กฟผ.หนุนงบ 14 ล้านบาท ให้ มอ.ภูเก็ต ศึกษาวิจัยและพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน

โพสเมื่อ : Tuesday, November 24th, 2020 : 3.37 pm

กฟผ.หนุนงบ 14 ล้านบาท ให้ มอ.ภูเก็ต ศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล พร้อมส่งเสริมอาชีพและสร้างรายกลุ่มประมงพื้นบ้าน

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (24 พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นประธาน ในพิธีรับมอบเงิน จำนวน 14 ล้านบาท และ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อการพัฒนา อ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน ระหว่างคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์ เกิดสินา คณบดี และ น.ส.พนา สุภาวกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ นายนรินทร์ มีวงศ์ ประมงจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ กฟผ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวพารา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เข้าร่วม

สำหรับโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มอ.ภูเก็ต กับ กฟผ.และ ประมงจังหวัดภูเก็ต ในการเข้าไปศึกษาวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลอ่าวพาราและอ่าวพังงา รวมถึงส่งเสริมสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้แก่ประมงพื้นบ้านใน 8 หมู่บ้าน ทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วย บ้านแหลมทราย บ้านพารา บ้านอ่าวกุ้ง เกาะนาคา บ้านอ่าวปอ บ้านบางโรง บ้านป่าคลอก และบ้านยามู

ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลวัตต์ และขยายสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 กิโลวัตต์ ซึ่งสายไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวต้องพาดผ่านป่าชายคลองท่ามะพร้าวและคลองท่าเรือ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้าและส่งเสริมการขยายตัวธุรกิจท่องเที่ยวในภาคใต้ในระยะยาว หลังจากเกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปี 2556 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างมาก ซึ่งการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าดังกล่าว ทาง กฟผ.ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว

เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบสายส่งดังกล่าว กฟผ.จึงได้กำหนดให้โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในรายงาน IEE โดยทาง กฟผ.ได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 14 ล้านบาท ให้แก่ทางคณะเทคโนโลยีฯ ม.อ.ภูเก็ต เข้าไปศึกษาวิจัยและฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล รวมถึงส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาอ่าวพารา-อ่าวพังงา อย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินการใน 9 กิจกรรม ด้วยกัน คือ 1.โครงการวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าทะเลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรหญ้าทะเล อ่าวพารา จ.ภูเก็ต 2.โครงการส่งเสริมอาชีพชุมชนประมงชายฝั่งสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การแปรรูปปลาช่อนทะเล ที่บ้านแหลมทราย ในปีแรก เป็นต้น 3.ศึกษาปริมาณและปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดขยะทะเลในชุมชนชายฝั่ง เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล โลมา ที่อาจจะกินขยะเหล่านี้เข้าไปจนทำให้ตายในที่สุด 4.โครงการวิจัยและฟื้นฟูป่าชายเลน โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือดาวเทียมมาสำรวจป่าชายเลน หากพบว่าจุดใดถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพจะเข้าไปดำเนินการในการปลูกทดแทน

5.การบริหารจัดการและฟื้นฟูแนวปะการัง โดยเฉพาะที่บริเวณอ่าวกุ้ง ที่มีแนวปะการังเขากวางที่ยังสมบูรณ์ สีเหลืองอร่าม ที่ขณะนี้ ทางกรม ทช.ได้มีการวางทุ่นไว้แล้ว อาจจะมีวางทุนเพิ่มเติมหรือแนวทางอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อไม่ได้แนวปะการังได้รับความเสียหาย 6.ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์บ้านปลา ซึ่งจะเข้าไปต่อยอดในส่วนของบ้านปลา หรือซั้งกอ ที่ประมงพื้นบ้านได้นำไม้ไผ่ไปวางเพื่อสร้างเป็นบ้าน หรือ สร้างบ้านปลาเพิ่มในจุดที่เหมาะสมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ

7.ธนาคารปู ที่ขณะนี้มีการดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่ และจะดำเนินการต่ออีกหลายๆพื้นที่ เช่น บ้านแหลมทราย บ้านอ่าวกุ้ง เกาะนาคา รวมไปถึงการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อลดค่าไฟฟ้าที่ใช้ในธนาคารปู เป็นต้น 8.การศึกษาคุณภาพน้ำและแพลงตอนและสัตว์น้ำวัยอ่อน และ 9.การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ โดยการจัดทำโรงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน การสับเปลี่ยนเครื่องมือประมง การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ