันดีๆ ไปร่วมพิจารณา เสนอแนวทางแบบจริงจัง ฯลฯ นอกจากนี้ กรณีของ # เลพัง อาจเป็นจุดเริ่มที่ดีในการสำรวจศึกษาเรื่องจระเข้น้ำเค็มตามธรรมชาติในประเทศไทยอีกครั้ง เอากันให้ชัดๆ ไปเลยว่าจังหวัดไหนน่าจะมี ถิ่นไหนน่าจะเจอ แล้วจะอนุรักษ์หรือดูแลกันอย่างไร ไม่เช่นนั้น มันจะเกิดกรณีแบบจระเข้กระบี่อีกเรื่อยๆ ครับ