อดใจรอ ! รถไฟฟ้า “สนามบินภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง”  ตามแผนปี 71 ให้บริการได้

โพสเมื่อ : Friday, November 12th, 2021 : 2.32 pm

อดใจรอ! รฟม. เดินหน้า โครงการรถไฟฟ้า ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง จัดรับฟังความคิดเห็น (เพิ่มเติม) เสนอทางเลือกรถไฟฟ้า ที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ ก่อนนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตามแผนปี 71 เปิดให้บริการได้

เวลา 09.00 น. วันนี้ (12 พ.ย.) ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น (เพิ่มเติม) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง (รถไฟฟ้า) ขึ้น โดยมีนายปิยพงษ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วม

โดยนายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม. ในฐานะผู้ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้า) ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ ข้อมูลโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากประชาชน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และ ตัวแทนภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการฯ มีความครบถ้วนตาม มติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งได้มอบหมายให้ รฟม. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมของโครงการฯ รวมทั้งเป็นไปตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบหมายให้ รฟม. และ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการ การดำเนินงานและแผนงานโครงการด้านคมนาคมในจังหวัดภูเก็ตร่วมกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการจราจรที่อาจส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตในระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ

โดยการประชุมในครั้งนี้ ทาง รฟม. ได้นำเสนอข้อมูลทางเลือกระบบรถไฟฟ้า ที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ ประกอบด้วย 2 ระบบหลัก คือ 1.ระบบขับเคลื่อนด้วยล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าล้อเหล็กวิ่งบนรางคู่ที่ติดตั้งบนผิวจราจรใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน โดยมีการติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือศีรษะ รวมทั้งติดตั้งแบตเตอร์รี่บนรถเพื่อใช้ในการเดินรถบางช่วงของเส้นทาง

และ 2 ระบบขับเคลื่อนด้วยล้อยาง (Rubber-Tyred Tram) ซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่ 1.Guided Tram ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าล้อยางพร้อมล้อนำทาง สำหรับวิ่งบนรางเดี่ยวที่ติดตั้งบนผิวจราจรใช้พลังไฟฟ้าในการขับเคลื่อนโดยมีการติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือศีรษะ รวมทั้งติดตั้งแบตเตอร์รี่บนรถเพื่อใช้ในการเดินรถบางช่วงของเส้นทาง และ 2.ART เป็นรถไฟฟ้าล้อยางวิ่งบนผิวจราจรและมีรางเสมือน พร้อมระบบอัตโนมัติในการควบคุมการเดินรถให้วิ่งไปตามแล้วทางวิ่งที่กำหนด ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่ขับเคลื่อน พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Quick Charge ที่สถานี

นายสาโรจน์ ยังกล่าวต่อไปว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ยังได้ นำเสนอผลการเปรียบเทียบแผนการดำเนินโครงการฯ และแผนการบูรณาการร่วมกับโครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่มีแผนจะเปิดใช้ทางคู่ขนาน (Service Road) ในระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ ในปี 2569 ซึ่งการบูรณาการร่วมกันดังกล่าว จะสามารถบรรเทาและลดผลกระทบการจราจรระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้ชาวจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อทางเลือกการดำเนินโครงการฯ ซึ่ง รฟม. จะนำข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการต่อไป

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต นั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วง ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง มีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และ สถานีใต้ดิน 1 สถานี แล ะระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น – เมืองใหม่ มีระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร ซึ่ง รฟม. จะเริ่มดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน พร้อมรองรับการเดินทางและการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ขึ้นอยู่กับรูปแบบของเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบจะแตกต่างกันไป โดยในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอเพิ่มเติมในส่วนของรูปแบบรถไฟฟ้าชนิดรางเสมือน ไม่ต้องมีการสร้างราง วิ่งได้บนเส้นทางจราจรที่มีอยู่ ทำให้สามารถลดต้นทุนลงไปได้จำนวนมาก ซึ่งจากเดิมใช้งบประมาณในการดำเนินการ ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท ก็จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมาดูในรายละเอียดอีกครั้ง

ส่วนไทม์ไลน์ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย พ.ย. 64  หาข้อสรุปเพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินโครงการ ธ.ค.64 –เม.ย.66 จัดจ้างที่ปรึกษาและเริ่มศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ปรับปรุงแปบโครงการ และ รายงาน PPP  พ.ค.66- พ.ค. 67 นำเสนอโครงการตามพ.ร.บ. การร่วมลงทุน พ.ศ. 2562  มิ.ย. 67 – ธ.ค. 68 คัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ ม.ค. 69 – พ.ค. 71 เริ่มงานก่อสร้างโยธา ผลิตและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และงานเดินรถ และ มิ.ย. 71 เปิดให้บริการ

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนภูเก็ต โดยนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สิ่งที่คนภูเก็ตอยากเห็นคือการเกิดขึ้นของโครงการอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน ที่ผ่านมีการศึกษากันมาแล้ว คิดว่าสามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ควรที่จะปล่อยให้ช้าไป ควรที่จะดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด