คนหาดสุรินทร์ไม่เห็นด้วยสร้างเขื่อนริมทะเล เชื่อทำให้น้ำกัดเซาะมากขึ้น

โพสเมื่อ : Wednesday, November 15th, 2017 : 6.43 pm

โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ชี้แจงความเป็นมาและรูปแบบการดำเนินการของโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนยังไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เหตุส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและสร้างปัญหาน้ำกัดเซาะชายหาดเพิ่ม

วันนี้ (15พ.ย.) ที่บริเวณชายหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายทวี หอมหวล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง ตัวแทนนายอำเภอถลาง และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการชี้แจงกับชาวบ้าน ผู้ประกอบการบริหารหาดดังกล่าว รวมถึงชาวบ้านหาดสุรินทร์ ซึ่งมาร่วมรับฟังจำนวนประมาณ 50 คน

 

ถึงการดำเนินโครงการ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณหาดสุรินทร์ ด้วยงบประมาณ 38,750,000 บาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง  โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชิงทะเล และเทศกิจ อบต.เชิงทะเล ดูแลความเรียบร้อย ซึ่งเหตุการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ในการดำเนินการชาวบ้านยังมีข้อสงสัยและไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ให้ชาวบ้านลงลายมือชื่อ เพื่อจะไปนำเสนอความคิดเห็นกันอีกครั้ง

นายจำลอง สิทธิโชค หนึ่งในชาวบ้านหาดสุรินทร์ กล่าวถึงโครงการจัดทำเขื่อนกันตลิ่งฯ ว่า ทางโยธาฯ ชี้แจงว่า เป็นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะของชายหาด  ซึ่งในส่วนของการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามถือเป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วย แต่ที่ตนและชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย คือ การสร้างเขื่อนซึ่งมีการใช้เสาเข็มจำนวนมากปักลงบนชายหาด โดยให้เห็นผลว่ามีการกัดเซาะของตลิ่ง

แต่จากการเก็บข้อมูลของตนมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การกัดเซาะของชายหาดแห่งนี้ เกิดจากการปล่อยให้นายทุนบุกรุกสร้างเขื่อนบนชายหาด ทำให้ในช่วงหน้ามรสุมคลื่นเข้ามากระแทก ทำให้ร่องน้ำและกระแสน้ำเปลี่ยน ผลักให้คลื่นซัดมายังฝั่ง ที่ไม่มีเขื่อนจึงเกิดการกัดเซาะ หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมโยธาฯ ได้มีการนำภาพปัญหาการกัดเซาะที่เกิดขึ้นไปจัดทำโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว สำหรับหาดสุรินทร์ การกัดเซาะหาดเกิดจากการสร้างเขื่อนไม่ใช่เพราะไม่สร้างเขื่อน  ซึ่งการแก้ปัญหาบริเวณชายหาดสุรินทร์แบบยั่งยืน คือ  การใช้ธรรมชาติ  การปลูกพืชชายหาด เช่น เตยทะเล ลำเจียก จิกทะเล หูกวางเป็นต้น”

ด้าน นายมาแอน สำราญ นายก อบต.เชิงทะเล กล่าวยอมรับว่า การดำเนินการในครั้งนี้ไม่รอบคอบ ทั้งในส่วนของผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง เพราะการขุดทรายบนชายหาดในช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ทัศนียภาพเกิดความไม่สวยงาม การเข้ามาชี้แจงกับชาวบ้านนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะยังไม่เห็นรายละเอียดของโครงการฯ และบางคนก็ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน ในขณะที่โครงการนี้ทางเจ้าของโครงการได้ร่วมกับ อบต.จัดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 7-8 ครั้ง โดยมีทางสมาชิก อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย แต่ ณ ปัจจุบันก็ไม่ปฎิเสธ การแสดงความคิดเห็นผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจและเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เบื้องต้นทางโยธาฯ จังหวัด จะให้ทางผู้รับจ้างปรับสภาพพื้นที่ชายหาดให้เหมือนเดิมก่อน และจะมาร่วมกันกำหนดรูปแบบการก่อสร้างอีกครั้ง

ด้าน นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง นักวิชาการอิสระ ด้านการจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล กล่าวถึงปัญหาหาดสุรินทร์ กล่าวว่า การจัดทำโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งดังกล่าวได้มีการทำประชาพิจารณ์มาอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ทั้งท้องถิ่นและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างไม่เห็นด้วยกับวิธีการสร้างเขื่อนที่มีโครงสร้างแข็งหรือผสมผสานกับโครงการสร้างอ่อน เพราะไม่เกิดความยั่งยืน และจะไปเร่งคลื่นลมดึงทรายออกไปอย่างรวดเร็ว จากสภาพทั่วไปของชายหาดปัจจุบันถือว่ามีสภาพที่ค่อนข้างดี  ดูจากพืชพันธ์ไม้ชายหาด เช่น ผักบุ้งทะเล เตยทะเล เป็นต้น ที่มีอยู่ยังสามารถรักษาสภาพชายหาดได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชายหาดสุรินทร์นั้นจะเป็นไปตามวงรอบธรรมชาติ หน้ามรสุมจะดึงทรายออกเมื่อเข้าสู่สภาพปกติก็จะพัดทรายกลับมาเหมือนเดิม

“หากมีการสร้างเขื่อน สิ่งที่น่าห่วง คือ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายหาดหรือระบบนิเวศหาดทรายเสียหาย สังเกตจากสภาพชายหาดที่มีขุดทรายขึ้นมาทำให้เตยทะเลที่มีขนาดใหญ่และต้องใช้เวลาในการเติบโตเสียหายไปหลายต้น เพราะพืชเหล่านี้จะช่วยยึดชายหาดไว้ได้ อีกประการหากสุรินทร์เป็นหาดชันไม่ใช่หาดราบฉะนั้นอย่าคิดว่าการที่สภาพชายหาดเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากการกัดเซาะชายฝั่ง จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างบนหาดทราย”