กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน ในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล

โพสเมื่อ : Tuesday, February 6th, 2018 : 5.38 pm

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน ในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้ หาแนวทางแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกาะสิมิลัน ติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำกระจายนักท่องเที่ยวไปเกาะใกล้เคียง สร้างศูนย์บริการลอยน้ำ ยังแก้ไม่ได้กำหนดโควตา เก็บค่าธรรมเนียมสูงขึ้น

วันนี้ (6 ก.พ.) นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้”โดยมีดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายดำริ จิตต์ใจฉ่ำ ผู้อำนวยการส่วนจัดการการท่องเที่ยวและนันทนาการ พร้อมทั้งตัวนายสุพจน์ เพริดพริ้งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตัวแทนผู้ประกอบกิจการในอุทยานแห่งชาติเข้าร่วมในงาน เพื่อระดมความเห็นและร่วมอภิปรายถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้ ณ โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาจากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเลเริ่มเพิ่มมากขึ้น ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งอุทยานแห่งชาติหลายแห่งโดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเลกำลังประสบปัญหาจากความแออัดของนักท่องเที่ยว ปัญหาคราบน้ำมันจากเรือโดยสาร ปัญหาการจัดการขยะ หรือแม้กระทั่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งยากต่อการฟื้นฟูในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการร่วมกันหาแนวทางในการจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้การจัดประชุมเรื่อง “การจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรและผู้ประกอบการให้เข้าใจสถานการณ์การท่องเที่ยวที่แท้จริงและร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้เป็นแนวทางในการจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายทรงธรรม กล่าวว่า การจัดการแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องมีการดำเนินการไปควบคู่กับการจัดให้มีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อให้ทันต่อการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วในขั้นต้นมุ่งเน้นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งบางแห่งมีผลการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว ทั้งนี้การจัดประชุมดังกล่าว ยังหวังให้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยวและสอดคล้องกับแผนปฎิรูปอุทยานแห่งชาติ 20ปี ที่เน้นการดูแลรักษาทรัพยากรการท่องเที่ยวและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นายทรงธรรม ยังกล่าวถึง มาตรการในการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกาะสิมิลัน จ.พังงา ว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้น ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจพื้นที่ ทำให้ทราบว่านักท่องเที่ยวล้นบางช่วงเวลาเท่านั้น คือ ในช่วงเวลา 11.00 – 14.00 น.ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนและรับประทานอาหารเที่ยงบนเกาะ ส่วนช่วงเวลาอื่นๆ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาตามปกติทั่วไปวันละประมาณ 2,000 – 3,000 คน

โดยกรมอุทยานฯได้วางมาตรการในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้แล้ว และกำลังจะดำเนินการในเร็วๆนี้ เริ่มตั้งแต่มาตรการในการกระจายนักท่องเที่ยวจากเกาะจากเกาะ 4 และเกาะ 8 ไปยังเกาะอื่นในหมู่เกาะสิมิลัน เช่น เกาะงวงช้าง เป็นต้น โดยการติดตั้งท่าเรือลอยน้ำ เพื่อไม่ได้ส่งผลกระทบกับปะการัง ร่วมไปถึงการลงทุนสร้างศูนย์ลอยน้ำที่บริเวณหน้าเกาะสิมิลัน

เพื่อให้นักท่องเที่ยวพักรอบนศูนย์บริการลอยน้ำในช่วงที่นักท่องเที่ยวเต็มเกาะ โดยจะดำเนินการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 มี.ค.นี้ จะดำเนินการในบริเวณเกาะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น ที่เกาะสิมิลัน เกาะพีพี และอ่าวพังงา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ รวมไปถึงการกำหนดโควตานักท่องเที่ยวเป็นช่วงเวลาในการขึ้นเกาะ

สุดท้ายหากพิจารณาแล้วเห็นว่า ทรัพยากรทางทะเลได้รับความเสียหายจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป อาจจะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นเกาะ รวมไปถึงการเพิ่มค่าธรรมเนียมในการขึ้นเกาะ เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเลต่อไป

ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาตินั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมาก โดยได้มอบนโยบายในเรื่องการจัดรถตู้ชีพ จัดซื้อเรือกู้ภัย ร่วมมือกับทางแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในการช่วยเหลือดูแลนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเข้ามาท่องเที่ยวในเขตอุทยาน และหากมีการบาดเจ็บสาหัส สามารถเรียกได้ที่หมายเลข 1669

นอกจากนี้ทางกรมอุทยานฯจะนำระบบการขายตั๋วเข้าอุทยานในลักษณะของ E-Ticket ในทุกอุทยานแต่ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ จะเริ่มทางทะเลที่เกาะสิมิลัน เกาะพีพี อ่าวพังงา เพื่อแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส

ขณะที่การประชุมดังกล่าว ยังมีการร่วมอภิปรายในหัวข้อสถานการท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน ตัวอย่างและทางเลือกในการจัดการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับได้ โดยมีนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายดำริ จิตต์ใจฉ่ำ ผู้อำนวยการส่วนจัดการการท่องเที่ยวและนันทนาการ พร้อมทั้งตัวแทนผู้ประกอบกิจการในอุทยานแห่งชาติ ร่วมเสวนา อีกทั้งการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทยานแห่งชาติทางทะเล ภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการ ประกอบกิจการดำน้ำในอุทยานแห่งชาติ มาร่วมกันประชุมระดมความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการสรุปผลการประชุมเพื่อนำผลการศึกษาฯมาวางกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป