เจ้าของโครงการ “เดอะ พีค เรสซิเดนซ์” แถลงข่าวตอบทุกสงสัย พร้อมประกาศยอมถอย ชะลอการก่อสร้างจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะชี้ขาด

โพสเมื่อ : Wednesday, August 21st, 2019 : 9.43 pm

เจ้าของโครงการ “เดอะ พีค เรสซิเดนซ์” แถลงข่าวตอบทุกสงสัย พร้อมประกาศยอมถอย ชะลอการก่อสร้างจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะชี้ขาด นส.3 ก.ยอมแบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เตรียมแผนรองรับดูแลลูกค้าหากที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขู่มีสิทธิร่วมกับลูกค้าฟ้องทุกหน่วยงานที่ทำให้โครงการได้รับความเสียหาย

กรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพฯ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดิน และการก่อสร้างโครงการ เดอะ พีค เรสซิเดนซ์ ของ บริษัท กะตะ บีช จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเนินเขาหาดกะตะ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่าถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ระหว่างวันที่ 18-19 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จนได้ข้อสรุปตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน และได้มีการประชุมนัดแรกเมื่อวานนี้ (20 ส.ค.)

ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบเอกสารต่างๆ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนเอกสารสิทธิที่ดิน นส.3 ก.เลขที่ 1863 เนื้อที่ 17 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการนั้น ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (21 ส.ค.) นายมนัสนันท์ นรารัตน์วันชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กะตะ บีช จำกัด เจ้าของโครงการ เดอะ พีค เรสซิดเดนซ์ ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน โครงการนี้ซื้อที่ดินมาดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และรับทราบมาโดยตลอดว่าที่ดินอยู่ในชั้นศาลและศาลปกครองชั้นต้นได้สั่งเพิกถอน แต่ที่ทำให้โครงการสามารถเดินมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะโครงการได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 70 ที่ให้รอคดีจนถึงที่สุด ในส่วนของเอกสารสิทธิ นส.3 ก ที่ดินแปลงนี้ บริษัท กะตะบีช จำกัด ซื้อมาจากเจ้าของที่ดิน ที่เป็นนักธุรกิจ และเป็นอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ที่ถูกเอ่ยชื่ออยู่บ่อยๆ และขอยืนยันว่า ทั้งสองคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับโครงการ เดอะ พีคฯ ทั้งสองคนเป็นเพียงผู้ขายที่ดินให้กับ บริษัท กะตะ บีช มาพัฒนาโครงการเดอะ พีค เรสซิเดนซ์ เท่านั้น ฉะนั้นจึงขอยืนยันว่าโครงการเดอะ พีคฯ เป็นของบริษัท กะตะ บีช และมีตนเป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ขายที่ดินทั้งสองที่ถูกกล่าวอ้างอยู่ตลอดในการตรวจสอบ นส.3 ก ที่ดินแปลงนี้

ส่วนเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมภูเก็ตและประเทศไทย จากการลงมาตรวจสอบโครงการนั้น นายมนัสนันท์ กล่าวว่า จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นได้ส่งผลเสียต่อจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย ทางโครงการไม่ต้องการให้ความขัดแย้งในลักษณะนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทางโครงการจึงได้ตัดสินใจและขอประกาศว่าจะชะลอการก่อสร้างโครงการออกไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาคดีให้สิ้นสุด แม้ว่าการชะลอการก่อสร้างจะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับโครงการที่ไม่สามารถส่งมอบอาคารให้กับลูกค้าได้ทันตามเวลาที่ได้ทำสัญญาไว้กับลูกค้าที่จองไปแล้วเกือบหมดทั้งโครงการแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทนั้น เทียบไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทางจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย บริษัทจึงยอมถอยออกมาหนึ่งก้าว และอยากให้ผู้ที่ห่วงใยโครงการนี้ ได้ถอยออกมาหนึ่งก้าวเช่นกัน เพื่อทบทวนบทบาทของตัวเอง

สำหรับการชะลอการก่อสร้างนั้น ทางโครงการจะชะลอในส่วนของอาคาร จำนวน 18 อาคาร ที่ขณะนี้ยังไม่ได้ก่อสร้างในส่วนของตัวอาคาร แต่ได้ก่อสร้างในส่วนของฐานรากไปแล้ว จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา หลังจากนั้นจึงจะทำอาคารทั้ง 18 อาคารนี้มาดำเนินการต่อ แต่ส่วนที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การก่อสร้างในส่วนของกำแพงดินและบ่อหน่วงน้ำด้านล่าง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ด้านล่างของโครงการ รวมไปถึงถนนภายในโครงการที่ได้มีการเปิดหน้าดินไว้แล้ว เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงในส่วนของอาคารที่ก่อสร้างเป็นอาคารแล้วเสร็จ ที่ขณะนี้กำลังก่อสร้างเพิ่มเติมในส่วนของงานระบบภายใน ซึ่งบริษัทได้สั่งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาแล้ว ทั้งนี้เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงการ โดยจะก่อสร้างเพิ่มเติมเฉพาะอุปกรณ์ที่สั่งซื้อมาแล้วเท่านั้น จะไม่ก่อสร้างจนเสร็จทั้งหมด

นายมนัสนันท์ กล่าวต่อว่า การออกมาประกาศชะลอการก่อสร้างจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเอกสารสิทธิที่ดิน นส.3 ก.นั้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงการอย่างมาก เพราะไม่สามารถกำหนดไว้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาเสร็จเมื่อไหร่ แต่บริษัทได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนแล้วว่าจะถอยออกมาหนึ่งก้าว และยินดีที่จะยอมรับผลกระทบและยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องถอยนานแค่ไหน เพียงเพื่อหวังว่าสังคมไทยจะยอมถอยกันคนละก้าวเพื่อมาทบทวนบทบาทของตัวเองว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ส่วนกรณีที่บริษัทถูกกล่าวหาว่าทุนจดทะเบียนบริษัทเพียง 1 ล้านบาทแต่ทำโครงการมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทนั้น นายมนัสนันท์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันมาโดยตลอด อยากจะชี้แจงว่า บริษัทซื้อที่ดิน 445 ล้านบาท ตอนนี้จ่ายค่าที่ดินไปแล้ว 150 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและระหว่างพัฒนานั้นได้ยื่นขอสินเชื่อกับทางสถาบันการเงิน ซึ่งยังไม่ทราบว่าสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อให้เท่าใด แต่เมื่อรู้วงเงินสินเชื่อแล้วก็จะต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนให้เหมาะสมกับสินเชื่อที่ได้รับ แต่วันนี้เรายังไม่ทราบว่าสินเชื่อที่จะได้รับนั้นเท่าไหร่ จึงยังไม่ได้เพิ่มทุนจดทะเบียน บริษัทไม่ได้มีเจตนาที่จะหลอกลวงลูกค้า พยายามที่จะก่อสร้างให้ลูกค้าเห็น แต่ก็มีคนสั่งให้หยุดอยู่ตลอดเช่นกัน เพราะหากเรามีเจตนาที่จะโกงก็สร้างแค่ห้องตัวอย่างก็พอแล้ว โครงการนี้บริษัทขออนุญาตก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียม หรือ อาคารชุดพักอาศัยรวม และบางส่วนขออนุญาตเป็นอาคารที่พักอาศัยรวมเพื่อการพาณิชย์ประกอบธุรกิจโรงแรม และอีกส่วนขอเป็นอาคารชุด โดยใช้ นส.3 ก.ขออนุญาตก่อสร้างโดยขณะนี้ได้ยืนขอออกโฉนดไว้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตไว้แล้ว และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะต้องไปจดทะเบียนเป็นคอนโดฯกับสำนักงานที่ดินภูเก็ต เพื่อเตรียมความพร้อมในการโอนเป็นคอนโดฯให้ลูกค้าที่ซื้อ ส่วนการวางแผนรองรับ หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอน นส.3 ก.ดังกล่าว นายมนัสนันท์ กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมแผนในการรองรับไว้แล้ว โดยแบ่งลูกค้าออกเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มลูกค้าที่ซื้อแบบได้กรรมสิทธิในคอนโด และกลุ่มซื้อแบบเช่าระยะยาว หากไม่สามารถออกโฉนดได้ กลุ่มลูกค้าที่ซื้อแบบเช่าระยะยาวก็จะไม่มีปัญหา เหลือแต่กลุ่มที่ซื้อเพื่อให้ได้กรรมสิทธิฯ นั้น ทางบริษัทได้เตรียมทางเลือกไว้หลายๆ ทางเลือก คือ มีการต่อรองเพื่อลดราคาให้ และให้ใช้อาคารได้ตามปกติเพียงแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอาคารนั้น ซึ่งได้มีการพูดคุยกับลูกค้าแล้วผ่านทางเอเย่นต์ทั้งหมดที่จะสื่อสารถึงลูกค้า ซึ่งลูกค้าที่ซื้ออาคารรับทราบเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินมาโดยตลอดตั้งแต่การแถลงข่าวครั้งแรกว่าเอกสารสิทธิที่ดินถูกศาลปกครองสั่งเพิกถอน จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีลูกค้ารายใดขอเงินคืน และยังขอให้โครงการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ เพื่อส่งมอบให้ลูกค้า “บริษัทยืนยันว่ายังมีสิทธิในที่ดิน ตามกฎหมายปกครอง มาตรา 70 ที่คุ้มครองโครงการจนกว่าคำพิพากษาจะถึงที่สุด แต่เมื่อถึงวันหนึ่งศาลมีคำสั่งให้เพิกถอน ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับบริษัทและลูกค้าที่จองโครงการและจ่ายเงินไปแล้ว เมื่อถึงวันนั้น บริษัทจะร่วมกับลูกค้า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการออกเอกสารสิทธิ นส.3 ก.ฉบับนี้ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับคนที่ขายที่ดินและหน่วยงานของรัฐที่ทำให้เกิดความเสียหาย”นาย มนันสนันท์ กล่าวและว่า ที่ดินแปลงนี้ไม่ได้เป็นที่หวงห้าม ไม่ได้เป็นที่ป่าไม้ แต่เป็นที่ดินของเอกชน และก่อนที่ทำโครงการได้มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และในส่วนของความลาดชันนั้นยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าไม่เกิน 35% ตามที่ระบุในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม นายมนัสนันท์ กล่าวในตอนท้ายว่า บริษัทจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะเดินหน้าโครงการอย่างไร หลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้ว หากศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลชั้นต้น บริษัทจะไม่สามารถก่อสร้างโครงการและใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงนี้ได้อีก ต้องหยุดการก่อสร้างทั้งหมด เพราะมาตรา 70 ไม่คุ้มครองที่ดินแปลงนี้แล้ว แต่สิทธิของบริษัทยังมีอยู่เหมือนเดิม เพราะบริษัทกะตะบีชไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการฟ้องร้องเรื่อง นส.3 ก.แต่อย่างใด และหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและมีพยานหลักฐานไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของศาล บริษัทมีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองได้อีกครั้งหนึ่ง